posttoday

วิกฤตแล้ว ขั้วโลกเหนือยังไม่รอดเจอคลื่นความร้อนถล่ม

21 กรกฎาคม 2562

นี่คือสถิติสูงสุดเท่าที่เคยพบมา และไม่เคยร้อนขนาดนี้มาก่อน ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

ขณะที่ประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยกำลังแล้งจัดและร้อนจัดแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม พื้นที่แถบขั้วโลกเหนือก็เผชิญกับภาวะร้อนจัดเช่นเดียวกัน เป็นความร้อนที่สร้างควาามตกตะลึงให้กับคนพื้นที่ที่ตามปกติจะมีอากาศที่เย็นสบายถึงขั้นหนาวพอสมควร แม้แต่ในช่วงฤดูร้อน

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของแคนาดารายงานว่า อุณหภูมิที่เมืองอเลิร์ต (Alert) ซึ่งเป็นชุมชนเหนือสุดของโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร และห่างจากขั้วโลกเหนือไม่ถึง 900 กิโลเมตร ในเวลานี้กำลังถูกคลื่นความร้อนเข้าโจมตี โดยอุณหภูมิขึ้นมาสูงถึง 21 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม และต่อมาลงมาอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส

สำหรับคนไทยแล้ว 21 องศาเซลเซียส ถือว่าหนาวพอสมควรและในประเทศซีกโลกเหนือถือว่ากำลังเย็นสบาย แต่สำหรับขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิในระดับนี้ถือว่าร้อนจนน่าตกใจ

อาร์เมล คาสเตลเลียน เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตุนิยมวิทยาแห่งแคนาดาเผยกับสำนักข่าว AFP ว่า นี่คือสถิติสูงสุดเท่าที่เคยพบมา และไม่เคยร้อนขนาดนี้มาก่อน ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์ครึ่งที่ผ่านมา เมืองเหนือสุดของโลกมีอากาศร้อนแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ครั้งสุดท้ายที่อุณหภูมิถึง 20 องศาเซลเซียส คือเมื่อปี 1956 และตามปกติแล้วอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองอเลิร์ตในช่วงเดือนกรกฎาคม อันเป็นฤดูร้อน จะอยู่ที่เพียง 3 องศาเซลเซียสเท่านั้น หรือมากที่สุดก็แค่เพียง 6 องศาเซลเซียส

เดวิด ฟิลลิปป์ นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสแห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพของอากาศโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลแคนาดาชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็นคลื่นความร้อนของขั้วโลกเหนือ นอกจากนี้หลายพnhนที่ในแถบอาร์ติกยังเผชิญกับภาวะร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 2 หรืออันดับที่ 3 เท่าที่เคยบันทึกสถิติกันมา และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงกันยายน

ส่วนคาสเตลเลียนชี้ว่า ขั้วโลกเหนือเป็นพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้นรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลก และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินการณ์

 

**หมายเหตุภาพประกอบเป็นหมีขั้วโลกที่ถูยิงตายในเขตขั้วโลก ประเทศนอร์เวย์ AFP PHOTO / NTB Scanpix / Gustav Busch ARNTSEN / Norway OUT