posttoday

หากประมาทอาจจะสาย จับตาปัญหาภาคใต้กับขบวนการรัฐอิสลาม

06 พฤศจิกายน 2562

หากทางการไทยและมาเลเซียไม่รับมือกับภัยคุกคามของสมาชิกรัฐอิสลาม ก็อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

หลังจากที่ฐานที่มั่นในซีเรียและอิรักของขบวนการรัฐอิสลามถูกปิดล้อมจนกระทั่งหัวหน้ากลุ่มถูกสังหาร ก็เกิดความกังวลขึ้นมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า สมาชิกรัฐอิสลามที่เป็นชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อาจะเผ่นกลับมาบ้านเกิดแล้วซ่องสุมกำลังคนก่อความวุ่นวายขึ้น

โดยเฉพาะมาเลเซีย มีกลุ่มนิยมรัฐอิสลามลักลอบออกนอกประเทศไปร่วมรบที่ซีเรียถึงหลักร้อยคน แน่นอนว่าไม่เฉพาะแต่ทางการมาเลเซียเท่านั้นที่กังวลเรื่องนี้ ประเทศไทยที่มีปัญหาชายแดนภาคใต้ก็ควรจะกังวลด้วย

ก่อนอื่นเรามาไล่เรียงดูปฏิกิริยาของประเทศในอาเซียนหลังการล่มสลายของศูนย์กลางรัฐอิลามกันก่อน สำนักข่าว Reuters ได้ทำการสัมภาษณ์ เดลฟิน โลเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ ซึ่งกล่าวว่าอุดมการณ์รัฐอิสลามฝังรากลึกในหมู่เยาวชนมุสลิมที่ไม่ได้รับการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้บนเกาะมินดาเนา แม้ว่าการสังหารผู้นำรัฐอิสลามจะถือเป็นข่าวที่น่าตกใจ แต่จะทำให้กลุ่มชะงักงันเพียงชั่วคราว เพราะองค์กรนี้ฝังรากลึกไปทั่วโลกแล้ว

อาย็อบ ข่าน ไมดิน พิตเชย์ ผู้บัญชาการตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียกล่าวกับ Reuters ว่า "เป็นข่าวดี แต่การเสียชีวิตของเขา (ผู้นำรัฐอิสลาม) มีผลสะเทือนเล็กน้อยที่นี่ เพราะปัญหาหลักยังคงเป็นการแพร่กระจายของอุดมการณ์รัฐอิสลาม"

อุดมการณ์รัฐอิสลามคืออะไร? คือการสถาปนารัฐอิสลาม หรือเคาะลีฟะฮ์ สร้างสังคมที่เคร่งครัดในศาสนา ใช้กฎหมายศาสนาในการจัดระเบียบสังคม และมีแนวคิดทำสงครามญิฮาดในระดับโลก ในด้านแนวคิดทางศาสนากลุ่มรัฐอิสลามมีความใกล้ชิดอย่างเหนียวแน่นกับขบวนการวะฮาบีย์ ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง และขบวนการสะลาฟีย์ ซึ่งมีแนวคิดรื้อฟื้นศาสนาอิสลามให้บริสุทธิ์เหมือนในยุคแรกเริ่ม

ในเรื่องแนวคิดทางศาสนาอาจไม่ใช่ปัญหาน่าวิตกเท่ากับการระดมผู้คนทำสงครามญิฮาดในระดับโลก ทำให้รัฐอิสลามยากที่จะตายเพราะได้ปลูกฝังแนวคิดนี้ไว้ทั่วโลกแล้ว และเอเชียตะวันเออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญ

ขณะที่มินดาเนาเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มติดอาวุธสายรัฐอิสลาม มาเลเซียทำหน้าที่เหมือนเป็น "ศูนย์กลางการแวะพักของผู้ก่อการร้าย" จากการตั้งข้อสังเกตของ The Straits Times สื่อในสิงคโปร์และ The Star สื่อมาเลเซีย

ผู้บัญชาการตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียชี้ว่า เพราะนโยบายวีซ่าฟรีสำหรับประเทศในตะวันออกกลางและบางประเทศในแอฟริกาทำให้มาเลเซียเป็นจุดหมายแรกของกลุ่มติดอาวุธข้ามชาติ นับตั้งแต่ปี 2013 สามารถจับกุมผู้ก่อการร้ายชาวต่างชาติได้ถึง 38 รายที่มาใช้มาเลเซียเป็นทางผ่าน

