posttoday

เพราะโลกร้อนไม่เกี่ยวกับสันติภาพ เกรียตา ธูนแบรย์ จึงชวดรางวัลโนเบล?

11 ตุลาคม 2562

เปิดมุมมองนักวิเคราะห์ที่ติดตามการประกาศรางวัลอย่างใกล้ชิดถึงสาเหตุที่สาวน้อยจากสวีเดนพลาดรางวัลอันทรงเกียรติ

เปิดมุมมองนักวิเคราะห์ที่ติดตามการประกาศรางวัลอย่างใกล้ชิดถึงสาเหตุที่สาวน้อยจากสวีเดนพลาดรางวัลอันทรงเกียรติ

ก่อนหน้านี้ เกรียตา ธูนแบรย์ วัยรุ่นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี ที่โด่งดังจากการหยุดเรียนประท้วงหน้าอาคารรัฐสภาของสวีเดนเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นเจ้าของวลีเด็ด “คุณกล้าดียังไง” ที่เธอถามบรรดาผู้นำประเทศบนเวทีการประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนที่แล้ว ดูจะมีโอกาสลุ้นเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดอยู่บ้าง

แต่ล่าสุดคณะกรรมการรางวัลโนเบลของนอร์เวย์กลับมอบรางวัลนี้ให้กับนายกรัฐมนตรี อาบิ อาห์เหม็ด อาลี ของเอธิโอเปีย ที่ทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างเอธิโอเปียกับเอริเทรีย

เหตุใดธูนแบรย์จึงไม่ได้รับเลือก การคาดการณ์ก่อนหน้านี้พลาดไปได้อย่างไร

กระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นกระบวนการลับสุดยอด ที่เปิดเผยได้อย่างเดียวคือ ในปีนี้มีผู้ถูกเสนอชื่อรับรางวัลสาขาสันติภาพทั้งสิ้น 301 คนจากทั่วโลก แต่ในบางครั้งชื่อของผู้ถูกเสนอจะได้รับการเปิดเผยโดยผู้ที่เสนอชื่อ อย่างเช่นในกรณีของธูนแบรย์ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาชาวนอร์เวย์ 3 คน แต่ก็ไม่เคยมีการเปิดเผยรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อครบทุกคนมา 50 ปีแล้ว

นอกจากนี้ การคาดคะเนผลก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการคัดสรรลงคะแนนล้วนเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคณะกรรมการ 5 คนที่รัฐสภาของนอร์เวย์เลือกสรรเข้ามา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการคาดเดาอยู่ดี โดยชื่อของธูรแบรย์ถูกเก็งว่าจะคว้ารางวัลนี้แน่นอน

ทว่า นักวิเคราะห์ที่ติดตามการประกาศรางวัลอย่างใกล้ชิดเห็นตรงกันว่าเปอร์เซ็นต์ที่ธูนแบรย์จะไม่ได้รางวัลก็มีอยู่มากเช่นกัน

เฮนริก อูร์ดัล หัวหน้าสถาบันวิจัยเพื่อสันติแห่งออสโล ตัดชื่อของธูนแบรย์ออกจากรายชื่อตัวเก็งที่เขาคาดการณ์ไว้ โดยอูร์ดัลเผยกับ The Washing Post ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับความขัดแย้งยังไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องกันเท่าที่ควร

แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งกันอย่างดุเดือด และแม้ว่านักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะบอกว่าทั้งสองประเด็นนี้ยังไม่เกียวข้องกันโดยตรง ทว่าก็มีการรับรู้กันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มความตึงเครียดในบางภูมิภาคซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้

และก่อนหน้านี้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็เคยถูกมอบให้กับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้ว อาทิ ในปี 2007 ที่มอบให้กับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ ที่พยายามปลูกฝังและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ และวางรากฐานการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แต่ไม่ใช่ในปีนี้

เช่นเดียวกับยันน์ โฮลันด์ มัตลารี ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลัยออสโลของนอร์เวย์ ที่มองว่าธูนย์แบรย์ได้ไวลด์การ์ดเข้ามา แต่ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนกับความขัดแย้งยังอ่อนเกินไป เธอจึงพลาดรางวัล

หรืออาจมองได้ว่าการประกาศรางวัลครั้งนี้อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมของธูนแบรย์ เพราะคณะกรรมการเริ่มคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้ายในช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่กระแสและช่วงเวลาสำคัญของธูนแบรย์เพิ่งจะเกิดขึ้นชัดเจนหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการหยุดเรียนประท้วงของนักเรียนทั่วโลกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเธอ การพายเรือข้ามทวีปเพื่อไปร่วมการประชุมขององค์การสหประชาชาติ และการปราศรัยบนเวทีประชุมโลกร้อนที่เพิ่งจบลง