posttoday

ชาร์ลส์ พอนซี ต้นกำเนิดแชร์ลูกโซ่สุดฉาวแห่งยุค

02 พฤศจิกายน 2562

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยผ่านไป กลยุทธ์แชร์ลูกโซ่ก็ยังใช้ได้ตลอด

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยผ่านไป กลยุทธ์แชร์ลูกโซ่ก็ยังใช้ได้ตลอด

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “แชร์ลูกโซ่” ที่ถือเป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วยการหลอกให้นำเงินมาลงทุน โดยจูงใจว่าจะได้ผลตอบแทนสูงๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีการนำเงินไปลงทุน เพียงแค่นำเงินจากสมาชิกรายหนึ่งไปจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกอีกรายหนึ่งเป็นทอดๆ

แชร์ลูกโซ่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Ponzi Scheme ซึ่งตั้งตามชื่อของ ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) ที่กลายเป็นคนดังในทางฉาวจากการใช้แลร์ลูกโซ่หลอกเงินคนอื่นในช่วงปี 1920 พอนซีเคยให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนคนที่นำเงินมาลงทุนกับเขา 50% ของเงินต้น ภายใน 45 วัน และ 100% ภายใน 3 เดือน แต่สุดท้ายแชร์ลูกโซ่ของเขาก็ล้มลง สร้างความเสียหายราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะนั้น หรือราว 257 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน

พอนซีเป็นชาวอิตาลี ชีวิตช่วงวัยรุ่นของเขาค่อนข้างลำบาก เพราะครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน พอนซีต้องทำงานเป็นพนักงานไปรษณีย์ก่อนจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่บังเอิญคบเพื่อนที่เอาแต่เที่ยวเตร่ไม่สนใจการเรียน สุดท้ายจึงเรียนไม่จบและไม่มีเงินเก็บเลย

ต่อมาพอนซีย้ายไปอยู่สหรัฐด้วยเงินติดตัวเพียง 2.50 เหรียญสหรัฐ พร้อมกับความหวังว่าจะมีเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเหมือนกับวัยรุ่นอิตาเลียนที่เดินทางไปแสวงโชคที่สหรัฐแล้วมีฐานะร่ำรวยกลับอิตาลี พอนซีเริ่มจากการทำงานเป็นเด็กล้างจานในร้านอาหารจนได้เลื่อนขั้นเป็นพนักงานเสิร์ฟแต่สุดท้ายก็ถูกไล่ออก เพราะโกงเงินทอนลูกค้าและลักขโมยของ

ปี 1907 พอนซีย้ายไปอยู่ที่เมืองมอนทรีอัลของแคนาดา และจับพลัดจับผลูได้ทำงานเป็นผู้ช่วยในธนาคาร Banco Zarossi ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับแนวคิด “การนำเงินจากลูกค้าคนหนึ่งไปจ่ายให้ลูกค้าอีกคนหนึ่ง” หรือเรียกง่ายๆ ว่าแชร์ลูกโซ่เป็นครั้งแรก เนื่องจากธนาคารแห่งนี้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก 6% ซึ่งสูงกว่านาคารทั่วไปถึง 2 เท่า โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากที่เพิ่งเปิดใหม่มาจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้าเก่า ไม่นานธนาคารแห่งนี้ก็ล้มลงโดยที่เจ้าของธนาคารหอบเงินก้อนโตหนีไปเม็กซิโก

ต่อมาชีวิตของพอนซีจับพลัดจับผลูได้รู้จักกับ Internal reply coupon (IRC) หรือบัตรที่สามารถใช้แลกเป็นแสตมป์สำหรับส่งจดหมายตอบกลับไปต่างประเทศ เขาพบช่องโหว่ว่า IRC ในสหรัฐมีราคาสูงกว่าในอิตาลี เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งหากนำไปขายที่สหรัฐจะทำกำไรได้และไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อเห็นโอกาสทำเงิน พอนซีจึงก่อตั้งบริษัทเพื่อระดมเงินมาซื้อ IRC เขายังตระเวนไปหาเพื่อนฝูงในเมืองบอสตันของสหรัฐเพื่อชักชวนมาลงทุนโดยสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ย 50% ของเงินต้นภายใน 45 วัน จ่าย 100% ภายใน 3 เดือน ในขณะที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเพียง 5% เท่านั้น หลายคนจึงหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนและได้ผลตอบแทนตามที่พอนซีรับปากไว้

ปี 1920 พอนซีตัดสินใจก่อตั้งบริษัทของตัวเองเพื่อดำเนินกิจการแชร์ลูกโซ่ เพียงเดือนแรกก็มีผู้หลงเชื่อลงทุน 18 คน รวมมูลค่า 1,800 เหรียญสหรัฐ และพอนซีก็จ่ายผลตอบแทนให้จริงตามสัญญา ทำให้มีการพูดกันปากต่อปากจนมีสมาชิกใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้นๆ เพียง 1 เดือนเงินลงทุนก็เพิ่มจาก 5,000 เหรียญสหรัฐเป็น 25,000 เหรียญสหรัฐ (64,189 เหรียญสหรัฐ เป็น 320,948 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) ในช่วงหลังมีเงินเข้าบริษัทราววันละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.84 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน)

การจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าปกติทำให้บางคนเกิดความสงสัย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่พอนซีจะจ่ายค่าตอบแทนการลงทุนสูงลิ่วในระยะเวลาสั้นๆ บวกกับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ได้ฟ้องร้องพอนซีที่ไม่มีเงินสดจ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ผู้คนเริ่มสงสัยว่าพอนซีผลักดันชีวิตตัวเองจากศูนย์สู่ระดับมหาเศรษฐีในเวลาสั้นๆ ได้อย่างไร จึงมีการขุดคุ้ยเกิดขึ้น

ในช่วงนี้เองที่บางคนเริ่มถอนเงินลงทุนคืน และต่อมาทางการได้เข้ามาตรวจสอบบัญชีของบริษัทและพบว่าธุรกิจนี้ก็คือแชร์ลูกโซ่ดีๆ นี่เอง และตัวพอนซีเองก็เป็นหนี้ถึง 7 ล้านเหรียญสหรัฐ (89.86 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จนในที่สุดแชร์ลูกโซ่วงนี้ก็ล้มในเวลาเพียง 9 เดือนกว่าๆ  โดยพอนซีถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง 86 กระทง และถูกตัดสินจำคุก และเนรเทศออกจากสหรัฐในปี 1934 ขณะที่สมาชิกได้รับเงินคืนไม่ถึง 30% ของเงินลงทุน