posttoday

ชังชาติคืออะไร เป็นอันตรายไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า

18 พฤศจิกายน 2562

กุสตาฟ แอร์เว่ กล่าวว่าความรักชาติเป็นเรื่องงมงาย สร้างความทารุณ ป่าเถื่อน และไร้มนุษยธรรมยิ่งกว่าศาสนา

ในประเทศไทยคำว่า "ชังชาติ" แพร่หลายในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา เป็นคำที่ใช้ตอบโต้เสียงวิจารณ์ประเทศในด้านลบ เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า "ไม่รักชาติ" แต่มีน้ำเสียงที่ค่อนข้างรุนแรงกว่า

คำๆ นี้กลายเป็นที่สนใจ เมื่อพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวระหว่างร่วมงานวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบรอบ 133 ปีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยกล่าวกับนักเรียนนายร้อยว่าโรคโควิด-19 โรคนี้เป็นแล้วหาย แต่ที่เป็นแล้วไม่หายคือโรคชังชาติ เกลียดชาติบ้านเมืองตัวเอง นี่เป็นไม่หาย เพราะว่ามีการเหน็บแนมประเทศตัวเอง

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 แกนนำพรรคอนาคตใหม่ขึ้นเวทีปราศัยที่ชื่อ “อยู่ไม่เป็น” แล้วเอ่ยว่าพวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกชังชาติ

พฤติกรรมชังชาติคืออะไร และมันมีอยู่จริงหรือไม่?

เราไม่สามารถใช้มาตรฐานส่วนตน (อัตวิสัย) มาตัดสินได้ว่าพฤติกรรมไหนเป็นความชังชาติหรือชอบชาติ การอธิบายเรื่องชังชาติได้เป็นกลางที่สุดคือการใช้บรรทัดฐานทางกฎหมาย (ซึ่งเป็นอัตวิสัย) แต่ประเทศไทยไม่เคยมีกรณีพิพากษาพฤติกรรมชังชาติ และไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นกลางทางวิชาการ

ทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟจึงสืบค้นตัวอย่างของพฤติกรรมชังชาติในต่างประเทศ และพบว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในสหรัฐและเป็นเรื่องราวถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องให้ศาลสูงพิจารณาว่ากรณีนั้นๆ เป็นการชังชาติหรือไม่ ดังนั้นสหรัฐจึงมีบรรทัดฐานวัดว่าอะไรเป็นการชังหรือไม่ชังชาติ และเราจะชังชาติได้ไหมโดยไม่ผิดกฎหมาย?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจนิยามก่อนว่า ชังชาติในภาษาอังกฤษคือคำว่า Anti-patriotism เมื่อแปลตรงตัวมีความหมาย "การเป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติ" ความเป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติตัวเองอาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกเบื่อ เกลียด หรือสิ้นหวังก็ได้อย่างที่เราเห็นตามคอมเมนต์ในโลกโซเชียล

แต่นักคิดชั้นนำของโลกเป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติก็เพราะพวกเขาเชื่อว่า ความรักชาติ หรือ Patriotism เป็นภัยต่อมนุษยชาติ มนุษย์ควรอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวโดยไม่คำนึงถึงเส้นแบ่งประเทศ และผลประโยชน์ของประเทศหนึ่งๆ แต่ต้องมีอุดมการณ์เป็นสากล (Internationalism) และมีค่านิยมร่วมกันเหมือนเป็นคนในชุมชนเดียวกัน (Cosmopolitanism)

พวกที่มีแนวคิดสากลนิยมและการมองโลกเป็นชุมชนเดียวกัน มักเป็นพวกฝ่ายซ้าย คือขบวนการสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์และอนาธิปไตย ดังนั้นนักคิดที่เป็นบิดาแห่ง "ลัทธิชังชาติ" จึงมาจากฝ่ายซ้ายเป็นส่วนใหญ่ เช่น กุสตาฟ แอร์เว่ (Gustave Hervé) นักการเมืองฝรั่งเศสพรรคสังคมนิยมที่บอกว่า ความรักชาติเป็นเรื่องงมงาย สร้างความทารุณ ป่าเถื่อน และไร้มนุษยธรรมยิ่งกว่าศาสนา "ความรักชาติ ... คือความงมงายที่ถูกสร้างขึ้นมาเทียมๆ แล้วหล่อเลี้ยงไว้ด้วยเครือข่ายแห่งเรื่องโกหกและความเท็จ คือความงมงายที่ปล้นชิงความเคารพในตัวเองและศักดิ์ศรีของคนๆ หนึ่งไป และเพิ่มความหยิ่งยะโสและโอหัง"

เอ็มมา โกลด์แมน (Emma Goldman) นักอนาธิปไตยชาวแคนาดา อ้างคำกล่าวของลีโอ ตอลสตอย นักเขียนอนาธิปไตย/นักสันติวิธีชาวรัสเซียที่กล่าวว่า "คือหลักการฝึกฝนฆาตกรแบบเหมาเข่ง ธุรกิจที่ใช้ทักษะในการฆ่าคนมากกว่าความจำเป็นอย่างอื่นของชีวิต เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และบ้าน"

