posttoday

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน?

25 กันยายน 2562

โดย .. ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ ... Posttoday Exclusive

โดย .. ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ ... Posttoday Exclusive

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ นางแนนซี่ เปโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงกระบวนการสอบสวนเพื่อนำไปสู่การถอดถอน (Impeachment) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง

นางเปโลซี่ ซึ่งเป็นแกนนำหลักคนสำคัญคนหนึ่งในพรรคเดโมแครต ในฐานะประธานสภาผู้แทนฯ ได้ประกาศดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการในประเด็นประธานาธิบดีทรัมป์ อาจละเมิดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ ในการดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน

ประเด็นที่สภาผู้แทนฯสหรัฐชูก็คือ การที่พบหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ใช้อำนาจของตนข่มขู่ หรือ เสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนแก่นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ให้หาทางจัดการดำเนินคดีกับทุจริตซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020

 

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน?

สำหรับโจ ไบเดน เป็นผู้สมัครสังกัดเดโมแครตที่หลายฝ่ายมองว่าเขาคือ "คู่ชกคู่ชิง"ตัวจริงของทรัมป์ในศึกการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020

รายงานระบุว่าทรัมป์ได้ต่อสายข่มขู่นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนราว 8 ครั้ง โดยทรัมป์ขู่ว่าจะระงับให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนหากไม่ให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ยังกดดันให้สอบสวนนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายนายโจ ไบเดน ซึ่งมีตำแหน่งในบอร์ดบริหารของบริษัทด้านพลังงานในยูเครนเกี่ยวกับกรณีทุจริตด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางฝั่งแดโมแครตกำลังชูประเด็นว่าทรัมป์อาจละเมิดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐได้ระบุถึงกระบวนการและขั้นตอนการถอนถอนประธานาธิบดีไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐนั้นไม่ง่าย

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน?

จะถอดถอนประธานาธิบดีต้องทำอย่างไร

ตามบทบัญญัติที่ 1 ส่วนที่ 2 ในข้อที่ 5 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐระบุว่า "สภาผู้แทนราษฎร ... มีอำนาจในกระบวนการการฟ้องร้อง แต่เพียงผู้เดียว"

นั้นหมายความว่า สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในขณะนี้แดโมแครตครองเสียงข้างมาก มีอำนาจโดยชอบเปิดประเด็นเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนประธานาธิบดี ในกรณีทางเปโลซี่ระบุว่าได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการทั้ง 6 ชุดประกอบด้วย คณะกรรมการด้านการเงิน, คณะกรรมการตุลาการ, คณะกรรมการข่าวกรอง, คณะกรรมการการต่างประเทศ, คณะกรรมการกำกับดูแลและปฏิรูป, และคณะกรรมการด้านวิธีการ เพื่อเริ่มกระบวนการสอบสวนและรับฟังข้อคิดเห็น

 

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน?

ภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุว่า ประธานาธิบดีจะถูกปลดออกจากตำแหน่งภายใต้เงื่อนไข "ทรยศ, ติดสินบน หรืออาชญากรรมและความผิดลหุโทษอื่น ๆ" ในกรณีนี้รวมถึงการคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางมิชอบ มีพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับหน้าที่ หรือใช้อำนาจในทางเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะกับประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆด้วย

เมื่อคณะกรรมาธิการสอบสวนเสร็จแล้วส่งรายงานให้สภาผู้แทนฯ หากสภาผู้แทนลงมติเสียงข้างมาผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดี ขั้นตอนต่อไปคือส่งไปยังวุฒิสภา

บทบัญญัตติที่ 1 ส่วนที่ 3 ข้อที่ 6-7 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ

ได้ให้อำนาจวุฒิสภามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการพิจารณาญัตติว่าจะถอดถอนประธานาธิบดีหรือไม่ โดยสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีทั้งหมด 100 เสียง จะต้องลงคะแนนอย่างน้อย 2 ใน 3 จึงมีสิทธิ์ถอดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้

