posttoday

อีก 30 ปีกรุงเทพฯ จะร้อนตับแตกเหมือนเจนไนของอินเดีย

27 กรกฎาคม 2562

การใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพภูมิอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลกในอนาคตพบ 1 ใน 5 ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน บางเมืองต้องรับมือความแห้งแล้งยาวนานขึ้น

การใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพภูมิอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลกในอนาคตพบ 1 ใน 5 ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน บางเมืองต้องรับมือความแห้งแล้งยาวนานขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศจากห้องวิจัย Crowther Lab ของมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ETH Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์ ลงมือศึกษาสภาพอากาศทั้งปริมาณฝนและอุณหภูมิในปัจจุบันของเมืองทั่วโลก 520 เมือง รวมทั้งเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน เพื่อพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองเหล่านี้หากอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส ในปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า

แม้จะประเมินอากาศในอนาคตด้วยสมมติฐานแง่บวกคือ ภายในช่วงกลางศตวรรษหรือปี 2050  การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องไม่เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังพบว่า 22% ของเมืองที่ศึกษาจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น แห้งแล้งรุนแรง ฤดูมรสุมหนักหน่วง ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมและความแห้งแล้งอย่างหนัก โดยในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นเมืองที่อยู่ในเขตร้อนอย่างสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา ย่างกุ้ง

ขณะที่เมืองอีก 77% จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศภายในปี 2050 เมืองในแถบขั้วโลกเหนือจะต้องรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ยุโรปจะอุ่นขึ้นอีกราว 2.5 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นอีก 3.5 และ 4.7 องศาเซลเซียสตามลำดับ ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการัง และเกินเพดานของข้อตกลงปารีสที่กำหนดไว้ว่าจะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม

ส่วนอุณหภูมิของเมืองในเขตร้อนจะเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นเมืองเหล่านี้จะต้องพบกับปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะนำมาสู่การเกิดน้ำท่วมฉับพลันหรือแห้งแล้งรุนแรง ซึ่งมีตัวอย่างสภาพอากาศสุดขั้วให้เห็นแล้วในบางประเทศ เช่น อินเดีย ในปีนี้มรสุมพัดเข้าอินเดียช้ากว่าปกติ ทำให้บางพื้นที่ต้องเผชิญภัยแล้งยาวนานขึ้น และเมื่อฤดูมรสุมมาถึงก็มาพร้อมกับพายุฝนกระหน่ำจนเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อสันนิษฐานของงานวิจัยดังกล่าว สภาพอากาศของกรุงลอนดอนในปี 2050 จะคล้ายกับอากาศของบาร์เซโลนาในปัจจุบันที่อุณภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 13-30 องศาเซลเซียส กรุงโตเกียวจะเหมือนกับเมืองฉางซาทางตอนกลางของจีนที่สภาพอากาศค่อนไปทางกึ่งร้อนชื้น

ส่วนสภาพอากาศกรุงเทพฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะคล้ายกับเมืองเจนไนของอินเดียในปัจจุบัน ที่อุณหภูมิในฤดูร้อนสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิของเดือนที่ร้อนที่สุดของกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นราว 1.7 องศาเซลเซียส

แม้จะฟังดูเหมือนอุณหภูมิทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไม่มาก ทว่า อเล็กซ์ โล ผู้บรรยายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจาก Victoria University of Wellington ในนิวซีแลนด์ เผยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้เชื้อโรคแพร่ระบาด กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และนำมาสู่การขาดแคลนน้ำ ขณะที่เมืองตามแนวชายฝั่งเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม อาคารบ้านเรือนเสียหาย ประชาชนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน

ด้าน ฌ็อง ฟร็องซัว แบสตอง หัวหน้าทีมวิจัย เผยว่า “พวกเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นเราจะต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง น้ำท่วม และสภาพอากาศเลวร้ายมากขึ้นๆ”

*ภาพประกอบเป็นซากปลาที่ตายอยู่ก้นแม่น้ำลัวร์ทางตะวันตกของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศ แต่กลับแห้งขอดจนพื้นดินแตกระแหงเมื่อคลื่นความร้อนโจมตีแถบยุโรปเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา Photo by LOIC VENANCE / AFP