posttoday

ไกลโฟเซตอันตรายหรือไม่ รัฐบาลย้ำใช้ได้ นักวิทย์บอกอาจก่อมะเร็ง

30 ตุลาคม 2562

ยกข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมาให้ดูกันชัดๆ ว่า รัฐบาลสหรัฐคิดอย่างไรกับสารเคมีชนิดนี้ และนักวิทยาศาสตร์มีทัศนะอย่างไร

โพสต์ทูเดย์ยกข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมาให้ดูกันชัดๆ ว่า รัฐบาลสหรัฐคิดอย่างไรกับสารเคมีชนิดนี้ และนักวิทยาศาสตร์มีทัศนะอย่างไร 

สหรัฐบอกประเมินแล้วใช้ได้ - ในเว็บไซต์ของสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐระบุว่า ไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งควบคุมวัชพืชใบกว้างและหญ้า ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาฆ่าแมลงในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1974 ตั้งแต่มีการลงทะเบียนไกลโฟเซตครั้งแรก EPA ได้ทำการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยในการใช้สารนี้ รวมถึงมีการประเมินทุกๆ รอบ 15 ปี เช่นเดียวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นๆ

แต่ผู้ผลิตเจอฟ้องถึง42,000คดี - แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะยืนยันว่าใช้ได้ แต่จากรายงานข่าวของรอยเตอร์สวันที่ 30 ตุลาคม บริษัท Bayer ของเยอรมนีเจ้าของบริษัท Monsanto ผู้ผลิตไกลโฟเซตกำลังเผชิญกับคดีฟ้องร้อง 42,700 คดีในสหรัฐอเมริกาที่กล่าวหาบริษัทว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็งต่อพวกเขา ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นมากถึงสองเท่าจากเมื่อเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ราคาหุ้นของ Monsanto ลดลงถึง 30% ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากศาลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินว่า Monsanto จะต้องเตือนผู้บริโภคถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจากการใช้ผลิตภัณฑ์ Roundup

สหรัฐบอกไม่อันตรายไม่ก่อมะเร็ง - ในเดือนเมษายน 2019 EPA มีการเปิดเผยรายงานการประเมิน ซึ่งยังคงพบว่าไกลโฟเซตไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนหากใช้ไกลโฟเซตตามข้อระบุในปัจจุบัน และไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็ง (carcinogen) โดยที่ EPA อ้างว่าได้พิจารณาฐานข้อมูลที่มีความเข้มข้นและมีความสำคัญกว่าข้อมูลของสำนักงานสากลว่าด้วยการวิจัยมะเร็ง (IARC) และสอดคล้องกับองค์กรอื่นๆ ในยุโรป, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

อนามัยโลกบอกอาจเสี่ยงมะเร็ง - สำนักงานสากลว่าด้วยการวิจัยมะเร็ง (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ประเมินว่ายาสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต และสารกำจัดแมลงมาลาไทออน ไดอะซีนอน อาจเป็นสารก่อมะเร็ง (จัดอยู่ใน Group 2A คือ "อาจจะ") ในส่วนของไกลโฟเซตนั้น "มีหลักฐานจำกัดเรื่องของการก่อมะเร็งในมนุษย์ คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน หลักฐานเกี่ยวกับการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งมนุษย์มาจากภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีผลการศึกษาจากสหรัฐ แคนาดา และสวีเดนที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2544 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าไกลโฟเซตยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง"

สหรัฐบอกสารตกค้างในอาหารไม่อันตราย - EPA ระบุว่า การตกค้างของไกลโฟเซตในอาหารหรือสิ่งของบริโภคอื่นๆปลอดภัยที่จะบริโภค หากมีการใช้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดย EPA ได้ระบุมาตรฐานเอาไว้ในเว็บไซต์ และหากรัฐบาลสหรัฐพบว่ามีไกลโฟเซตตกค้างเกินมาตรฐานจะทำการยึดอาหารเหล่านั้น EPA ยังย้ำว่า "การมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ตรวจพบได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าสารตกค้างจะอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย"

นักวิทย์เตือนอาจสะสมพิษไม่รู้ตัว - ปัจจุบันมีการตัดแต่งพันธุกรรมพืชให้ทนทานต่อการใช้ไกลโฟเซตมากขึ้นจากการศึกษาของ Charles M. Benbrook พบว่า 56 % ของพืชที่ใช้ไกลโฟเซตนั้นเป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อสารเคมีฆ่าศัตรูพืช เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า พืชที่ทนไกลโฟเซตมากขึ้นอาจสะสมสารนี้มากเกินไปโดยที่เราไม่รู้ตัว Félix Carvalho กล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้ พืชไร่เหล่านี้จึงสะสมไกลโฟเซตในปริมาณที่สูงอยู่ภายในพืช ... มีหลักฐานว่าเรากำลังเผชิญกับปริมาณไกลโฟเซตและสารประกอบอื่นๆ ของสูตรกำจัดวัชพืชที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การสัมผัสกับสารดังกล่าวอาจเป็นอันตรายได้”

 

อ้างอิง

"Glyphosate" United States Environmental Protection Agency. https://www.epa.gov/ingredients-used-pesticide-products/glyphosate

Zimmer, Katarina. (Febuary 7, 2018). "How Toxic is the World’s Most Popular Herbicide Roundup?". The Scientist. https://www.the-scientist.com/news-opinion/how-toxic-is-the-worlds-most-popular-herbicide-roundup-30308

Benbrook, Charles M. (2016; 28(1): 3) "Trends in glyphosate herbicide use in the United States and globally". Environmental Sciences Europe. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5044953/

Burger, Ludwig (October30, 2019). "Bayer says U.S. plaintiffs on glyphosate more than double since July". Reuters. https://www.reuters.com/article/us-bayer-results/bayer-says-u-s-plaintiffs-on-glyphosate-more-than-double-since-july-idUSKBN1X90K1