โกลด์แมนซึ่งเป็นนักคิดต่อต้านความรักชาติตัวยง ยกย่องตอลสตอยว่าเป็นนักปฏิปักษ์ต่อความรักชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น

พวกนักคิดสายปฏิปักษ์ต่อความรักชาติ จึงต่อต้านสงคราม ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร และตำหนิการใช้จ่ายด้านกลาโหม (เพราะแน่นว่าถ้าเราเชื่อในโลกไร้พรมแดน ทหารก็ไม่มีความจำเป็น) โกลด์แมนเป็นนักต่อต้านลัทธิทหารที่แข็งขันมาก เธอยกสถิติด้านงบประมาณทหารที่มากมายพร้อมกล่าวว่า "ประชาชนถูกเรียกร้องให้รักชาติและต้นทุนที่ฟุ่มเฟือย (จากงบประมาณทหาร) ที่พวกเขาจ่ายไป ไม่เพียงแต่เพื่อสนับสนุนผู้ปกป้องชาติเท่านั้น แต่ต้องเสียสละชีวิตของลูกหลานตัวเองไปด้วย ความรักชาติเรียกร้องให้เราภักดีต่อธงชาติ ซึ่งหมายถึงการเชื่อฟังคำสั่งและพร้อมที่จะฆ่าพ่อ แม่ พี่น้อง"

เมื่อเราเข้าใจแนวคิดปฏิปักษ์ต่อความรักชาติแล้ว เราจะมาตัวอย่างว่าอะไรบ้างที่เป็นการชังชาติและการทำเช่นนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ที่สหรัฐมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วและฟ้องร้องถึงขั้นศาลสูง

ในปี 1917 ไม่นานนักหลังจากสหรัฐเข้าร่วมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ผ่านกฎหมายการกระทำอันเป็นจารชน (Espionage Act of 1917) เพื่อเล่นงานพวกฝ่ายซ้ายและนักสันติวิธีที่ต่อต้านการเข้าร่วมสงคราม หนึ่งในนั้นคือชาร์ลส์ เชงค์ (Charles Schenck) เลขาธิการพรรคสังคมนิยมอเมริกันที่ประกาศต่อต้านสงครามและแจกใบปลิวประณามรัฐบาล ย้ำว่าการเกณฑ์ทหารไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เชงค์ถูกดำเนินคดี เขาอ้างว่าการเกณฑ์ทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราแก้ไขที่ 13 และเขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีตามรัฐธรรมนูญมาตราแก้ไขที่ 1 แต่ศาลสูงมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของเขาไม่คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ และการขัดขวางสงครามเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรักชาติ

จากกรณีของเชงค์เราจะเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐสามารถใช้กฎหมาย เพื่อที่จะตราหน้าคนที่ขัดขวางความมั่นคงของชาติว่าเป็นพวกชังชาติได้ และการชังชาติไม่ถูกคุ้มครองโดยหลักการแสดงความเห็นอย่างเสรี

ที่สหรัฐอีกเช่นกัน ในปี 1984 มีชายคนหนึ่งชื่อเกรกอรี่ จอห์นสัน (Gregory Johnson) เผาธงชาติสหรัฐระหว่างประท้วงด้านนอกที่ประชุมพรรครีพับลิกัน เขาถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎหมายรัฐเท็กซัส เรื่องนี้ยืดเยื้อจนถึงปี 1989 เมื่อศาลสูงพิจารณาเรื่องนี้ว่า จอห์นสันทำผิดกฎหมายไม่รักชาติ หรือว่าเขาถูกคุ้มครองโดยสิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีตามรัฐธรรมนูญมาตราแก้ไขที่ 1 ศาลมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย 5 - 4 เสียง ฝ่าย 5 เสียงที่ชนะโหวตบอกว่า จอห์นสันไม่มีความผิดเพราะใช้สิทธิแสดงความเห็นอย่างเสรี แต่อีก 4 ท่านเห็นว่าจอห์นสันผิดในข้อหาชังชาติ เพราะธงชาติคือสัญลักษณ์ของประเทศและควรจะพิทักษ์รักษาไว้

กรณีนี้สะท้อนความในสหรัฐเองก็มีเสียงก้ำกึ่งเรื่องการแสดงความเห็นอย่างเสรีกับความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ แต่อย่างน้อย ที่สหรัฐมีศาลที่ชี้ขาดได้ว่าอะไรที่ชังชาติ อะไรที่ไม่ใช่ และเรามีเสรีภาพมากแค่ไหน

ป.ล. กุสตาฟ แอร์เว่ นักการเมืองฝรั่งเศสพรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิชังชาติตัวยง ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขากลายเป็นนักชาตินิยมในระดับเกือบจะคลั่งชาติ

บทความโดยกรกิจ ดิษฐาน

ภาพ - Pattarapong Chatpattarasill / Bangkok Post

อ้างอิง

Goldman, Emma. (1969). Anarchism and Other Essays. Dover Publication. New York.

"Schenck v. United States 249 U.S. 47 (1919)". JUSTIA. Retrieved 18 November 2019.

"Texas v. Johnson 491 U.S. 397 (1989)". JUSTIA. Retrieved 18 November 2019.