posttoday

พ่อแม่ไม่สั่งสอนก็รอดคุกได้

18 กรกฎาคม 2562

แอฟฟลูเอนซา (Affluenza) คืออาการผิดปกติทางจิตจนไม่สามารถแยกแยะความถูกผิดได้ของคนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยและถูกตามใจจนเสียคน เพื่อเป็นข้อแก้ตัว ทำให้ในที่สุดศาลเยาวชนบรรเทาโทษ

แอฟฟลูเอนซา (Affluenza) คืออาการผิดปกติทางจิตจนไม่สามารถแยกแยะความถูกผิดได้ของคนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยและถูกตามใจจนเสียคน เพื่อเป็นข้อแก้ตัว ทำให้ในที่สุดศาลเยาวชนบรรเทาโทษ

ชื่อของ แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือแพรวา 9 ศพ เป็นชื่อที่คนไทยพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงเวลานี้ จากเหตุการณ์ที่เธอขับรถเก๋งชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์เมื่อ 9 ปีก่อน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 9 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย อันเป็นที่มาของคำที่คนไทยเรียกติดปากว่าแพรวา 9 ศพ ขณะที่ฝั่งสหรัฐก็เคยเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ที่รัฐเท็กซัสจนคำว่า Affluenza Teen หรือวัยรุ่นที่ไม่รู้จักความผิดชอบชั่วดีเพราะถูกพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวยตามใจจนเสียคน กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

พ่อแม่ไม่สั่งสอนก็รอดคุกได้

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มชื่อ อีธาน เค้าช์ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 16 ปี ขับรถยนต์ของพ่อออกจากงานปาร์ตี้โดยมีเพื่อนๆ นั่งไปด้วยอีก 7 คน ระหว่างทางรถเกิดเสียหลักพุ่งชนกลุ่มพลเมืองดีที่หยุดรถช่วยรถอีกคันหนึ่งที่จอดเสียอยู่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 ราย บาดเจ็บอีก 9 ราย รวมทั้งเพื่อนของเค้าช์สองรายที่บาดเจ็บสาหัส โดยคนหนึ่งเป็นอัมพาตทั้งตัว

การตรวจวัดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของเค้าช์ 3 ชั่วโมงหลังก่อเหตุพบแอลกอฮล์ 0.24% ซึ่งมากกว่าปริมาณที่กฎหมายของรัฐเท็กซัสกำหนดถึง 3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้กัญชาและแวเลียมที่ในทางการแพทย์ใช้เป็นยากล่อมประสาทด้วย อีกทั้งหนุ่มวัย 16 ปียังขับรถด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในพื้นที่ที่จำกัดความเร็วไม่เกิน 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะเกิดอุบัติเหตุ

เด็กหนุ่มรายนี้ถูกตั้งข้อหาขับรถขณะมึนเมาจนชนผู้อื่นเสียชีวิต 4 กระทง และขับรถขณะมึนเมาจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ 2 กระทง โดยอัยการของรัฐขอให้ศาลลงโทษจำคุกเค้าช์ด้วยโทษสูงสุดคือจำคุก 20 ปี ทว่านักจิตวิทยาของครอบครัวเค้าช์ให้การต่อศาลว่าลูกความมีภาวะแอฟฟลูเอนซา (Affluenza) คืออาการผิดปกติทางจิตจนไม่สามารถแยกแยะความถูกผิดได้ของคนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยและถูกตามใจจนเสียคน เพื่อเป็นข้อแก้ตัว

ทำให้ในที่สุดศาลเยาวชนบรรเทาโทษพิพากษาให้ทำทัณฑ์บน 10 ปีซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ก.พ. 2024 บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และเข้าสถานบำบัดโดยครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

คำพิพากษาดังกล่าวสร้างความขุ่นเคืองให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและชาวอเมริกันอย่างมาก เพราะถือเป็นโทษที่เบามากสำหรับคดีเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิตถึง 4 ราย ส่วน สุนิยา เอส. ลูเธอร์ นักจิตวิทยาที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เผยว่า สังคมกำลังสร้างสองมาตรฐานระหว่างคนจนกับคนรวย และตั้งคำถามว่าหากคดีนี้ผู้กระทำผิดเป็นคนผิวดำ หรือเด็กวัยรุ่นที่เติบโตมาในย่านที่มีอันธพาล หรือเป็นลุกของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ติดยาเสพติด ศาลยังจะรับฟังวิธีการเลี้ยงดูดังกล่าวเป็นข้อแก้ตัวแล้วปล่อยพวกเขาไปหรือไม่

ในบทความที่ตีพิมพ์ใน The Guardian เจสสิกา ลูเธอร์ นักศึกษาในรัฐเท็กซัส ชี้ว่าความสามารถในการจ่ายค่าสถานบำบัดของเอกชน ความร่ำรวย เป็นเหตุผลให้ศาลลงโทษเค้าช์ในสถานเบา ส่วนจำเลยที่ไม่สามารถจ่ายค่าดำเนินการเหล่านี้ได้ก็ต้องเข้าสู่ระบบสถานพินิจของรัฐที่แออัด ที่ศาลอ้างว่าเค้าช์อาจไม่ได้รับการบำบัดที่เข้มงวดเท่ากับสถานบำบัดเอกชนที่ทนายความของเค้าช์แนะนำ (แอนเดอร์สัน คูเปอร์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงกับเรียกสถานบำบัดที่เค้าช์ใช้บริการว่าเป็น “สปา”)

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้พิพากษาในคดีของเค้าช์ลงโทษเบาไปเมื่อเทียบกับคดีที่เด็กหนุ่มวัย 16 ปีเมาแล้วขับรถชนวัยรุ่นวัย 19 ปีเสียชีวิต ที่ถูกพิพากษาจำคุกถึง 20 ปี โดยศาลให้เหตุผลว่า “ศาลเข้าใจดีว่าจำเลยมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่ราบรื่น ศาลหวังว่าจำเลยจะได้ประโยชน์จากสถานพินิจและเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น” ทั้งๆ ที่จำเลยรายนี้มีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพียง 0.11% แต่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เยาวชนที่ก่อคดีเมาแล้วขับหรืออาชญากรรมอื่นจะได้รับโทษทัณฑ์บนแทนโทษจำคุก” และคำพิพากษาอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้โอกาสครั้งที่สองแก่เยาวชนผ่านกระบวนการบำบัดแทนที่การพิจารณาคดีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่”

และในการพิจารณาคดีเมื่อปี 2014 อีริก บอยส์ ที่เสียภรรยาและลูกสาวในอุบัติเหตุที่เค้าช์ก่อขึ้น เผยว่า “ถ้าเค้าช์ไม่มีเงินจ้างทนายความเก่งๆ และผู้เชี่ยวชาญขึ้นให้การต่อศาล และไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของสถานบำบัดเอง ผมคิดว่าคำพิพากษาน่าจะเปลี่ยนไป”

ในปี 2015 หลังศาลมีคำพิพากษา 2 ปี มีผู้แชร์คลิปในทวิตเตอร์แฉว่าเค้าช์ละเมิดทัณฑ์บนซึ่งรวมถึงการห้ามขับรถ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามใช้สารเสพติด ด้วยการเข้าร่วมงานปาร์ตี้ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อมาเจ้าตัวยังไม่ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตามกำหนด เจ้าหนาที่ติดตามร่องรอยจนพบว่าเค้าช์กับ ทอนยา เค้าช์ ผู้เป็นแม่หลบหนีไปอยู่ที่เมืองปัวโตบาญาร์ตาของเม็กซิโก แต่สุดท้ายก็ถูกจับและส่งตัวกลับมายังเท็กซัส โดยศาลพิพากษาให้จำคุกเค้าช์ 2 ปีในข้อหาละเมิดทัณฑ์บน

วันที่ 2 เม.ย. ปีที่แล้วเค้าช์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในรัฐเท็กซัสไม่กี่วันก่อนที่เขาจะอายุ 21 ปี โดยยังต้องสวมกำไลติดจีพีเอสที่ข้อเท้าและติดสติ๊กเกอร์ตรวจสอบการใช้สารเสพติด ห้ามออกจากบ้านหลัง 21.00 น. รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ล็อคการสตาร์ทรถยนต์ ที่ผู้ขับขี่ต้องเป่าลมหายใจเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนสตาร์ทเครื่อง (IID) ตามข้อกำหนดในทัณฑ์บน

อย่างไรก็ดี กลุ่มต่อต้านพฤติกรรมเมาแล้วขับ Mothers Against Drunk Driving ตราหน้าการรับโทษในเรือนจำเพียงเวลาสั้นๆ ของเค้าช์ว่าเป็นความอยุติธรรมต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียเพียงเพราะพฤติกรรมเมาแล้วขับของคนคนเดียว