posttoday

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์

13 ตุลาคม 2562

การพัฒนาคนของจีนในวันนี้ มาจากการปรับตัวและใช้การปฏิรูปการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงและยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากนโยบายจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

การพัฒนาคนของจีนในวันนี้ มาจากการปรับตัวและใช้การปฏิรูปการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงและยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากนโยบายจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

************************

ในวันที่ “จีน” ตั้งเป้าในการสร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน เพื่อขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยากอย่างแน่นอน เพราะจีนมีเงินทุนสนับสนุนมากมายมหาศาล มีประชากรจำนวนมากในการคัดเลือกคนเก่งมาสร้างสรรค์งานให้บรรลุเป้าหมาย แต่เมื่อเรียนรู้โครงสร้างในแผนงานที่จีนเตรียมไว้ จะค้นพบว่า เงินทุนเป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น เพราะหัวใจหลักของการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมของโลกนั้น มีหัวใจหลัก 2 ประการที่จีนให้ความสำคัญ นั่นคือ “วิสัยทัศน์ผู้นำ” และ “คุณภาพการศึกษา”

เมื่อผู้นำได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่า จีนจะต้องจะต้องเป็นประเทศทรงอิทธิพลด้านนวัตกรรม และต้องขึ้นแท่นผู้นำโลก ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ให้ได้ ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 การพัฒนาศักยภาพของคนจึงเป็นปัจจัยหลักที่จีนให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือสำคัญนั่นคือ “การปฏิรูปศึกษา” ส่งผลให้ การพัฒนาคนด้วยการศึกษากลายเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญที่สุด

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์

ว่ากันตามจริงแล้วการส่งเสริมด้านการศึกษาให้ลูกหลานของจีนนั้นมีมาตั้งแต่ในอดีต เพราะเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องยกฐานะทางสังคม แต่ในสมัยโบราณ โอกาสทางการศึกษายังสงวนไว้เฉพาะลูกหลานขุนนางและคหบดี จนกระทั่งเมื่อได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น การศึกษาขึ้นพื้นฐานจึงเกิดขึ้น ส่งผลโอกาสทางการศึกษากระจายออกไปอย่างทั่วถึง ผู้คนคนอ่านออกเขียนได้อย่างกว้างขวาง เปิดหน้าใหม่ของมิติแห่งการพัฒนาการศึกษาในจีนอย่างชัดเจน

เมื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่ การศึกษาไม่ได้สอนแค่ให้คนอ่านออกเขียนได้ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาจึงกลายเป็นสิ่งที่คนจีนจะขาดไม่ได้ และถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ครอบครัวชาวจีนลงทุนมากที่สุด ตัวอย่างเช่นแม้ว่าการศึกษาก่อนวัยเรียน จะไม่ได้เป็นภาคบังคับ แต่ก็กลายเป็นมาตรฐานทางสังคม โดยโรงเรียนอนุบาลในจีน มีทั้งของเอกชนและแบบที่จัดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และ ดำเนินตามทฤษฎีใหม่ที่ย้ำอยู่เสมอว่า การศึกษาก่อนวัยเรียนมีความสำคัญมาก เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาศักยภาพของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น กิจกรรมในโรงเรียนอนุบาลจึงมีความหลากหลาย โดยการเรียนการสอนในระดับนี้ จะไม่มุ่งเน้นวิชาการ แต่เน้นทักษะการใช้ชีวิต

การศึกษาก่อนวัยเรียนในจีน เน้นเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ เด็กต้องพัฒนาร่างกายตามวัย และมีสุขภาพแข็งแรง ต้องมีการสร้างพื้นฐานความรู้ที่เน้นให้เด็กรู้จัก “วิธีเรียน” และต้องส่งเสริมคุณธรรม ความรักชาติให้แก่เด็ก โดยทั้งหมดนี้จะสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์

การปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตของเด็กวัยนี้ ครูผู้สอนจะให้เด็กเรียนรู้ ผ่านกีฬา และศิลปะ เช่น ร้องเพลง เต้นรำ งานฝีมือ วาดเขียน หรือเล่นเกม ดังนั้นครูผู้สอนระดับอนุบาลของจีน จึงไม่เพียงต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการสอนเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจในวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ มีทักษะดนตรี กีฬา และศิลปะ เข้าใจจิตวิทยาเด็ก และมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมออีกด้วย

การสร้างคนเก่งตั้งแต่ก่อนวัยเรียนของจีน นำมาสู่การพัฒนา “ครู” ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ รัฐบาลจีนจึงทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนา “คุณภาพครู” ให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้สมัยใหม่ การเรียนการสอนทุกวันนี้แตกต่างไปจากอดีตที่มักจะยึดครูผู้สอนเป็นหลัก แต่การเรียนการสอนในปัจจุบัน จะยึดเอาตัวเด็กเป็นหลัก โดยครูจะเป็นเพียงผู้คอยสังเกตและให้คำปรึกษา  ครูจะทำหน้าที่ผลักดันให้เด็กก้าวไปข้างหน้าผ่านศักยภาพที่เด็กแสดงออกมา ซึ่งครูผู้สอนจะคอยสังเกต ให้คำแนะนำเพิ่มเติม พัฒนาบุคลิกภาพ และพฤติกรรมของเด็กควบคู่กันไป ครูผู้สอนจะเริ่มจากการสังเกตความสนใจของเด็กเป็นจุดเริ่มต้น เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ฝึกฝนความสามารถในการออกกำลังกาย ความคล่องตัว และความแข็งแรงของพวกเขา

เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา การเรียนการสอนจะเข้มข้นขึ้นทั้งในและนอกห้องเรียน วิชาพื้นฐานที่เด็กจีนจะต้องเรียน ก็คือ ภาษาจีน คณิตศาสตร์ จริยธรรม พลศึกษา และวิชาภาษาต่างประเทศ มีการสนับสนุนการใช้ Ed-Tech หรือ Education Technology  ที่มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอน

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์

สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ในระดับนี้ จีนเปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือกที่หลากหลายๆ มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง เปิดโอกาสให้มีเพื่อนต่างชาติ เสริมสร้างสร้างศักยภาพให้แก่ผู้เรียน โดยเฉพาะวิชาภาษาต่างประเทศที่จีนถือว่ามีความจำเป็นมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพราะจะเป็นตัวช่วยให้จีนเชื่อมต่อกับโลกสากลได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับผู้คนในการสื่อสารและเข้าใจกัน การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ ความเชี่ยวชาญเรื่องภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของโอกาสและการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นพ่อแม่จึงสนับสนุนให้ลูกหลานได้เรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษาในเวลาเดียวกัน

นอกจากวิชาพื้นฐานแล้ว หลักสูตรปัจจุบัน ยังเน้นความยืดหยุ่น สามารถปรับเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เด็กตกกระแสของโลก  ตัวอย่าง เช่น วิชาการเขียนโปรแกรม หรือ Coding เพื่อให้เด็กเรียนรู้ชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชุดข้อมูลจะถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีการรู้จักวางแผน และรู้จักจับประเด็นได้เก่งขึ้น รวมทั้งการสอดแทรก วิชาการลงทุน ความรู้ด้านการเงิน-การลงทุน ที่เริ่มมีการสอนในบางโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงมัธยม เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเป็นทักษะจำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน

นอกจากนั้นแล้วผู้ปกครองบางคนยังเตรียมความพร้อมเด็กเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การพัฒนาบุคลิกภาพ การเรียนมารยาทสากลในสถาบันนอกเหนือจากโรงเรียน เพื่อให้เด็กรู้จักวิธีการเข้าสังคมกับชาวตะวันตก หากแต่ไม่ใช่ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตก ทุกวันนี้กว่าครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนประถมในจีน นิยมเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกห้องเรียน โดยแม้จะเป็นค่าใช้จ่ายสูง แต่ผู้ปกครองยินดีจ่าย ในแต่ละปีเฉพาะค่าเรียนพิเศษของเด็กที่อยู่ในเมือง อาจสูงถึง 300,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยร่วม 1 ล้าน 3 แสนบาทเลยทีเดียว

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์

เมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย เด็กนักเรียนจีนจะเลือกเรียนวิชาที่ตรงกับความถนัด ซึ่งแบ่งเป็น 2 สาย คือสายสามัญ และสายอาชีวะ โดยน่าจะคล้ายกับอีกหลายประเทศ ที่การเรียนสายสามัญยังคงได้รับความนิยมมากกว่า หากแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลจีนส่งเสริมการเรียนสายอาชีวะอย่างจริงจัง ทำให้คุณภาพของนักเรียนสายอาชีวะพัฒนาขึ้นไปมาก มีการว่าจ้างอาจารย์ที่มีประสบการจริงจากภาคอุตสาหกรรม มาเป็นผู้สอน มีการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัย สอดคล้องกับของจริงที่ใช้กันอยู่ในภาคธุรกิจ รวมทั้งมีการกำหนดหลักสูตรว่านักเรียนสายอาชีวะต้องผ่านประสบการณ์ฝึกงานในสถานที่ทำงานจริงไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยขณะที่สายสามัญทำหน้าที่ผลิตคนเก่งมาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม สายอาชีวะก็ทำหน้าที่เป็นหัวใจสำคัญของตลาดแรงงาน

ในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นกระบวนการเกือบสุดท้ายของการสร้างคนที่มีคุณภาพให้ออกไปทำงานช่วยพัฒนาประเทศ กระบวนการเรียนรู้ในระดับนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ใหม่ ผ่านการทดลองและวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยมีรัฐบาลสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้เรียนก็ผ่านการปลูกฝังแนวทางและวิธีคิดที่พร้อมจะแข่งขันในระดับสากล

ผลลัพธ์จากกระบวนการสร้างคนผ่านการศึกษาในแบบของจีน ทำให้ทุกในวันนี้คนจีนรุ่นใหม่ กลายเป็นคนเก่ง ที่รักชาติ และพร้อมที่จะแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเหล่านี้ถูกปลูกฝังความรักชาติมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงความมีระเบียบวินัยที่ต้องยอมารับว่าได้รับการพัฒนาขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ความคิดสร้างสรรค์และหัวคิดทางการค้าสอดแทรกผ่านกระบวนการทางการเรียนการสอนในทุกช่วงวัย การแข่งขันที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการศึกษา ทำให้คนจีนรุ่นใหม่มีทักษะของการแข่งขันที่ครบพร้อม

การสร้างคนและพัฒนาประเทศ ด้วยการ “ปฏิรูปการศึกษา” ไม่ใช่แนวคิดใหม่ หลายประเทศรู้และ ตระหนักรวมทั้งลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลให้เห็นในเร็ววัน จำเป็นต้องใช้เวลาและทำอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จเกิดขึ้นใน “จีน” อย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาคนของจีนในวันนี้ มาจากการปรับตัวและใช้การปฏิรูปการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงและยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากนโยบายจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการลงมือทำของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่พร้อมจะเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยี ภายใต้บริบทของสังคมวัฒนธรรมที่ยังให้คุณค่าความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างแท้จริง

 

ปฏิรูปการศึกษาแบบ “จีน” พัฒนาเทคโนโลยี คงคุณค่าความเป็นมนุษย์