posttoday

CEO Huawei : "การแบนหัวเว่ยจะทำร้ายบริษัทอเมริกันเสียเอง"

14 ธันวาคม 2562

เหริน เจิ้งเฟย เปิดใจ การแบนหัวเว่ยจะส่งผลกระทบต่อบริษัทสหรัฐเอง โดยหัวเว่ยไม่ใช้ชิปจากสหรัฐในผลิตภัณฑ์แล้ว

เหริน เจิ้งเฟย เปิดใจ การแบนหัวเว่ยจะส่งผลกระทบต่อบริษัทสหรัฐเอง โดยหัวเว่ยไม่ใช้ชิปจากสหรัฐในผลิตภัณฑ์แล้ว

วอชิงตันโพสต์รายงานว่า เหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอHuawei ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจี ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจถึงผลกระทบจากนโยบายแบนหัวเว่ยของทางการสหรัฐ โดยซึอีโอวัย 75 ปี ระบุว่า หัวเว่ยจะอยู่รอดแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแบนของสหรัฐ และว่าบริษัทสหรัฐเสียเองที่จะได้รับผลกระทบจากนี้ แม้ว่าหัวเว่ยอาจต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากการแบนดังกล่าว

ย้อนไปช่วงเดือนพฤษภาคม คณะบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้มีคำสั่งห้ามบริษัทไอทีสหรัฐทำการค้าหรือสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่หัวเว่ย โดยอ้างว่า รัฐบาลจีนใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเพื่อสอดแนมผู้ใช้ หรือมุ่งหวังทำลายความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าว หัวเว่ยปฏิเสธมาโดยตลอด

ซีอีโอหัวเว่ย เปิดใจว่า นับตั้งแต่นโยบายนี้ออกมา บริษัทได้รับผลกระทบใหญ่พอสมควร แต่ก็ไม่ใช้ปัญหาร้ายแรง โดยขณะนี้อุปกรณ์ต่างๆที่หัวเว่ยผลิต ไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนจากบริษัทสหรัฐแล้ว แต่ได้ใช้ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์บริษัทอื่นๆมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตบางแห่งในยุโรป เช่นเดียวกับได้ลดการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตสหรัฐในมือถือหัวเว่ยเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะอนุญาตให้บริษัทไอทีสหรัฐขายชิ้นส่วนบางส่วนให้กับหัวเว่ย แต่ก็ยังคงห้ามส่งออกชิปประมวลผล หรือชิ้นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเครือข่าย 5G

"จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่มีปัญหาที่เราจะสามารถอยู่รอดได้"

เหรินยังกล่าวถึงทรัมป์ว่า "ความพยายามบดขยี้ธุรกิจและข่มขู่ประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงการกีดกันการค้าต่อหัวเว่ย นั้นผลลัพธ์จะย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐเอง หากบริษัทสหรัฐไม่ขายชิ้นส่วนให้หัวเว่ย ผมมั่นใจว่าซัพพลายเออร์ประเทศอื่นยินดีจะขายผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้น"

รายงานระบุว่า แม้หัวเว่ยจะสามารถหาซัพพลายเออร์เจ้าอื่นมาทดแทนได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่หัวเว่ยอาจต้องใช้เวลาพัฒนา และยังไม่สามารถหาผู้ผลิตเจ้าใดมาทดแทนได้คือ ชิปประมวลผลแบบFPGA ซึ่งช่วยในการพัฒนาเครือข่าย 5G ในอนาคต ซึ่งผลิตโดยบริษัท Xilinx Inc. โดยเรื่องนี้เหริน ยอมรับว่าหัวเว่ยได้ทุ่มงบถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในการวิจัยและพัฒนาชิปดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะได้ชิปที่มีคุณภาพดีกว่าของผู้ผลิตสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายยังไม่เชื่อว่า หัวเว่ยจะสามารถพัฒนาชิปแบบFPGA ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับผู้ผลิตของสหรัฐ

นอกจากนี้อุปสรรคของหัวเว่ยอีกประการหนึ่งคือ การถูกกูเกิลแบนใบอนุญาตติดตั้งแอปฯพร้อมใช้งานของกูเกิลอาทิ Gmail และ Youtube ในมือถือหัวเว่ย แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่เพราะสุดท้ายผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดได้ด้วยตัวเอง

แม้ว่าปี 2019 นี้หัวเว่ยจะเจอปัญหาหนักสารพัดรุมเร้า แต่จากยอดขายช่วง 9 เดือนแรกของปี โตขึ้นเฉลี่ยถึง 24% เทียบกับยอดขายของช่วงเดียวกันในปี 2018