posttoday

FaceApp เป็นตัวร้ายจริงๆ หรือแค่ถูกทำให้เป็นตัวร้าย

19 กรกฎาคม 2562

คนอเมริกันยังฝังใจกับฝันร้ายกรณีที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 และกรณีที่เคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊คไปใช้ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ

ช่วงนี้แอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า FaceApp หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าแอพหน้าแก่ กลับมาฮิตอีกครั้งทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ หลังจากเพิ่งเพิ่มฟิลเตอร์ที่ทำให้ใบหน้าของผู้ใช้ดูมีอายุมากขึ้นหรือทำให้ดูเด็กลงก็ได้ โดยมีบรรดาเซเลบแห่แชร์รูปภาพที่ผ่านการตกแต่งด้วยแอพพลิเคชั่นนี้ในโลกโซเชียลจนเกิดกระแสไวรัล กลับมาติดชาร์ตแอพพลิเคชั่นที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วแอพพลิเคชั่นสัญชาติรัสเซียนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดใช้งานทั่วโลกรวมกันหลายร้อยล้านครั้ง

ทว่าการกลับมาของ FaceApp ครั้งนี้ก็มาพร้อมกับความกังวลของผู้ใช้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะแอบล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ เนื่องจาก FaceApp สามารถเข้าถึงคลังภาพถ่ายของผู้ใช้เพื่อนำภาพไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์ภายนอกที่ควบคุมโดยนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น แถมยังเก็บภาพของผู้ใช้ไว้ในเซิร์ฟเวอร์อีกด้วย บวกกับความตื่นตัวในเรื่องของความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้มีการนำเสนอข่าวจากฝั่งสหรัฐเตือนว่าไม่ควรใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว

นอกจากนี้ ชัค ชูเมอร์ วุฒิสมาชิกอาวุโสของพรรคเดโมแครต ยังเขียนจดหมายเรียกร้องให้สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ (FBI) สอบสวนกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า FaceApp อาจเป็นอันตรายต่อความมั่งคงของชาติและความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันนับล้าน และอาจเป็นปัญหาใหญ่หากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ถูกส่งไปยังบุคคลที่สามที่มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐ อีกทั้งคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครตยังเตือนทีมรณรงค์หาเลือกเลือกตั้งปี 2020 ของพรรคว่าห้ามใช้แอพพลิเคชั่นรัสเซียนี้เด็ดขาด หรือหากโหลดแล้วก็ให้รีบลบทิ้ง

หลังเกิดความกังวล ยาโรสลาฟ กอนชารอฟ ซีอีโอ FaceApp ยืนยันว่าแอพพลิเคชั่นจะอัพโหลดเฉพาะรูปที่ผู้ใช้เลือกเพียงรูปเดียวเท่านั้น เพื่อนำไปประมวลผล ไม่ได้เข้าถึงทุกรูปที่อยู่ในเครื่อง โดยจะลบภาพของผู้ใช้ออกจากเซิร์ฟเวอร์ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากวันที่อัพโหลด และผู้ใช้ยังมีสิทธ์ขอให้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นลบภาพของตัวเองได้ด้วย และแม้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะพัฒนาขึ้นที่รัสเซียแต่ไม่เคยมีการส่งข้อมูลไปที่รัสเซีย ข้อมูลของผู้ใช้จะถูกเก็บไว้ในระบบคลาวด์ซึ่งให้บริการโดยอเมซอนและกูเกิลของสหรัฐ และย้ำว่าผู้พัฒนาไม่มีความคิดจะนำข้อมูลไปขายต่อแต่อย่างใด

คำยืนยันของกอนชารอฟยังมีหลักฐานยืนยันแน่นหนาจากนักวิจัยด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสที่ใช้นามแฝงว่า เอลเลียต แอลเดอสัน ที่ทดสอบการทำงานของ FaceApp และพบว่าแอพพลิเคชั่นนี้เก็บเฉพาะภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดเพียงภาพเดียวเท่านั้น และยังเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐไม่ใช้รัสเซียอย่างที่หลายคนกังวล

แล้วแอพพลิเคชั่นนี้อันตรายจริงๆ ไหม ทำไมสหรัฐถึงต้องกังวล

คนอเมริกันเคยผ่านฝันร้ายกรณีที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 และกรณีที่เคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊คไปใช้ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐมาแล้ว บวกกับแอพพลิเคชั่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนรัสเซีย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหรัฐจะกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นมาอีก ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า FaceApp ส่งข้อมูลกลับไปให้รัสเซียก็ตาม

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะรับเงื่อนไขการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่ทางผู้พัฒนาต้องการได้มากน้อยเพียงใด แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรอัพโหลดรูปภาพที่เป็นส่วนตัวมากๆ หรือมีข้อมูลสำคัญๆ ลงในแอพพลิเคชั่นไม่ว่าจะแอพพลิเคชั่นนี้หรือแอพพลิเคชั่นใดก็ตาม