posttoday

เยอรมนีเล็งขึ้นภาษีเนื้อสัตว์ช่วยลดโลกร้อน

15 สิงหาคม 2562

นักการเมืองเยอรมนีเสนอให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเนื้อสัตว์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

นักการเมืองเยอรมนีเสนอให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเนื้อสัตว์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

นักการเมืองจากพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) และพรรคกรีนของเยอรมนี เสนอให้รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเนื้อสัตว์ให้เป็นอัตรามาตรฐานที่ 19% เช่นเดียวกับสินค้าอื่น จากอัตราปัจจุบันที่ได้รับการลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% หวังจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการของภาวะโลกร้อน

การเลี้ยงปศุสัตว์ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าการทำปศุสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หรือเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,100 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซพิษโดยตรงจากรถยนต์ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่น ทั้งยังต้องใช้น้ำมากถึง 11,360 แกลลอนเพื่อผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม

วัวแต่ละตัวจะปล่อยก๊าซมีเทนทั้งจากการเรอและผายลมราว 70-120 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันทั่วโลกมีวัวราว 1,300-1,500 ตัว เมื่อรวมๆ กันแล้วก๊าซมีเทนที่วัวเหล่านี้ปล่อยออกมาส่งผลเสียต่อโลกมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากก๊าซมีเทนทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า

นอกจากนี้ การทำปศุสัตว์ยังส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บสะสมอยู่ในดินถูกปลดปล่อยออกมา ทั้งยังเป็นการลดจำนวนต้นไม้ที่ช่วยดูดซับก๊าซพิษเหล่านี้ด้วย

ความกังวลของนักการเมืองเยอรมนีสอดคล้องกับรายงานขององค์การสหประชาชาติก่อนหน้านี้ที่แนะนำให้ชาวโลกหันมาบริโภคพืชผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของทั้งสองพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเยอรมนี จากสถิติของ FAO ชาวเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ย 80 กิโลกรัมต่อปีต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า การขึ้นภาษีจะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอนี้จึงยังไม่น่าจะบังคับใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้

นอกเหนือจากภาระของผู้บริโภค ยังมีข้อกังวลว่าการลดการบริโภคจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรที่เลี้ยงวัว แม้จะมีการเสนอให้นำเงินภาษีมาจ่ายชดเชยให้ก็ตาม เนื่องจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่กังวลว่าเงินจะไม่ถึงมือเกษตรกร ซึ่งภายหลังรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเยอรมันได้ยอมรับว่า ทางการไม่มีกลไกแยกแยะว่าภาษีที่เก็บได้มาจากการขายเนื้อสัตว์หรือสินค้าอื่น

ฝ่ายที่คัดค้านการขึ้นภาษียังแย้งอีกว่า ราคาเนื้อที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อเนื้อที่ราคาต่ำกว่าแต่อาจไม่ได้มาตรฐานการผลิต ขณะที่ เฟลิกซ์ พรินซ์ ซู ลูเวนไสตน์ ประธานสมาคมอาหารออร์แกนิกเยอรมนี เสนอให้รัฐบาลลดอัตราภาษีให้กับเนื้อสัตว์ออร์แกนิกหรือที่เลี้ยงด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนการขึ้นภาษีเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ นอกจากเยอรมนีแล้ว เดนมาร์กและสวีเดนก็มีแผนจะขึ้นภาษีเนื้อสัตว์เช่นกัน ขณะที่มหาวิทยาลัย Goldsmiths ของอังกฤษ ประกาศงดขายเนื้อวัวในเขตมหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดโลกร้อน

ทว่าก็มีผู้คัดค้านว่าเป็นการลำเอียงเกินไปที่จะโทษว่าอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน