posttoday

เงินจากเผด็จการหรือศักดิ์ศรีประเทศเสรี NBA ไม่รู้จะเลือกอะไร

09 ตุลาคม 2562

บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

เหตุมันเกิดจากทวิตเตอร์ของแดริล มอเรย์ ผู้จัดการทีมฮุสตันร็อคเก็ตส์ (Houston Rockets) ที่จู่ๆ ไม่รู้อะไรเข้าสิงถึงโพสต์ข้อความว่า "Fight for freedom, stand with Hong Kong," (สู้เพื่อเสรีภาพ ยืนเคียงข้างฮ่องกง)

นี่คือทวิตพิฆาตโดยแท้ แม้ว่ามอเรย์จะลบมันไปหลังจากนั้น แต่ก็สายเกินไปเพราะคนที่จีนได้เห็นมันแล้วและไม่พอใจมาก ผลของความไม่พอใจอาจกระทบต่อผลประโยชน์หลายพันล้านของ NBA ในแผ่นดินจีน

เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์ NBA แถลงขอโทษว่า "เราตระหนักดีว่ามุมมองที่ผู้จัดการของฮูสตันร็อคเก็ตต์ได้แสดงออกไป สร้างความขุ่นเคืองอย่างมากต่อเพื่อนและแฟนๆ ของเราในประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า”

ส่วนสมาชิกในทีมฮูสตันร็อคเก็ตต์คนอื่นๆ เช่น เจมส์ ฮาร์เดน ผู้เล่นของทีมที่บอกว่า "เราขอโทษ เรารักจีน เรารักที่จะเล่นเกมส์ที่นั่น" การพยายามขอโทษแทนผู้จัดการทีมเห็นได้ชัดว่าเพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้ขยายวง หรือแม้แต่เจ้าของทีมอย่าง ทิลแมน เฟอร์ทิตตา ก็ยังบอกว่า "ฟังนะ มอเรย์ไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนของฮูสตันร็อคเก็ตต์ .. และเราไม่ใช่องค์กรการเมือง"

คำถามก็คือทำไมชาวฮูสตันร็อคเก็ตต์ต้องขอโทษ? นั่นก็เพราะฮูสตันร็อคเก็ตต์เป็นหนึ่งในทีมบาสเก็ตบอลที่คนจีนรักที่สุด ในฐานะที่เคยเป็นทีมของเหยาหมิง ฮีโร่ร่างโย่งของชาวจีน ซึ่งตอนนี้เป็นประธานสมาคมบาสเกตบอลแห่งจีน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือรายได้มหาศาลจากตลาดจีน

แต่ก่อนที่จีนจะหายโกรธ คนอเมริกันกลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่ NBA และสมาชิกในทีมฮูสตันร็อคเก็ตต์ "ก้มหัว" ให้จีน

ตอนนี้คนๆ ที่จะแก้วิกฤตได้คือ อดัม ซิลเวอร์แมน คณะกรรมาธิการ NBA ในตอนแรกเขาออกมาบอกแบบก้ำๆ กึ่งๆ เหมือนเหยียบเรือสองแคมว่า "ข้อเท็จจริงก็คือที่เราขอโทษแฟนในจีน ไม่ถือเป็นการขัดแย้งต่อการสนับสนุนสิทธิของบางคนที่จะแสดงความเห็น"

แต่พอซิลเวอร์แมนพูดออกมาแบบนี้ คนอเมริกันก็ไม่พอใจอีก จนเขาต้องมีแถลงการณ์ออกมาอีกครั้ง โดยกล่าวด้วยน้ำเสียงเหมือนเหยียบเรือสองแคมเหมือนเดิมว่า "ผู้คนโกรธเคือง สับสน หรือรู้สึกไม่ชัดเจนว่าเราเป็นใครหรือจุดยืนของ NBA นั้นคืออะไร"

เขากล่าวเสริมว่า "เราตระหนักดีว่าทั้งสองประเทศมีระบบและความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน และเช่นเดียวกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย เราพาธุรกิจของเราไปยังที่ที่มีระบบการเมืองที่แตกต่างกันทั่วโลก"

แม้จะพูดก้ำกึ่งเหมือนรักษาน้ำใจทั้งฝ่ายสหรัฐที่เป็นประเทศตัวเอง และจีนที่เป็นกระเป๋าเงิน คราวนี้ซิลเวอร์แมนพยายามเอนเอียงเข้ามาทางบ้านเกิด โดยบอกว่า "แต่สำหรับผู้ที่ตั้งคำถามกับแรงจูงใจของเรา (ขอตอบว่า) มีอะไรที่มากกว่าการทำธุรกิจของเราให้เติบโต" และย้ำด้วยค่านิยมแบบอเมริกันว่า "ค่านิยมเรื่องความเท่าเทียม ความเคารพและเสรีภาพ เป็นสิ่งที่นิยามตัวตนของ NBA และจะยังคงทำเช่นนั้นต่อไป"

แต่แถลงการณ์ของซิลเวอร์แมนดูเหมือนจะไร้ประโยชน์ เพราะไม่ได้บอกว่าจะเลือกข้างใดข้างหนึ่งชัดเจน เราต้องทำความเข้าใจว่าการเมืองอเมริกันหลังทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมามีความแตกแยกขนาดหนัก ไม่มีคำว่ารอมชอม มีแต่คำว่า "ถ้าไม่ยืนข้างเรา คุณคือศัตรูของเรา"

