posttoday

เขื่อนแม่น้ำโขงที่เลวร้ายที่สุดไม่ใช่แค่ทำให้แล้งแต่ยังฆ่าแหล่งอาหาร

21 กรกฎาคม 2562

สถานการณ์ในอนาคตของแม่น้ำโขงก็คือ จะสิ้นสุดสถานะการเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์และผู้ค้ำประกันความมั่งคั่งทางการเกษตร และแม่น้ำใต้จีนลงมาจะกลายเป็นแค่อ่างเก็บน้ำที่ไร้ชีวิต

ภาวะแห้งแล้งที่สุดในรอบ 100 ปีของแม่น้ำโขงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ลาวหยุดการทดสอบเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงเขื่อนแรกในเขตลาว และยังเกิดกระแสโจมตีจีนอย่างรุนแรงอีกครั้ง ในฐานะที่เป็นประเทศที่สร้างเขื่อนขวางแม่น้ำโขงมากที่สุดและยังเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการสร้างเขื่อนกั้นโขงในเขตประเทศอื่นๆ จนทำให้แม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถึงกาลอวสาน

แม้ว่าในตอนนี้เป้าหมายของการโจมตีจะอยู่ที่เขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว และเขื่อนอีกอย่างน้อย 14 แห่งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้างในจีน แต่เขื่อนที่จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา คือเขื่อนกั้นแม่โขงที่จังหวัดกระแจะ ในประเทศกัมพูชา

เขื่อนสมโบร์ ในจังหวัดกระแจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างกัมพูชาและจีนโดยจีนเป็นผู้ออกงบประมาณให้ มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร เป้าหมายคือการผลิตและขายกระแสไฟฟ้าให้เวียดนาม 70% และขายให้ไทย 10% เตรียมจะสร้างอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า หรือปี 2020

มีการศึกษาผลกระทบของเขื่อนสมโบร์ต่อการประมงน้ำจืดของกัมพูชาแต่ถูกปกปิดไว้ และเพิ่งจะได้รับการเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว ผลเสียหายร้ายแรงคือจะกระทบต่อเส้นทางการอพยพเพื่ออาศัยและแพร่พันธุ์ของปลาแม่น้ำโขงรวมถึงโลมาอิรวดี ผลก็คือปลาในทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชาและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงจะเสียงต่อการสูญพันธุ์ และทำให้ชีวิตของชาวกัมพูชานับล้านต้องตกทุกข์ได้ยาก เพราะชีวิตของคนกัมพูชาถึง 80% อาศัยปลาเป็นอาหารหลัก และ 70% ของปลามาจากโตนเลสาบ

รายงานระบุว่าการสร้างเขื่อนสมโบร์ "เป็นการฆ่าแม่น้ำ" และ "ตัวเลือกที่เลวร้ายที่สุดที่จะใช้สร้างเขื่อนหลัก" สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงหลังการสร้างเขื่อนสมโบร์ นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าเขื่อนไซยะบุรี ที่ส่งผลกระทบต่อปลา 229 สายพันธุ์ และทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงช่วงไทยและลาว

ในกรณีของเขื่อนไซยะบุรี มิลตัน ออสบอร์น นักวิจัยแห่งสถาบันโลวีเพื่อนโยบายระหว่างประเทศ และผู้เขีงานวิชาการด้านแม่น้ำโขงอย่างกว้างขวางเตือนว่า "สถานการณ์ในอนาคตของแม่น้ำโขงก็คือ จะสิ้นสุดสถานะการเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์และผู้ค้ำประกันความมั่งคั่งทางการเกษตร และแม่น้ำใต้จีนลงมาจะกลายเป็นแค่อ่างเก็บน้ำที่ไร้ชีวิต"

อาจกล่าวได้ว่าเขื่อนในจีนและลาวตอนเหนือคือการบงการแม่น้ำโขงในด้านกระแสน้ำจนกระทบชีวิตมนุษย์ เขื่อนสมโบร์ที่กัมพูชาจะเป็นการฆ่าสัตว์น้ำและเปิดตายคลังอาหารแห่งแม่น้ำโขงไปโดยปริยาย

 

 

 

ภาพ เกรียงไกร แจ้งสว่าง