posttoday

"ศรีลังกา-ปาปัวฯ" ความเหมือนที่แตกต่างต่อกับดักหนี้จีน

29 พฤศจิกายน 2562

ศรีลังกาต้องการฉีกสัญญาจีนเช่าท่าเรือ ส่วนปาปัวฯกำลังเจอหนี้เงินกู้จีนท่วมหัว

ศรีลังกาต้องการฉีกสัญญาจีนเช่าท่าเรือ ส่วนปาปัวฯกำลังเจอหนี้เงินกู้จีนท่วมหัว

ศรีลังกาประเทศเกาะขนาดเล็กในมหาสมุุทรอินเดียที่เพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่ นำโดยประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา ต้องการยกเลิกสัญญาที่รัฐบาลชุดก่อนทำร่วมกับจีนในการเช่าท่าเรือแฮมบันโตตา ทางใต้ของประเทศเป็นเวลา 99 ปี โดยเขาอ้างเหตุผลเพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

เมื่อปี 2017 อดีตนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงหะ ได้ลงนามในข้อตกลงพัฒนาท่าเรือน้ำลึกร่วมกับจีนเป็นมูลค่ากว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,200 ล้านบาท) โดยให้จีนควบคุมและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในเมืองแฮมบันโตตา

รัฐบาลชุดก่อนเชื่อว่า เงินจำนวน1,100 ล้านดอลลาร์ที่จีนให้ศรีลังกากู้ จะช่วยให้ศรีลังกาชำระเงินกู้จากต่างประเทศได้ โดยภายใต้ข้อตกลงนี้รวมไปถึงการให้สิทธิบริษัท China Merchants Port Holdings Co. ใช้ประโยชน์จากท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลา 99 ปี และพื้นที่ใกล้เคียงราว 6,000 ไร่ทำเขตอุตสาหกรรม เพื่อแลกกับการที่ศรีลังกาไม่ชำระใช้หนี้เงินกู้จีน

"ศรีลังกา-ปาปัวฯ" ความเหมือนที่แตกต่างต่อกับดักหนี้จีน ประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา (น้อยชาย) และนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา (พี่ชาย)

ท่าเรือแฮมบันโตตาถูกมองว่าจะเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่จะมีบทบาทต่อการขนส่งสินค้าในอนาคต

ทว่าดูเหมือนรัฐบาลศรีลังกาชุดปัจจุบันภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา ผู้เป็นพี่ชายของประธานาธิบดีโกตาพญา และเป็นอดีตประธานาธิบดีศรีลังกาเช่นกัน ต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว

"เราต้องการให้พวกเขาคืน(ท่าเรือ)ให้เรา" Ajith Nivard Cabraal อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติศรีลังกา และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีมหินทา กล่าวผ่านสื่อโดยระบุว่า "เรื่องดังกล่าวไม่มีอะไรซับซ้อน คือจีนมอบท่าเรือให้เรา แล้วเราจะชำระเงินกู้1,100 ล้านดอลลาร์แทน"

"ศรีลังกา-ปาปัวฯ" ความเหมือนที่แตกต่างต่อกับดักหนี้จีน ท่าเรือแฮมบันโตตา

ท่าเรือแห่งนี้เป็นหนึ่งในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางตามดำริของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งได้กลายเป็นข้อถกเถียงในหลายประเทศ ตั้งแต่เคนย่าไปจนถึงเมียนมา จากกรณีกับดักหนี้จากการลงทุนของจีน

ท่าทีของประธานาธิบดีโกตาพญา ผู้เป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหม ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ถูกมองว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวทางการจีนได้ส่งแถลงการณ์ไปยังรัฐบาลศรีลังกาว่า "ความร่วมมือระหว่างจีน-ศรีลังกาในโครงการท่าเรือแฮมบันโตตา มีขึ้นบนพื้นฐานความเสมอภาคและการให้คำปรึกษาต่อกัน ... จีนรอคอยจะร่วมมือกับศรีลังกาในการทำให้ท่าเรือแฮมบันโตตากลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแห่งใหม่ในมหาสมุทรอินเดียและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น"

 

"ศรีลังกา-ปาปัวฯ" ความเหมือนที่แตกต่างต่อกับดักหนี้จีน ภาพ : AFP

ความเหมือนที่(เกือบ)แตกต่าง

โดยปาปัวนิวกินีซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ในแถบโอเชเนีย กำลังเผชิญกับปัญหาตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนอาจสูงได้ถึง 25% ภายในปี 2023 ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ปาปัวนิวกินี ประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีน ได้ตำหนิการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่่กู้เงินทุนจากต่างชาติมาใช้จ่ายด้านต่างๆ ส่งผลให้ยอดหนี้คงค้างของปาปัวฯสูงขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าถึงร้อยละ 10 คิดเป็นยอดขาดดุลต่อจีดีพีถึง 42%

แต่เดิมปาปัวนิวกินี เป็นชาติพันธมิตรกับทั้งสหรัฐและออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นชาติในเครือจักรภพ แต่ทว่าช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรี Peter O'Neill บริหารประเทศ ได้นำพาปาปัวนิวกินีเข้าหาทางรัฐบาลปักกิ่งมากขึ้น

แม้ว่าจากข้อมูลงบประมาณที่ทางการปาปัวฯเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.) ที่ผ่านมาจะไม่ได้ระบุว่าประเทศแห่งนี้เป็นหนี้จีนอยู่เท่าไหร่ แต่ตารางการชำระหนี้แสดงให้เห็นว่าจีนได้กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของปาปัวฯแล้ว โดยคาดว่าจะมียอดที่ต้องชำระถึงสูงถึง 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นถึง 25%

"ศรีลังกา-ปาปัวฯ" ความเหมือนที่แตกต่างต่อกับดักหนี้จีน ภาพ : AFP

Ian Ling-Stuckey รมว.คลังปาปัวฯ ยอมรับว่า ยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความหน้าใหญ่ของรัฐบาลชุดก่อนที่ใช้จ่ายเงินไปกับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ดังจะสังเกตได้จากการที่อดีตนายกรัฐมนตรีปาปัวฯ สั่งซื้อรถยนต์หรูมาเซราติ รุ่น Quattroporte จำนวน 40 คันมาใช้รับส่งคณะผู้นำต่างชาติที่เดินทางมาร่วมประชุมดังกล่าว

ปัจจุบันปาปัวฯ มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนาย James Marape ซึ่งเขามารับตำแหน่งต่อจากนาย Peter O'Neill หลังจากที่เขาถูกสภาโหวตไม่ไว้วางใจ

สำหรับปีงบประมาณ 2020 ปาปัวมียอดงบฯขาดดุลสูงถึง 18,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รายรับของประเทศอยู่ที่ 14,100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ต้องเผชิญกับการขาดดุลมากที่สุดที่เคยมีมา