posttoday

หากรบกันจีนจะถล่มฐานทัพอเมริกันในเอเชียแปซิฟิกได้ทั้งหมด

19 สิงหาคม 2562

จีนสามารถใช้กำลังในระดับที่จำกัด เพื่อให้ได้ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จโดยที่สหรัฐไม่ทันที่จะตอบโต้ โดยกรกิจ ดิษฐาน

 

จีนสามารถใช้กำลังในระดับที่จำกัด เพื่อให้ได้ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จโดยที่สหรัฐไม่ทันที่จะตอบโต้ รายงานโดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

ศูนย์อเมริกันศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ทำการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจัดทำเป็นรายงาน 104 หน้า ในส่วนที่เป็นการประเมินสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐ ทีมวิจัยชี้ว่า จีนมีศักยภาพที่จะทำลายฐานทัพของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิกได้หมด ดังนั้นทีมวิจัยจึงเรียกร้องให้พันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ต้องปรับปรุงการป้องกันประเทศ เพื่อไม่ให้สหรัฐต้องตกเป็นรอง

รายงานสรุปว่า "ระบบต่อต้านการแทรกแซงของจีน ได้ทำลายขีดความสามารถของสหรัฐในการแผ่อำนาจในอินโด-แปซิฟิก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จีนสามารถใช้กำลังในระดับที่จำกัด เพื่อให้ได้ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จโดยที่สหรัฐไม่ทันที่จะตอบโต้ เป็นการท้าทายการคุ้มครองความมั่นคงของสหรัฐที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้"

ทั้งนี้ ระบบต่อต้านการแทรกแซงของจีน (counter-intervention) คือยุทธศาสตร์ของจีนที่จะสกัดกั้นไม่ให้สหรัฐมีกองกำลังอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันว่า จีนมียุทธศาสตร์ที่ว่านี้จริงหรือไม่ เพราะพบการใช้คำๆ นี้ในโลกตะวันตกมากกว่า ในรายงานของศูนย์อเมริกันศึกษาก็เป็นการตั้งสมมติฐานบนความเชื่อว่าจีนมียุทธศาสตร์นี้ และมีการเตรียมการไว้แล้ว หากเกิดการรบกันขึ้นจีนมีศัพยภาพพร้อมกว่าในการกำจัดฐานที่มั่นของสหรัฐในอเชีย

มีข้อมูลของ Heginbotham และ Heim ระบุว่า การลงทุนอย่างหนักหน่วงของจีนในด้านขีปนาวุธภาคพื้นและขีปนาวุธติดตั้งการบนเรือรบ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของยุทธศาสตร์ต่อต้านการแทรกแซงของจีน จากการประเมินของกระทรวงกลาโหมสหรัฐคาดว่า ตอนนี้จีนมีขีปนาวุธพิสัยใกล้ประมาณ 1500 หัวรบ พิสัยกลาง 450 หัวรบ พิสัยไกลอีก 160 หัวรบ และขีปนาวุธอีกหลายร้อยหัวรบที่ติดตั้งบนเรือ

ระบบ A2/AD ของจีนสามารถโจมตีตั้งแต่สิงคโปร์ ไล่ไปตามแนวหมู่เกาะ First island chain หรือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น คูริล ซักคาลิน และหมู่เกาะอะลูเชียน ในรัฐอะแลสกา

ระบบ DF-26 สามารถโจมตีถึงเกาะกวม ฐานทัพสำคัญของสหรัฐในแปซิฟิก และในตอนนี้จีนยังพัฒนาระบบ DF-21D ที่สามารถโจมตีเรือ โดยทำการทดสอบที่หมู่เกาะในทะเลจีนใต้

รายงานของศูนย์อเมริกันศึกษา ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องระบบต่อต้านการแทรกแซงของจีนว่า จีนได้ศึกษาวิธีการสงครามของสหรัฐรวมถึงฐานทัพของสหรัฐ โดยจะใช้ขีปนาวุธที่มีความแม่นยำและระบบต่อต้านการแทรกแซงอื่นๆ ที่น่าเกรงขาม เพื่อบั่นทอนความเหนือกว่าทางการทหารของสหรัฐ จีนจะใช้ขีปนาวุธที่มีพิสัยการยิงครอบคลุมฐานทัพของสหรัฐทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิก เมื่อทำลายฐานทัพเหล่านี้จนสิ้นซากแล้ว ก็เท่ากับตัดกำลังของสหรัฐในภูมิภาคนี้ไป และกำชัยชนะในสมรภูมินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานชี้ถึงความถดถอยของสหรัฐเอาไว้ว่า ความเป็นมหาอำนาจทางทหารของสหรัฐ ในแถบอินโด-แปซิฟิกสิ้นสุดลงแล้ว และความสามารถในการรักษาดุลอำนาจในแถบนี้เริ่มที่จะคาดเดาไม่ได้ เนื่องจากเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐไปทุ่มเทให้กับตะวันออกกลาง เมื่อสหรัฐต้องการกลับมาภูมิภาคเอเชียอีก ก็ต้องพบกับจีนที่แข็งแกร่งขึ้น ส่วนตัวเองไม่พร้อมที่จะรับมือกับจีน

แผนยุทธศาสตร์การป้องกันแห่งชาติ (National Defense Strategy) ของสหรัฐประเมินไว้ว่า ภัยคุกคามใหญ่หลวงคือจีนกับรัสเซีย แต่ให้น้ำหนักความน่าเกรงขามที่จีนมากว่ารัสซีย และความน่ากลัวของจีนมาจากการเสริมเขี้ยวเล็บที่พร้อมสรรพและทันสมัย มีความพร้อม มีความเด็ดขาด

เห็นได้ชัดว่า จีนจะกำชัยชนะได้ก่อนที่สหรัฐจะตอบสนองได้ทันการณ์ รายงานจึงแนะนำว่า มีความจำเป็นที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างขีดความสามารถทางทหารแบบดั้งเดิม นั่นคือการผลิตและสั่งสมอาวุธ การเพิ่มกำลังทหาร อันเป็นสิ่งจำเป็นในการสกัดการโจมตีก่อนโดยจีน โดยให้ความสำคัญกับอาวุธทางอากาศและทางทะเล ระบบโลจิสติกและการสื่อสารที่รองรับการโจมตีได้ และการสะสมยุทโธปกรณ์โดยใช้งบประมาณมหาศาล

ในส่วนของพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาค รายงานแนะว่า ออสเตรเลียควรมีความกังวลต่อสถานะของกองทัพสหรัฐ และสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก เพื่อรับมือกับภัยคุกคาม รัฐบาลออสเตรเลียควรเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐและพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันระดับภูมิภาคแบบครอบคลุม

"ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นการสร้างแกนอำนาจที่มีศักยภาพ เช่นออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งสร้างแสนยานุภาพร่วมที่ชดเชยช่องโหว่ทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค และเป็นแนวต้านการท่าทีคุกคามของจีน" รายงานระบุ

อ้างอิง

Averting Crisis: American strategy, military spending and collective defence in the Indo-Pacific. (19 August 2019). United States Studies Centre.

Timothy Heath and Andrew S. Erickson, “Is China Pursuing Counter-Intervention?” The Washington Quarterly 38.3 (fall 2015): 143-56.

Heginbotham and Heim, “Deterring without Dominance”, pp. 186-187.

Chinese missiles likely to cripple Asia-based US forces in event of conflict: report. (18 Aug, 2019). SCMP.