posttoday

สร้างเขื่อนกั้นโขงคือหนทางที่ลาวจะหลุดความยากจน แต่มันคุ้มไหม?

31 ตุลาคม 2562

ลาวตั้งเป้าที่จะหลุดพ้นจากสถานะประเทศยากจนภายในปี 2020 และจะหวังจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2030

บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

ในแถลงการณ์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ปี 2018 บุนยัง วอละจิดประธานประเทศลาว ประกาศว่าลาวตั้งเป้าที่จะหลุดพ้นจากสถานะประเทศยากจน (ด้อยพัฒนา) ภายในปี 2020 และจะหวังจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (กำลังพัฒนา) ภายในปี 2030

สหประชาชนประกาศว่าตอนนี้ลาวสอบผ่านการหลุดพ้นสถานะประเทศยากจนไปได้แล้ว 3 ข้อ หากผ่านครบทุกข้อก็จะเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2024

ลาวพ้นจากความยากจนได้อย่างไร? และทำไมถึงกล้าที่จะฝันไปให้ถึงสถานะเกือบจะเท่าประเทศไทย (ที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง) คำตอบก็คือการเป็น "แบตเตอรี่ของเอเชีย" นั่นคือการขายไฟฟ้านำรายได้เข้าประเทศ

ลาวเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด มีพื้นที่เพาะปลูกพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่อาจส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อหวังกอบโกยได้เหมือนไทยและเวียดนาม ลาวไม่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเหมือนกัมพูชาและเมียนมา และมีประชากรจำกัด แต่ลาวมีข้อได้เปรียบคือมีภูมิประเทศเหมาะกับการสร้างเขื่อน และครอบครองพื้นที่ที่แม่น้ำโขงไหลผ่านอันเป็นโตรกผาเหมาะกับการสร้างเขื่อนเช่นกัน

จากตัวเลขปี 2018 ลาวมีเขื่อนแล้ว 46 แห่ง และภายในปี 2020 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 54 แห่ง หากสร้างเสร็จทันการณ์ คือภายในปีหน้าลาวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 28,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากพอที่จะป้อนประเทศไทยได้ทั้งประเทศได้ทั้งปี และจาการประเมินโดยสมาคมพลังงานน้ำสากล (IHA) คาดว่าลาวจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 26.5 กิกะวัตต์ในอนาคต และบอกว่า "ในแง่ทรัพยากรพลังน้ำ ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกจุดคือ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในลาว 72% ผลิตจากเขื่อนพลังน้ำ โดยส่งออกไปต่างประเทศถึง 85 % และไฟฟ้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ 95% ส่งมายังประเทศไทย โดยเมื่อปีที่แล้ว ลาวมีรายได้จากการพลังงานไฟฟ้า 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 46,656 ล้านบาท) คิดเป็นรายได้จากการส่งออกอันดับที่ 2

ดังนั้นเราจะอาจกล่าวได้ว่านโยบายแบตเตอรี่ของเอเชียสำเร็จได้เพราะไทย และลาวพ้นจากความยากจนได้เพราะไทย

และเพราะไทย ลาวจึงสร้างเขื่อนมากมาย การสร้างเขื่อนหลายแห่งในลาวก็ยังเป็นประเด็นด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แต่ที่เลวร้ายกว่าคือแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในลาวถึง 9 แห่ง (เสร็จแล้ว 1 แห่ง ที่ส่งผลมาถึงวิถีชีวิตของคนไทย และประเทศใต้ลำน้ำโขงคือกัมพูชาและเวียดนาม

เมื่อเดือนเมษายนปี 2018 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) คาดการณ์ว่าพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงถึง 40% จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เรื่องนี้กระทบต่อการดำรงชีวิตของคนลาวอย่างแน่นอน เพราะแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาคือแหล่งอาหารที่สำคัญของคนยากคนจน

แม้ว่าจะไม่กินปลาเป็นอาหารหลัก แต่ระดับน้ำโขงมีส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คน การสร้างเขื่อนตั้งแต่ในจีนและในลาวทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงผิดปกติ และแห้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเผยว่า ระดับน้ำช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ปี 2019 ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี ระดับน้ำที่จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ฝั่งตรงข้ามกับนครหลวงเวียงจันทร์ของประเทศลาว ระดับน้ำเหลือแค่ราว 1 เมตร

ในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสำนักข่าว AFP คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขง "ในช่วงเวลานี้อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานต่ำสุดอย่างมีนัยสำคัญและคาดว่าจะลดลงอีก (และ) มีความกังวลถึงช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง"

แม้ว่าลาวตั้งเป้าที่จะหลุดจากความยากจนภายในปีหน้า แต่รายได้จากการสร้างเขื่อนไปถึงคนลาวจริงหรือไม่? และแม่น้ำโขงที่กำลังจะแห้งผากมีผลดีต่อเกษตรกรทั้งลาวและไทยหรือ เพราะในเวลานี้ชาวลาวอยู่ในภาคเกษตรถึง 73.1% คน

รายได้ต่อหัวของคนลาวเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ อยู่ในแนวโน้มที่น่าพอใจ แต่การหลุดพ้นจากความยากจนมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน และคนลาวกับคนไทยต้องจ่ายด้วยชีวิตของแม่น้ำโขง

อ้างอิง

Agence Française de Développement. (10 October 2018). "In Laos, an Exemplary Hydroelectric Dam".

Hutt, David. (25 April 2018). "The Truth About the New Laos Minimum Wage Hike".

AFP. (26 July 2018). "Lao's controversial hydro ambitions".

International Hydropower Association. "Laos". https://www.hydropower.org/country-profiles/laos

Vientiane Times. (19 June 2019 ). "Lao electricity exports increase, while imports fall"

AFP. (31 October 2019). "Mekong levels at lowest on record as drought and dams strangle river".