วุฒิสมาชิกของสภาสหรัฐชุดปัจจุบันประกอบด้วย 53 เสียงจากรีพับลิกกัน 45 เสียงจากแดโมเครต และอีก 2 เสียงจากส.ว.อิสระ นั้นหมายความว่าวุฒิสภาซึ่งมีพรรครีพับลิกกันครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้จะต้องลงคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 67 เสียง ซึ่งนั้นหมายถึงจะต้องมี "ส.ว.งูเห่า" ฝั่งรีพับลิกกันอย่างน้อย 20 เสียง โหวตถอดถอนทรัมป์

กระบวนการเช่นนี้ นอกจากจะใช้กับประธานาธิบดีแล้ว ยังสามารถใช้ถอดถอดผู้พิพากษา รัฐมนตรี หรือแม้แต่ส.ว.ด้วยกันเอง

 

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน?

ที่ผ่านมามีประธานาธิบดีถูกถอดถอนบ้างมั้ย

คำตอบคือ เกือบมี! กรณีแรกย้อนกลับไปในปี 1868 ประธานาธิบดีคนที่ 17 ของสหรัฐ แอนดรูว์ จอห์นสัน ซึ่งขึ้นสืบอำนาจต่อจากอับบราฮัม ลินคอร์น ซึ่งถูกลอบสังหาร ได้ถูกสภาผู้แทนฯมติด้วยคะแนนเสียงท้วมถ้นถึง 126 ต่อ 47 ถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่กลับรอดการถูกถอดถอนอย่างหวุดหวิดเนื่องจากวุฒิสถาลงมติ 35 ต่อ 19 เสียง ขาดไปเพียง 1 เสียงโหวตเท่านั้น!!

 

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน? แอนดรูว์ จอห์นสัน Photo : Library of Congress

 

คนต่อมาคือ ริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐคนที่ 37 จากกรณีดังสุดอื้อฉาวคดีวอเตอร์เกต ในปี 1974 แต่ทว่านิกสันได้ชิงประกาศลาออกก่อนที่สภาผู้แทนฯจะลงมติ ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้นำสหรัฐคนแรกที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

อีกรายหนึ่งคือบิล คลินตัน ผู้นำสหรัฐคนที่ 47 จากกรณีเรื่องอื้อฉาวทางเพศ โดยสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบด้วยเสียง 228 ต่อ 206 และส่งต่อญัตติถอดถอนไปยังวุฒิสภา แต่ด้วยความสัมพันธ์ของคลินตันต่อบรรดาส.ว.สังกัดแดโมเดรตในวุฒิสภา จึงไม่มีส.ว.ของแดโมแครตคนใดโหวตถอดถอนเขาแม้แต่คนเดียว คลินตันจึงรอดตัวไป โดยบรรดาส.ว.แดโมแครตส่วนใหญ่มองว่าแม้พฤติกรรมของคลินตันจะไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง

ทั้งกรณีของจอห์นสัน และคลินตัน นับได้ว่าเป็นสองประธานาธิบดีที่เข้าสู่กระบวนการถอดถอน แต่ก็ไม่ได้ถูกคองเกรสลงมติถอดถอนแต่อย่างใด

คองเกรสเปิดฉากถอดถอนทรัมป์ เป็นไปได้แค่ไหน? ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี

แล้วหากทรัมป์ถูกถอดถอนจริง ใครคือประธานาธิบดีคนต่อไป

หากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งจริง ผู้ที่จะมารับหน้าที่ต่อคือ รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ โดยจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีจนหมดวาระในวันที่ 20 มกราคม 2021

มีวิธีอื่นในการถอดประธานาธิบดีมั้ย

ภายใต้บทบัญญัติที่ 25 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐ ระบุว่า รองประธานาธิบดีจะรับหน้าที่แทนประธานาธิบดีในเมื่อ ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ภายใต้เหตุผลด้านสุขภาพ หรือภายใต้เหตุผลอื่นที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เช่น ประธานาธิบดีขาดการติดต่อ หรือหายตัวไป หรือตกอยู่ในสภาพบางอย่างที่ไม่อาจบริหารงานได้ จะเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่ต้องแจ้งต่อคองเกรสให้ทราบว่าทราบว่าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติงานได้ แล้วให้ดำเนินการตามสายการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (U.S. Presidential line of succession)