posttoday

สื่อนอกชี้ปัจจัยเศรษฐกิจไทยดีผิดเวลา เจอปัญหาเหมือนประเทศรวยแล้ว

14 ตุลาคม 2562

ประเทศไทยต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยควรใช้ช่วงเวลานี้เน้นการลงทุนภาครัฐ และปรับให้อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับศูนย์

 

ทัศนะจาก Daniel Moss คอลัมนิสต์ของสำนักข่าว Bloomberg แนะว่าไทยควรผ่อนท่าทีลงบ้างในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่ เพราะในเวลานี้สกุลเงินมีความแข็งแกร่งมากและดุลบัญชีเดินสะพัดมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขให้ใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวได้สบายๆ เช่นการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยอย่างเสียไม่ได้ในเดือนสิงหาคม ตรงกันข้ามกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังผ่อนคลายนโยบายการเงินไม่เพียงแต่ในเอเชีย แต่รวมถึงตลาดเกิดใหม่ และตลาดที่พัฒนาแล้วทั่วโลก

Moss ชี้ว่า ในระดับหนึ่งความมีเสถียรภาพนั้นน่าชื่นชม เพราะประเทศไทยเป็นโดมิโนตัวแรกในวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียระหว่างปี 2540 - 2541 ทำให้เกิดการล่มสลายของค่าเงินบาท แต่ประเทศไทยมีท่าทีระแวดระวังเกินไป แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเคยช่วยประเทศไทยในยามวิกฤตเมื่อปี 2540 ยังแนะว่าไทยสามารถคลายได้สักเล็กน้อยก็ยังดี

ทั้งนี้ รายงานของ IMF เมื่อกลางสัปดาห์นี้ ชื่นชมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น 1.5% ซึ่งถือว่าเหนือความคาดหมายเพราะเพิ่งจะลดไปเมื่อเดือนสิงหาคม แต่ผู้กำกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศบางรายเห็นว่ามีช่องทางให้ลดดอกเบี้ยลงอีก

IMF ยังต้องการให้ภาครัฐใช้งบประมาณมากขึ้น แทนที่จะกักตุนเงินสำรองไว้อย่างเดียว กรรมการของ IMF หลายคนเห็นว่า สถานะของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งมากเกินพอสำหรับพื้นฐานเศรษฐกิจระยะกลาง

เห็นได้ชัดว่า IMF ต้องการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในปีนี้ ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เทียบกับอันดับที่ 2 ในเอเชียคือรูเปียห์ของอินโดนีเซีที่แข็งค่ากว่า 1% เล็กน้อย ความยืดหยุ่นของค่าเงินบาทนั้นเกิดจากบัญชีกระแสรายวันในระดับที่สูง และความยับยั้งชั่งใจทางการเงินที่สูงเช่นกัน ซึ่ง IMF กลับเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

Moss บอกว่าหากเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน ค่าเงินที่แข็งขึ้นคงจะเป็นเรื่องยอดเยี่ยม แต่ทุกวันนี้การแข็งค่าของเงินบาทเป็นตัวปัญหามากมาย ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น เช่นอัตราเงินเฟ้อแทบไม่มี ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากปีก่อนหน้าในเดือนกันยายน ผลผลิตต่ำและค่าแรงสูงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราการเกิดต่ำทำให้กำลังแรงงานหดตัว

การเมืองของไทยก็ล้าสมัยเช่นกัน ทหารได้เข้ายึดครองสองครั้งตั้งแต่ปี 2549 เพราะความบาดหมางกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวกของเขา การเลือกตั้งที่ล่าช้ามานานในเดือนมีนาคมเปิดทางให้ผู้นำรัฐประหาร ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง Moss ชี้ว่าเป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคของการเมืองที่ครอบงำโดยกองทัพ ซึ่งเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทิ้งการเมืองแบบนี้ไว้ข้างหลังไปหมดแล้ว

การเติบโตโดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศอาจได้รับการลงทุนมากขึ้นเนื่องมีการย้ายฐานการผลิตและส่งออก ซึ่งประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์เช่นกัน แต่ IMF ชี้ว่า บริษัทบางแห่งพยายามที่จะย้ายจากประเทศไทย ไปยังประเทศที่ถูกกว่า เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า

โดยรวมแล้ว ประเทศไทยต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยควรใช้ช่วงเวลานี้เน้นการลงทุนภาครัฐ และปรับให้อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับศูนย์ ตอนนี้ ในบางจุด ประเทศไทยมีสภาพคล้ายเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ดังนั้จึงต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังที่คล้ายกับประเทศพัฒนาแล้ว