posttoday

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 เมื่อยุโรปตกต่ำ จีนผงาด และสหรัฐยอมไม่ได้

23 ธันวาคม 2562

บทสรุปของทศวรรษที่ผันผวนจากการล่มสลายของยุโรปจนถึงการผงาดของพญามังกร และสงครามการค้า

ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 2000 สัญญาณความสั่นคลอนของทุนนิยมตะวันตกก็เกิดขึ้น

เมื่อเกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐ วิกฤตนี้เกิดจากการที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืมที่ไม่น่าจะชำระหนี้ได้ แต่ก็ยังปล่อยให้กู้ยืมเงินไปซื้อสินเชื่อ จนทำให้สถาบันการเงินสหรัฐล่มสลายไปตามๆ กันในปี 2007 - 2008

แต่รัฐบาลสหรัฐกระโดดเข้ามาอุ้มภาคการเงินเอาไว้โดยอ้างว่า "ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม" (Too big to fail) แม้จะต้องใช้ภาษีประชาชนมหาศาล เพื่อตามล้างตามเช็ดความไม่รอบคอบของสถาบันการเงิน

แต่วิกฤตซับไพรม์ลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินโลก ส่งผลสะเทือนไปถึงยุโรปและกลายเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มต้นขึ้นในต้นปี 2010 (พ.ศ. 2553) เมื่อรัฐบาลกรีซยอมรับว่ามีปัญหาในการให้บริการหนี้สาธารณะขนาดใหญ่ จนต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นระยะ

ถึงกลางปี 2011 วิกฤตลามไปถึงโปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส และเกือบที่จะฉุดอิตาลีให้จมดิ่งไปด้วยเมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เช่น อัตราว่างงานของกรีซและสเปนที่สูงถึง 27%, ส่งผลให้สภาพยุโรปต้องแบกรับภาระให้การอุ้มภาระหนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้รวมเป็นเงิน 2 ล้านล้านยูโร

วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปทำให้เกิดคำถามถึงความมั่นคงของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การใช้เงินสกุลเดียวกัน การควบคุมนโยบายการคลังร่วมกัน รวมถึงความฝันที่จะเห็นโลกมีตลาดร่วมที่ไร้พรมแดน ที่สำคัญก็คือ วิกฤตนี้ได้บั่นทอนอิทธิพลและความเชื่อมั่นในตนเองของยุโรปลงไปมาก ยังไม่นับการถอนตัวจากสหภาพยูโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ที่เริ่มในช่วงกลางทศวรรษแต่จนถึงสิ้นทศวรรษนี้กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่เห็นทางออก

ยุโรปเริ่มที่จะทนกับเสียงร้องขอความช่วยเหลือของกรีซไม่ไหว จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกรีซทีติดหนี้จนเกือบจะฉุดยูโรปให้พังตามไปด้วย กับเยอรมนีในฐานะสมาชิกที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่สุดในยุโรปและแสดงอาการว่าไม่อยากจะอุ้มกรีซอีกต่อไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเยอรมนีในกรีซและอิตาลี

ขณะที่ยุโรปกำลังทะเลาะกัน กรีซก็ได้ผู้กอบกู้คนใหม่จากแดนไกล นั่นคือจีน

ในปี 2010 นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีน เสนอตัวที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซโดยบอกว่า "จีนจะพยายามอย่างมากที่จะพยุงประเทศยูโรโซนและกรีซในอันที่จะฟันฝ่าวิกฤตนี้"

หลังจากนั้นกรีซกับจีนก็สนิทสนมกันอย่างมาก จนถึงปี 2019 ทั้ง 2 ประเทศก็ยังรักกันปานจะกลืนกินเพราะต่างก็รับประโยชน์ร่วมกัน โดยกรีซมีจีนช่วยในฐานะกระเป๋าเงินโดยไม่ต้องง้อสหภาพยุโรป (โดยเฉพาะเยอรมนี) ส่วนจีนก็ได้ท่าเรือของกรีซเป็นฐานที่มั่นทางโลจิสติกส์ในยุโรป

การเข้ามาช่วยเหลือกรีซของจีน ถือเป็นหมายหลักสำคัญที่บอกว่าในทศวรรษที่ 2010s จีนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอที่จะช่วยประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่จีนยังอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา

ปี 2010 ปีเดียวกับที่จีนเสนอช่วยยุโรป จีนยังกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าญี่ปุ่น หลังจากนั้นเศรษฐกิจจีนก็เติบโตอย่างมั่นคง จนกระทั่งเริ่มชะลอตัวในปลายทศวรรษ แต่ภาคธุรกิจของจีนสยายปีกจากแดนมังกรไปปักหมุดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในยุคนี้ เราจึงเริ่มคุ้นชื่อของมหาเศรษฐีชาวจีนคนแล้วคนเล่า โดยเฉพาะแจ็ค หม่า และบริษัทอาลีบาบาของเขา

ทศวรรษนี้จีนเปลี่ยนผู้นำอีกครั้ง ผู้ที่ขึ้นมากุมบังเหียนคือ สีจิ้นผิงซึ่งมีผลงานแรกคือปฏิบัติการกวาดล้างการคอร์รัปชั่นและจัดระเบียบการเมืองครั้งใหญ่ หลังจากนั้นสีจิ้นผิงเริ่มจัดระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการชูอุดมการณ์ "ความฝันจีน" (จงกั๋วเมิ่ง) เพื่อสร้างค่านิยมแบบจีน การกระตุ้นให้คนจีนสร้างชาติให้แข็งแกร่งเพื่อฟื้นฟูจีนให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ นิยามที่สั้นที่สุดของความฝันจีน คือ "สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน"

จีนยังกลายเป็นแถวหน้าของสังคมไร้เงินสด (cashless society) และเงินดิจิทัล ซึ่งกลายเป็นปรากฎการณ์สำคัญของยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2018 - 2019 กับการทำราคาขึ้นมาอย่างมหาศาลของบิตคอยน์และเงินคริปโตเคอร์เรนซี่สกุลต่างๆ แม้แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหญ่ๆ ยังคิดที่จะออกเงินดิจิทัลของตัวเอง เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป

ในขณะที่จีนกำลังรวยเอาๆ สหรัฐเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ในบางช่วงถึงกับตกอยู่ในภาวะถดถอย ศักยภาพด้านการแข่งขันของสหรัฐย่ำแย่ลง โดยถูกสิงคโปร์แซงหน้าเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ดีที่สุด และยังถูกฮ่องกงแซงไปอีกด้วย พร้อมๆ กับกระแสคาดการณ์ว่า จีนอาจจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจในเวลาไม่นานเกินรอ

แต่จีนกลับอ่อนแรงลง จีนพยายามประคองไม่ให้เศรษฐกิจอ่อนแรงเร็วเกินไปจนเกิดแรงกระแทกหนักหน่วงหากเกิดภาวะทรุดตัวฉับพลัน ในระยะปลายของทศวรรษนี้ เศรษฐกิจจีนจึงโตช้าลง สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อสหรัฐพยายามที่จะทวงคืนตำแหน่งเบอร์หนึ่ง และเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ผู้มีแคมเปญการหาเสียงที่ชัดเจนว่า "ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง" (Make America Great Again) และนโยบาย "อเมริกามาก่อน" (America First')

แผนการอันยิ่งใหญ่ของทรัมป์เริ่มต้นด้วยการประกาศสร้างงงาน ฟื้นฟูอุตสาหกรรมของประเทศ เริ่มต้นด้วยการขับไล่และควบคุมแรงงานผู้อพยพ จากนั้นลามไปถึงผู้อพยพโดยทั่วไป จากนั้นเมื่อทรัมป์ปักหมุดเศรษฐกิจในบ้านได้มันคงแล้ว จึงเปิดสงครามการค้ากับจีน ซึ่งเขาบอกว่าเป็นตัวการทำลายอุตสาหกรรมของสหรัฐ เป็นผู้ทำการค้าอย่างไม่แฟร์ และยังละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ

ทั้ง 2 ประเทศตอบโต้กันไปมาด้วยการแย่งกันขึ้นภาษีสินค้าของกันและกัน แต่เพราะทั้งคู่เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ดังนั้นผลกระทบของสงครามการค้าจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะทั้งคู่ แต่ได้ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและนำเข้าและต้องพึ่งอุปสงค์-อุปทานของสหรัฐและจีนต้องเจ็บกันระนาว รวมถึงไทยด้วย

ผลของสงครามการค้า ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แต่เรายังไม่อาจสรุปได้ว่านี่เป็นผลดีระยะสั้นหรือระยะยาวต่อสหรัฐ อีกทั้งทศวรรษที่ 2010s ได้สิ้นสุดลงไปก่อน

ในทศวรรษหน้าเราจึงต้องจับตากันต่อไปว่า ศึกยักษ์ชนยักษ์จะจบลงดีๆ หรือไม่ก็จะกลายเป็นศึกยืดเยื้อที่เรียกกันว่า "สงครามเย็นครั้งใหม่"

Photo by JIM WATSON / AFP