มาเลเซียมักถูกมองว่ามีส่วนกับปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งแน่นอนว่ามาเลเซียมีส่วนจริงๆ เพราะเป็นที่กบดานของกลุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้ เช่น BRN แต่เรายังไม่ทราบชัดเจนว่าการที่มาเลเซียเป็นประเทศทางผ่านของกลุ่มก่อการร้าย มีส่วนทำให้ผู้การการร้ายกลุ่มต่างๆ (เช่นรัฐอิสลาม) เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาคใต้ของไทยหรือไม่

คำถามเรื่องอิทธิพลของรัฐอิสลามในภาคใต้ของไทย มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเป้าหมายของขบวนกการใน 3 จังหวัดต่างจากอุดมการณ์ของพวกรัฐอิสลาม เช่น ดร. ดันแคน แมคคาร์โก ผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้บอกกับ Al Araby ว่าการต่อสู้ในภาคใต้นั้นมีพื้นฐานอุดมการณ์ต่างจากรัฐอิสลาม

ขณะที่ดร. ซคารี อาบูซา แห่งสถาบัน National War College ในกรุงวอชิงตัว ถึงกับชี้ว่าการต่อสู้ใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องชาตินิยมมลายู-ปาตานีไม่ใช่เรื่องศาสนา โดยเขากล่าวกับ The Diplomat ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มหลักของไทย ไม่ได้เป็นกลุ่มข้ามชาติในแง่อุดมการณ์ พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุ่งมั่นที่จะสร้างรัฐบ้านเกิด ไม่ใช่รัฐอิสลาม (เคาะลีฟะฮ์)”

หากเป็นไปตามทัศนะนี้ สามจังหวัดชายแดนใต้จึงไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐอิสลาม แต่นี้่เป็นเพียงข้อสังเกต เราจำเป็นต้องเสาะหาข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันว่าทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันจริง เพราะถ้าเกี่ยวกันจริงแล้วการปราบปรามจะยิ่งยากขึ้น

หากว่ากันที่หลักฐาน องค์กร Crisis Group ซึ่งศึกษาการเมืองระหว่างประเทซระบุในรายงานเกี่ยวกับภาคใต้ของไทยว่า "นับจนถึงวันนี้ (2017) ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานว่าพวกญิฮาดเข้ามาใน (ภาคใต้ของไทย) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มแบกแยกดินแดนนี้ เป็นกลุ่มชาตินิยมซึ่งมีเป้าหมายคือการสถาปนารัฐอิสระ"

แต่รายงานนี้ออกมาในปี 2017 ก่อนที่ศูนย์กลางรัฐอิสลามจะล่มสลายและสมาชิกรัฐอิสลามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับมากบดานที่บ้านเกิด

แต่โปรดสังเกตถึงรายงานจาก Bernama ว่า สมาชิกรัฐอิสลามในมาเลเซียซื้อหาอาวุธมาจากภาคใต้ของไทย เนื่องจากอาวุธปืนเป็นสิ่งที่หายากมากในมาเลเซีย คนๆ นี้คือ "อาแว แวอียา" ชาว จ.นราธิวาส ซึ่งทางการมาเลเซียประกาศจับในฐานะมีความเชื่อมโยงกับรัฐอิสลาม

อย่างไรก็ตามสำนักข่าวอิสรารายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เม.ย.61 ว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) บอกว่านายอาแวนั้น "พบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส แต่เป็นพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่ชอบคุยโม้โอ้อวด พยายามสร้างการยอมรับในสื่อสังคมออนไลน์ ก็พยายามที่จะอุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นบีอาร์เอ็น ว่าเป็นไอเอส"

ดร. อาบูซา เตือนผ่าน Al Araby ว่า หากทางการไทยและมาเลเซียไม่รับมือกับภัยคุกคามของสมาชิกรัฐอิสลาม ก็อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะพวกคนหนุ่มในภาคใต้อาจหมดความอดทนกับการต่อสู้อันยาวนาน จนต้องไปขอความช่วยเหลือจากนักรบต่างชาติ


อ้างอิง

Martin Petty, Rozanna Latiff. "After Baghdadi death, Southeast Asia expects long fight against Islamic State's influence" (May 11, 2019). Reuters

Lamont Mark Smith "Malaysia remains a ‘transit hub for terrorists’ – and it’s visa-free travel that makes it a ‘first choice’" (November 6, 2019). Business Insider.

Austin Bodetti. "How the Thai Conflict Is Boosting Islamic State in Malaysia" (October 17, 2018). The Diplomat.

International Crisis Group. "Jihadism in Southern Thailand: A Phantom Menace " (November 8, 2017).

สำนักข่าวอิสรา. "ผบ.ทบ.ย้ำหนุ่มไทยโยงไอเอสแค่ "คุยโม้" - แต่ทหารคุมตัวยังไม่ยอมปล่อย!" (วันจันทร์ ที่ 23 เมษายน 2561).