posttoday

มุมมองต่างชาติ: เงินบาทแข็งคนไทยได้ หรือจะเสียหายทั้งประเทศ?

10 กรกฎาคม 2562

เมื่อเงินบาทจะออกไปแตะขอบฟ้า ทำให้เกิดวิวาทะขึ้นมาว่าค่าเงินแข็งเป็นคุณหรือเป็นโทษ



นับตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงทั่งปีนี้ เงินบาทของไทยแข็งค่าที่สุดสกุลหนึ่งในเอเชีย และเป็นสกุลเงินที่ตกเป็นเป้าหมายการลงทุนระยะสั้นในช่วงที่เกิดความผันผวนของเงินเหรียญสหรัฐและสถานการณ์โลก ยิ่งทำให้เงินบาทแข็งขึ้นไปอีก จนถูกเรียกว่าเป็น best-performing currency หรือสกุลเงินที่มีภาพรวมที่สุด

แต่คำว่า best-performing ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องดีไปเสียทั้งหมด

ค่าเงินที่แข็งขึ้นไม่ใช่ผลดีต่อประเทศเสมอไป และในสายตาของนักวิเคราะห์ สื่อมวลชน และนักลงทุนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนดูจะเป็นโทษต่อประเทศไทยเสียมากกว่า

ตามหลักการเศรษฐศษสตร์พื้นฐาน เมื่อค่าเงินแข็งขึ้น การนำเข้าจะมีราคาถูกลง สินค้าที่สั่งมาจากต่างประเทศจะมีราคาถูก และทำให้ราคาสินค้าในประเทศมีแนวโน้มถูกลง และตัวเลขเงินเฟ้อลดลง แต่สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศ จะต้องจ่ายสินค้าและบริการแพงขึ้น

ผลกระทบร้ายแรงของค่าเงินที่แข็งขึ้นคือ สินค้าส่งออกจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง และจะส่งผลต่อตัวเลข GDP ในที่สุด นอกจากนี้ ยังจะลดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะค่าเงินที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนแพงขึ้นตามไปด้วย โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการส่งออกสูงถึง 67%  การแข็งค่าของเงินบาทจึงไม่ถือเป็นเรื่องดี

คราวนี้มาดูทัศนะของชาวต่างชาติสาขาต่างๆ ต่อปรากฎการณ์การแข่งค่าของเงินบาท

ผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งตอนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว คือตัวเลขส่งออกที่ลดลง ทำให้ต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP และล่าสุดคือการส่งออกข้าวได้รับผลกระทบแล้ว โดยครึ่งปีแรกส่งออกลดลงถึง 12%

ING ระบุในบันทึกทัศนะเกี่ยวกับเงินบาทว่า เห็นได้ชัดว่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะการเมืองภายในของไทยที่ทำให้เศรษฐกิจต้องชะงักมานานถึง 3 เดือนแล้วหลังจากการเลือกตั้ง บวกกับความต้องการในที่ซบเซา และสงครามการค้ากระทบภาคส่งออก

ข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence ระบุว่า ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวของชาวจีน) จำนวนชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยอาจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งขึ้น เงินหยวนอ่อนลง ทำให้ชาวจีนที่คิดมากเรื่องการใช้จ่ายต้องเลี่ยงการเดินทางมาไทย หรือถ้าเดินทางมาก็อาจใช้จ่ายลดลง

William Pesek ผู้สื่อข่าวชื่อเจ้าของรางวัลหนังสือยอดเยี่ยม กล่าวไว้ในบทความของ Nikkei Asian Review ชี้ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกกว่าการปฏิรูปของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาเชื่อว่าการผลักดันการพัฒนาในรัฐบาลนี้ช้าเกินไป และขาดความกระตือรือร้น แม้จะมีผลงานในด้านการรักษาดุลการชำระเงิน แต่ไม่สามารถผลักดันศักยภาพด้านการแข่งขันของไทยได้ ทั้งยังถดถอยลงด้วยซ้ำ

Pesek บอกว่า เงินบาทกำลังแซงหน้าการลงทุนและการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งการศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ อันจะช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

 

 

 

ภาพ Photo by Jewel SAMAD / AFP