posttoday

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับถุงพลาสติก

02 มกราคม 2563

การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในบ้านเราเข้าสู่วันที่ 2 แล้ว ซึ่งคนไทยตื่นตัวให้ความสนใจด้วยการเตรียมถุงผ้ามาจับจ่ายใช้สอยกันด้วยความเต็มใจ

การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในบ้านเราเข้าสู่วันที่ 2 แล้ว ซึ่งคนไทยตื่นตัวให้ความสนใจด้วยการเตรียมถุงผ้ามาจับจ่ายใช้สอยกันด้วยความเต็มใจ

โพสต์ทูเดย์รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการลดการใช้ถุงพลาสติกที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

1.ถุงพลาสติกเคยได้ชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีการใช้สอยมากที่สุดในโลก แต่มาวันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ชาวโลกแบนมากที่สุด หากนับจนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2019 ประเทศต่างๆ 72 ประเทศห้ามใช้ถุงพลาสติก อาทิ ออสเตรีย เบลเยียม จีน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศไทย ขณะที่อีก 35 ประเทศมีการคิดเงินค่าถุงพลาสติก นอกจากนี้ ยังมีบางเมืองหรือบางรัฐห้ามใช้หรือคิดเงินเพิ่ม

2.ช่วงไม่กี่ปีมานี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับผลกระทบของขยะพลาสติกกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มก่อการร้าย เมื่อปี 2018 กลุ่มอัลชาบับ ซึ่งมีฐานที่มั่นในโซมาเลียและเป็นสมุนของกลุ่มอัลกออิดะห์ ได้ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในพื้นที่ที่ทางกลุ่มยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นอันตรายกับชีวิตมนุษย์และสัตว์

3.บังกลาเทศเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในปี 2002 หลังพบขยะถุงพลาสติกจำนวนมากอุดตันท่อระบายน้ำในช่วงน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ

4.ประเทศเคนยามีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกรุนแรงที่สุดในโลก คือผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมทั้งผู้ใช้อาจถูกปรับสูงถึง 38,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,146,042 บาท หรือจำคุก 4 ปี

5.ในประเทศเดนมาร์กซึ่งบังคับใช้กฎหมายคิดค่าถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 1993 หรือ 27 ปีที่แล้ว ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 4 ใบต่อปี

6.ผลการศึกษาของ American Economis Journal: Economic Policy เมื่อปี 2018 พบว่า การเก็บเงินค่าถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 5 เซ็นต์ต่อใบ หรือราว 1.50 บาท ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 40% และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อปีที่แล้วพบว่า การเก็บภาษีถุงพลาสติก ทำให้การใช้ถุงพลาสติกในเดนมาร์กลดลง 66%, กว่า 90% ในไอร์แลนด์, 74-90% ในแอฟริกาใต้ เบลเยียม ฮ่องกง วอชิงตันดีซีสหราชอาณาจักร และโปรตุเกส และ 50% ในจีนและบอตสวานา

7.พลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลายระหว่าง 10-100 ปี ทว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งกังวลว่าถุงพลาสติกเหล่านี้อาจไม่ได้ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ เพียงแค่ค่อยๆ แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อถูกแสงแดด โดยถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งส่วนใหญ่ผลิตจากพอลิเอทิลีนซึ่งจุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สุดท้ายพลาสติกชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ก็จะเข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์ทะเลและในทุกๆ ชั้นของห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งมนุษย์