posttoday

แคร์รี่ หลั่มถอนกฎหมาย ใช่ว่าฮ่องกงจะสงบสุข

04 กันยายน 2562

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน สัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก คืองานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การชุมนุมประท้วงก็เช่นกัน

 


ในที่สุดแคร์รี่ หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงก็ยอมถอย ด้วยการประกาศถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการประม้วงและจลาจลมานานถึง 5 เดือนแล้วนับตั้งแต่มีนาคม 2019

แต่การประท้วงคงจะไม่ยุติลงง่ายๆ

สัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก คืองานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การชุมนุมประท้วงก็เช่นกัน ฮ่องกงมีประสบการณ์การประท้วงและจลาจลหลายครั้ง แต่ละครั้งมีตอนจบแตกต่างกันไป

การจลาจลปี 1956 ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันของคนฮ่องกงที่ "อิน" กับการเมืองของแผ่นดินใหญ่ระหว่างฝ่ายสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ จบลงด้วยการที่อังกฤษใช้กองทัพเข้าปราบ ถึงขนาดต้องขอแรงกรมทหารม้ายานเกราะมาช่วย จนมีผู้เสียชีวิต 59 คน

การจลาจลปี 1966 ต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษที่ขึ้นราคาตั๋วเรือข้ามฟาก กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนรายได้น้อย บวกกับความไม่พอใจต่อตำรวจอาณานิคมที่ฉ้อฉล เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อังกฤษใช้ทหารเข้าปราบปราม พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิว โดยขู่ว่าหากใครละเมิดเคอร์ฟิวจะถูกยิง จลาจลจึงสงบลง

การจลาจลปี 1967 เกิดจากความไม่พอใจของชนชั้นแรงงานและความรู้สึกต่อต้านอังกฤษ บวกกับกระแสการสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ เกิดการประท้วงและความวุ่นวายนานหลายเดือนตั้งแต่พฤษภาคม - ธันวาคม 1967 สุดท้ายฝ่ายผู้ประท้วงยอมรามือหลังจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนขอให้ยุติ มีผู้เสียชีวิตถึง 51 คน

ในช่วงทศวรรษที่ 80 มีจลาจลหลายครั้ง แต่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ที่ขัดขืนกฎเกณฑ์ในสังคมในช่วงที่ฮ่องกงกำลังมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี 1997 หลังจากนั้นเป้าหมายการชุมนุมก็เปลี่ยนไป

นับตั้งแต่ปี 2010 ปี 2014 และล่าสุดคือปีนี้ (2019) การชุมนุมในฮ่องกงมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลจีนต่อสิทธิเสรีภาพของคนฮ่องกง (ยกเว้นปี 2016 ที่เป็นจลาจลทางเศรษฐกิจ) แม้จะมีความรุนแรงและผู้บาดเจ็บ แต่สุดท้ายรัฐบาลยอมถอย โดยในปี 2014 รัฐบาลตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง

แล้วการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนปี 2019 ควรจะจบลงอย่างไร เมื่อกฎหมายถูกถอนออกไปโดยสิ้นเชิงแล้ว?

มีผู้เสนอว่า การประท้วงในปี 2014 (การประท้วงร่มเหลือง) เป็นตัวอย่างของการสยบการชุมนุมด้วยวิธีอะลุ่มอะล่วย ซึ่งรัฐบาลควรจะดูเป็นตัวอย่าง แต่อันที่จริงแล้ว แคร์รี่ หลั่ม มีบทบาทสำคัญในฐานะฝ่ายบริหารตั้งแต่การชุมนุมปี 2014 หลั่มจึงต้องรู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี และทางหนีที่ว่านั้นคือการซื้อเวลาดูทิศทางลม ก่อนจะยอมอ่อนข้อในที่สุด

สิ่งที่ต่างออกไปคือ การชุมนุมใหญ่ปี 2014 มีประเด็นเรียกร้องเพียงข้อเดียว เมื่อรัฐบาลทำตามก็จบกันไป แต่ในปีนี้ ข้อเรียกร้องมีถึง 5 ข้อ ในวันนี้แคร์รี่ หลั่มเพื่อตอบสนองไปได้แค่ข้อเดียวคือคว่ำร่างกฎหมาย

ข้อเรียกร้อง 5 ข้อคือ 1. ถอนร่างกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน 2. มิให้ระบุว่าผู้ประท้วงคือผู้ก่อจลาจล 3. ไม่ตั้งข้อหาผู้ที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม 4. ตั้งคณะสอบสวนอิสระ 5. รื้อฟื้นการปฏิรูปทางการเมือง

ทั้ง 5 ข้อนี้ให้เพียงข้อเดียวก็ยากแล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองที่จะให้เลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงและสมาชิกสภาอย่างเสรี จีนไม่มีทางยอมเด็ดขาด

แต่เช่นเดียวกับเมื่อปี 2014 คราวนี้แคร์รี่ หลั่มมีของแถมมาให้ด้วย นั่นคือ รับปากว่าจะเข้าถึงชุมชนเพื่อหาพูดคุยกันโดยตรง และเชิญผู้นำชุมชนและผู้เชี่ยวชาญสาขาอาชีพต่างๆ มาตรวจสอบปัญหาที่ฝังรากลึกในฮ่องกง พร้อมกับตั้งสมาชิกใหม่ในสภารับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งคาดว่าคงจะมารับมือกับความเกลียดชังตำรวจที่เพิ่มมากขึ้นหลังใช้กำลังเข้าปราบปราม

จากประสบการณ์เมื่อปี 2014 ของแถมเหล่านี้ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะผลที่ออกมายังไม่ถูกใจสาธารณะชน คนฮ่องกงมีแนวโน้มที่จะคุยกันเองมากว่าจะมาจับเขาคุยกับรัฐบาลที่พวกเขาไม่ไว้ใจ และชิงชังมากขึ้นเรื่อยๆ

ในการประท้วงปี 2014 สิ่งที่ติดตามมาคือ ขบวนการเอกราชฮ่องกงแข็งแกร่งขึ้นมาก มากถึงขนาดที่ความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมสื่อและสถาบันการศึกษาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะในปีนี้ พลังของการชุมนุมคือนักเรียนนักศึกษา แถมโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังสนับสนุนคนหนุ่มสาวที่ "โดดเรียนเพื่อเสรีภาพ"

แสดงให้เห็นว่าการยอมถอยเป็นการสร้างความสงบเฉพาะหน้า แต่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่งในระยะยาว

ยิ่งนับวันการต่อต้านรัฐบาลยิ่งคุมยากและยิ่งได้ใจ ขบวนการเอกราชฮ่องกงยิ่งเติบโต มีหรือรัฐบาลปักกิ่งจะไม่เห็น และมีหรือที่จะยอมให้เป็นเช่นนั้น

ก่อนที่จะถึงกำหนดผนวกฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ในปี 2047 คงมีอีกหลายครั้งที่จะเกิดการประท้วง แต่ต้องมีสักครั้งแน่ๆ ที่จะจบลงด้วยการนองเลือด

แต่การกวาดล้างด้วยความรุนแรงจะไม่ง่ายเหมือนสมัยที่อังกฤษเคยใช้กำลังมาแล้ว เพราะอังกฤษเป็นเพียงแค่ผู้ปกครองชั่วคราวและจากไปโดยทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลัง แต่คนฮ่องกงและคนแผ่นดินใหญ่ไม่อาจหนีไปได้