ในขณะที่ NBA กำลังฟัดกับคนที่บ้านอยู่นั้น จีนไม่รอให้เสียเวลา ลดระดับความสัมพันธ์กับ NBA ในทันที เริ่มจาก CCTV และ Tencent ระงับการถ่ายทอดการแข่งขันของฮูสตันร็อคเก็ตต์ทั้งหมด ต่อมาการฝึกซ้อม กิจกรรมต่างๆ กับทีมบลูคลินเนตส์และลอสแอนเจลิสเลเกอส์ถูกยกเลิกในทันทีไม่มีดีเลย์ แม้แต่ป้ายโฆษณาก็ถูกเก็บกวาดไม่มีเหลือราวกับ NBA ไม่มีที่ยืนในประเทศจีนอีกต่อไป

พวกอเมริกันสายฮาร์ดคอร์อาจจะดีใจที่ตัดเยื่อใยกับจีนได้ แต่สำหรับคนทำมาหากินที่ "ไม่ใช่องค์กรการเมือง" (เหมือนที่เจ้าของฮูสตันร็อคเก็ตต์บอก) เรื่องนี้ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่หลวง

คนอเมริกันจริงจังกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นจนออกจะเป็นความหมกมุ่น ไม่ยึดกับความเป็นจริง เหมือนที่ซิลเวอร์แมนบอกว่า "ผมก็เป็นคนที่ยึดกับความจริงด้วย" (But I’m a realist as well) ความจริงในที่นี้คือ "เงิน"

จีนตลาดเงินตลาดทองของวงการบาสเกตบอล เดวิด คาร์เตอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ USC Sports Business Institute เผยกับ CNN ว่า ตลาดจีนคิดเป็นอย่างน้อย 10% ของรายได้ปัจจุบันของลีก NBA และคาดว่าตลาดจีนจะมีส่วนแบ่งถึง 20% ภายในปี 2030

แต่ตอนนี้ จีนตัดขาดแทบหมดเยื่อใย และไม่เฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนที่ลงโทษ NBA ประชาชนจีนก็เช่นกัน ที่ในเวลานี้กำลังมีความรู้สึกชาตินิยมเต็มเปี่ยมในวาระครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 70 ปี และความรู้สึกรักชาติที่พลุ่งพล่านยามได้เห็นความวุ่นวายจาก "น้ำมือต่างชาติ" ในวิกฤตฮ่องกง

ตอนนี้แฟน ๆ NBA ในจีนได้ขอให้บริษัทสตรีมิ่ง Tencent คืนเงินค่าสมัครชมรายการแข่งขันบาสเกตบอล และตอนนี้ทางบริษัทได้เริ่มคืนเงินแล้ว คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้ Tencent อย่างมหาศาล เพราะเพิ่งจะต่อสัญญาถ่ายทอดการแข่งขันฤดูกาล 2024-25 ไปหยกๆ ซึ่งก็สมเหตุผล เพราะตัวเลขผู้ชม NBA ในจีนอยู่ที่ 500 ล้านคนในปี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากฤดูกาล 2014-15

ซิลเวอร์แมนกำลังเดินทางไปจีนเพื่อเจรจาเรื่องนี้ เชื่อว่าจะไม่มีการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะกีฬาคือเยื่อใยไม่กี่อย่างที่เชื่อมสหรัฐกับจีนเข้าไว้ด้วยกัน และอันที่จริงทั้ง 2 ประเทศเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในยุคสงครามเย็นด้วยการส่งนักกีฬาปิงปองมาแข่งขันกัน ที่เรียกว่าทูตปิงปอง

แม้จะไม่อยากหักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมอ่อนข้อเลยทีเดียว

นักการเมืองอเมริกันโดดกัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในฉากหน้านั้นเราอาจเห็นว่านักการเมืองเหล่านี้ ต่อสู้เพื่อ "ค่านิยมอเมริกัน" ต่อ "เผด็จการอำนาจนิยม" แต่ก็น่าประหลาดที่สหรัฐเองกอบโกยมหาศาลจากประเทศเผด็จการอย่างจีนมานาน โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับระบอบการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่หรือการปกครองของจีนในฮ่องกง

อันที่จริงแล้ว ค่านิยมอเมริกันสามารถง้างได้ด้วยเงิน เดวิด สเติร์น อดีตกรรมาธิการ NBA และยังเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดๆ เพราะนั่งในสภา Council on Foreign Relations (ที่ขึ้นชื่อเรื่องหวงแหนค่านิยมอเมริกัน) ยังเคยกล่าวว่า "เชื่อผมเถอะ สถานการณ์จีนรบกวนจิตใจผมอยู่” สเติร์นบอกกับ แจ็ค คอลลัม แห่งนิตยสาร Sports Illustrated เมื่อปี 2006

"แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมมีความรับผิดชอบต่อเจ้าทีมต่างๆ ที่จะต้องทำเงิน ผมจะลืมจุดนี้ไม่ได้ ไม่ว่าความรู้สึกส่วนตัวของผมจะเป็นอย่างไรก็ตาม"