posttoday

ข่าวลือรีดเงินผ้าอนามัย สะท้อนความกลัวรัฐขึ้นภาษีของประชาชน

17 ธันวาคม 2562

40% ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปีผู้หญิงในประเทศยากจนต้องใช้สิ่งของอื่นแทนผ้าอนามัยที่มีราคาแพง หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยกลับมีผู้หญิงอายุ 14-21 ปี ถึง 1 ใน 10 คนที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัย

40% ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปีผู้หญิงในประเทศยากจนต้องใช้สิ่งของอื่นแทนผ้าอนามัยที่มีราคาแพง หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยกลับมีผู้หญิงอายุ 14-21 ปี ถึง 1 ใน 10 คนที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัย

จากการให้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีผ้าอนามัยจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงดุเดือดและติดเทรนด์ในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว แม้ทางกรมสรรพสามิตจะชี้แจงว่าไม่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตผ้าอนามัย เก็บเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับสินค้าอื่นแล้วก็ตาม

โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงแต่ละคนจะมีประจำเดือนราว 2,535 วัน หรือเกือบ 7 ปีตลอดช่วงชีวิต แต่ละวันต้องใช้ผ้าอนามัยราว 3-4 ชิ้น เท่ากับว่าผู้หญิง 1 คนต้องใช้ผ้าอนามัยราว 7,605-10,140 ชิ้น และหากราคาผ้าอนามัยเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 5 บาทเท่ากับว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยสูงถึง 38,025-50,700 บาท

นี่ยังไม่นับรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ยาแก้ปวดท้องประจำเดือน การลางานหรือหยุดโรงเรียน

สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยต่อเดือนในราคาหลักร้อยบาทต้นๆ ไม่ได้เป็นภาระ แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะสูงเกินไป จนผ้าอนามัยกลายเป็นของใช้ที่อยู่เกินเอื้อมอย่างที่เคยเป็นประเด็นในโลกโซเชียลในบ้านเราเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าผ้าอนามัยแพงจนต้องยอมอดข้าว

ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในบ้านเรา สำนักข่าวบีบีซี เผยผลสำรวจขององค์กรการกุศลด้านสิทธิมนุษยชน Plan International เมื่อปี 2018 ว่า 40% ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปีผู้หญิงในประเทศยากจนต้องใช้สิ่งของอื่นแทนผ้าอนามัยที่มีราคาแพง โดยกระดาษทิชชูถือเป็นสิ่งของทดแทนอันดับ 1 ตามด้วยถุงเท้า เศษผ้าเก่า หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยกลับมีผู้หญิงอายุ 14-21 ปี  1 ใน 10 คนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัย

หากรัฐบาลยังเดินหน้าเก็บภาษี ราคาผ้าอนามัยอาจสูงเกินไปสำหรับผู้หญิงบางกลุ่ม การไม่ได้เข้าถึงผ้าอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดีทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ขาดโอกาสสำคัญในชีวิต อาทิ นักเรียนบางคนต้องหยุดโรงเรียน ทั้งๆ ที่ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในชีวิตของผู้หญิง ในหลายประเทศมีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นภาษีผ้าอนามัย ขณะที่บางประเทศ อาทิ สกอตแลนด์ รัฐบาลได้ตั้งจุดแจกผ้าอนามัยฟรีตามโรงเรียนต่างๆ เพราะเห็นว่าการมีประจำเดือนเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มองว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการมีประจำเดือนเป็นภาระ นานนา โจเซฟีน โรลอฟฟ์ นักเคลื่อนไหวชาวเยอรมัน มองว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการมีประจำเดือน และผ้าอนามัยก็ไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย การเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิง

ส่วนความเห็นจากอีกฝั่งหนึ่งมองว่าการลดภาษีจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากเงินภาษีในส่วนนี้ เมื่อปี 2016 รัฐแคลิฟอร์เนียไฟเขียวให้ยกเว้นภาษีผ้าอนามัยฉลุย แต่ในเวลาต่อมากลับถูก เจอร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าการรัฐ ใช้สิทธิ์ระงับข้อยกเว้นนี้ โดยให้เหตุผลว่า “การลดภาษีก็ไม่ต่างกับรายจ่ายใหม่ของทางการ”

แต่ไม่ว่ารัฐจะเก็บหรือยกเว้นภาษีผ้าอนามัย สิ่งที่คนไทยทุกคนกังวลอยู่ลึกๆ ก็คือการที่รัฐประกาศว่าจะเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีที่คนไทยจ่ายให้รัฐบาลเป็นประจำ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะงักงันเช่นเวลานี้แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังกังวลว่าเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไปจะถูกนำไปใช้โดยไม่มีประสิทธิภาพ  

จากดัชนีภาพลักษณ์คอ์รัปชันของไทยประจำปี 2018 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 99 โดยคะแนนลดลงจากปีก่อนหน้า 1 คะแนน เหลือ 36 คะแนน หมายความว่าการคอร์รัปชันของไทยยังสูง ประชาชนจึงอาจกังวลใจว่าภาษีที่จ่ายไปไม่ต่างอะไรกับการส่งเงินให้คนที่บริหารเงินไม่เป็น หรือส่งให้ "คนโกง" เลยด้วยซ้ำ

ประเด็นเรื่องรัฐบาลจะขึ้นภาษีจึงบเป็นที่ถกเถียงอย่างดุเดือดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม และไม่ว่าจะเป็นภาษีอะไรก็ตาม