posttoday

นาซาคาดควันไฟป่าออสเตรเลียลอยวนรอบโลก

14 มกราคม 2563

"ควันไฟป่าจากออสเตรเลียจะวนรอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ท้องฟ้าออสเตรเลียอีกครั้ง"

"ควันไฟป่าจากออสเตรเลียจะวนรอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ท้องฟ้าออสเตรเลียอีกครั้ง"

สำนักบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา ได้คาดการณ์ว่า กลุ่มควันที่เกิดจากวิกฤตไฟป่าในออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิคตอเรียนั้น จะส่งผลกระทบลอยไกลไปรอบโลก ก่อนที่จะวนกลับมายังออสเตรเลียอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้นาซาได้เผยผลจากแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มควันจากไฟป่าในออสเตรเลียได้ลอยไปทางประเทศนิวซีแลนด์ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก และพัดผ่านยังประเทศในแถบอเมริกาใต้

นาซาคาดควันไฟป่าออสเตรเลียลอยวนรอบโลก

 

นาซาเผยว่า ขณะนี้กำลังติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มควัน โดยพบว่ากลุ่มควันซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นสูง ได้ลอยสู่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกถึง 15 กิโลเมตร และได้เดินทางไปเป็นระยะเกินครึ่งทางของโลกแล้ว โดยได้ส่งผลกระทบอย่างฉับพลันต่อนิวซีแลนด์ ส่งผลให้คุณภาพอากาศอากาศย่ำแย่ในหลายพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งทำให้หิมะบริเวณยอดเขาในนิวซีแลนด์เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ รวมถึงบางส่วนของประเทศอาร์เจนติน่า และชิลี ส่งผลให้มีท้องฟ้าขมุกขมัว

นาซาคาดว่า จากวิถีปัจจุบันกลุ่มควันกำลังจะลอยผ่านยังมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านไปยังบริเวณแอฟริกาตอนใต้ ก่อนจะข้ามมหาสมุทรอินเดีย ก่อนจะวกกลับเข้าสู่ท้องฟ้าของออสเตรเลียอีกครั้ง ซึ่งครบวงกระแสลมพัดรอบโลก 1 รอบ

 

นาซาคาดควันไฟป่าออสเตรเลียลอยวนรอบโลก

นั้นหมายความว่าภายในรอบสัปดาห์นี้ นครเพิร์ท ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ กำลังจะได้รับผลกระทบจากกลุ่มควันไฟป่าอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นทางตะวันออกของออสเตรเลีย

นอกจากนี้ นาซายังระบุอีกว่า อุณหภูมิที่สูงจากไฟป่า ประกอบกับความแห้งแล้งจัดในออสเตรเลีย อาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่ไม่มีฝนตกมากผิดธรรมดาอันเป็นต้นเหตุของไฟป่า "พายุนี้เกิดขึ้นจากลมที่พัดพาเถ้าถ่าน ควันไฟ และสิ่งไหม้ไฟขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ และเมื่อพวกมันเย็นลงก็จะก่อตัวเหมือนเมฆฝนฟ้าคะนองทั่วไป แต่ไม่มีฝนตกลงมา"

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียได้ออกคำเตือนต่อสุขภาพของประชาชนในเมืองใหญ่ทั้งนครซิดนีย์ และนครเมลเบิร์น เนื่องจากพบว่ามีค่าดัชนีคุณภาพอากาศของทั้งสองเมืองในช่วงสองวันที่ผ่านมา อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ท้องฟ้าในนครเมลเบิร์น ปกคลุมด้วยหมอกควันจนแทบไม่เห็นยอดตึกของเมือง