posttoday

อีลอน มัสก์ vs แจ็ก หม่า เปิดศึกเดือดดีเบตอนาคตมนุษยชาติ

30 สิงหาคม 2562

สรุปการดีเบตที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ของสองมหาเศรษฐีระดับโลก

สรุปการดีเบตที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ของสองมหาเศรษฐีระดับโลก

การประชุมด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก World Artificial Intelligence ซึ่งจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ของจีน จัดการดีเบตระหว่างสองนักธุรกิจชื่อดังระดับโลกอย่าง แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบา และ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ไร้คนขับ เทสลา และบริษัทสเปซเอ็กซ์  ซึ่งเป็นโอกาสที่หาชมได้ไม่บ่อยนัก ทั้งยังเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การสำรวจดาวอังคาร การศึกษา และการสิ้นสุดของมนุษยชาติ โดยโพสต์ทูเดย์รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

ปัญญาประดิษฐ์

มัสก์ บอกว่ามนุษย์กำลังประเมินความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ต่ำเกินไป ความพิดพลาดอย่างหนึ่งของนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์คือพวกเขามองว่าตัวเองฉลาดกว่าปัญญาประดิษฐ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในอนาคตปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดล้ำกว่านี้อีกมาก ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจนเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะเข้าใจ สิ่งที่มนุษย์ทำได้คืออยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ให้ได้

ขณะที่หม่าเห็นต่าง โดยบอกว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามมนุษย์ แต่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้น คอมพิวเตอร์อาจจะฉลาด แต่มนุษย์จะฉลาดล้ำกว่าคอมพิวเตอร์

ปัญญาประดิษฐ์แย่งงาน

ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาเผยว่า มนุษย์กลัวว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานมาตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้กลับมีงานต่างๆ เพิ่มขึ้น หม่าเชื่อว่าการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้มนุษย์ทำงานน้อยลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตและมีอายุยืนขึ้น คำพูดของหม่าบนเวทีครั้งนี้กลับตาลปัตรกับคำพูดของเจ้าตัวเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่บอกว่าพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพต้องทุ่มเททำงานวันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์

ขณะที่มัสก์มองว่า การมาของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้งานส่วนใหญ่ไร้ความหมาย เพราะปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดถึงขั้นที่คอมพิวเตอร์สามารถสร้างซอฟท์แวร์ของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์อย่างเราควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการมีมนุษยสัมพันธ์กับคน เพราะวิชาเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการในยุคของปัญญาประดิษฐ์

ดาวอังคาร

หม่าบอกกับมัสก์ว่าเขาชื่นชมมัสก์ที่จะไปดาวอังคาร แต่ตัวเขาเองสนใจโลกใบนี้มากกว่า ส่วนมัสก์กล่าวว่า การมีชีวิตอยู่บนดาวหลายดวงจะช่วยไม่ให้อารยธรรมของมนุษย์ล่มสลาย และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 4,500 ล้านปีที่ที่มนุษย์จะออกไปใช้ชีวิตนอกโลกได้ มหาเศรษฐีจากจีนแย้งว่า การส่งผู้คนไปยังดาวอังคารเป็นเรื่องดี แต่เราควรสนใจผู้คน 7,400 ล้านคนที่อยู่บนโลก เราต้องการฮีโร่อย่างคุณ แต่เราต้องการฮีโร่แบบพวกเรามากกว่า ฮีโร่ที่ทำงานหนักบนโลกเพื่อปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

ปฏิรูปการศึกษา

มหาเศรษฐีชาวจีนยอมรับว่ากังวลกับระบบการศึกษาปัจจุบันที่ออกแบบและใช้มาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม หรือกว่า 250 ปีที่แล้ว และยังเอ่ยอีกว่าเราต้องสนับสนุนให้เกิดการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ที่จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น โดยหม่ายกตัวอย่างว่าเขาอยากสอนให้เด็กๆ เรียนวาดรูป ร้องเพลง เต้น หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ทำให้ผู้คนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

มัสก์เห็นด้วยกับหม่าว่าการศึกษาเชิงสร้างสรรค์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการศึกษาปัจจุบันมีคุณภาพต่ำมาก ซีอีโอสเปซเอ็กซ์แนะนำว่า Neuralink ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของเขา คือทางแก้ปัญหานี้ เพราะ Neuralink จะทำหน้าที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับปัญญาประดิษฐ์ คล้ายกับฉากในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ที่ตัวละครสามารถดาวน์โหลดซอฟท์แวร์เข้าสมองเพื่อให้ตัวเองมีทักษะความสามารถต่างๆ ได้ทันที

อนาคตมนุษยชาติ

มัสก์มองว่าภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของโลกคืออัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งหม่าเห็นด้วย โดยยกตัวอย่างประชากรจีนที่มีอยู่ราว 1,400 ล้านคน ซึ่งอาจจะดูว่ามากมาย แต่หากอัตราการเกิดในประเทศลดลง จีนในอีก 20 ปีข้างหน้าย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปัจจุบัน