posttoday

เปิดกลยุทธ์ฮ่องกง ประท้วงยังไงให้รัฐบาลยอมถอย

10 กรกฎาคม 2562

การประท้วงครั้งล่าสุดมีบทเรียนจากการประท้วงร่มเหลืองเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่แกนนำถูกรวบตัวไปหลายคน รอบนี้จึงสู้แบบไม่มีผู้นำ แต่มีระเบียบ

การประท้วงครั้งล่าสุดมีบทเรียนจากการประท้วงร่มเหลืองเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่แกนนำถูกรวบตัวไปหลายคน รอบนี้จึงสู้แบบไม่มีผู้นำ แต่มีระเบียบ

การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของชาวฮ่องกงเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ให้ส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี มีผู้เข้าร่วมราว 1 ล้านคน และลากยาวกว่า 3 เดือน ผลที่ตามมาคือ เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจ จนในที่สุดการชุมนุมก็สามารถกดดันให้รัฐบาลยอมถอยอย่างน้อยก็ในเบื้องต้น แคร์รี่ หลั่ม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประกาศว่าร่างกฎหมายดังกล่าว “ตาย” แล้ว ทว่า ไม่ยืนยันว่าจะถอนร่างกฎหมายจากการพิจารณาของสภาถาวรหรือไม่

แม้จะยังไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องได้ทั้งหมด ทว่า การประท้วงครั้งนี้ถือว่ามีพัฒนาการขึ้นมากจากการชุมนุมประท้วงร่มเหลืองเมื่อปี 2014 ประหนึ่งว่ามีการเตรียมการและซักซ้อมมาอย่างดี โดยมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจดังนี้

เปิดกลยุทธ์ฮ่องกง ประท้วงยังไงให้รัฐบาลยอมถอย โจชัว หว่อง Photo by Anthony WALLACE / AFP

ไม่มีผู้นำ

หลังจากความขัดแย้งภายในประเด็นผู้นำกลุ่มของการประท้วงร่มเหลืองเมื่อปี 2014 และการจับกุมคุมขังบรรดาแกนนำ การประท้วงต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงเน้นไปที่กลยุทธ์ “ไม่มีผู้นำ” แม้กลุ่มแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง (CHRF) จะเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ ขณะที่กลุ่ม Demosistō ที่นำโดย โจชัว หว่อง และกลุ่มที่หนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากจีนอย่าง Student Localism ของนักศึกษารุ่นใหม่ มีส่วนในการเรียกระดมพลเข้าร่วมการประท้วง แต่ครั้งนี้กลับไม่มีกลุ่มไหนอ้างการเป็นผู้นำการประท้วง ส่วนสมาชิกสภาที่หนุนประชาธิปไตยที่ปรากฏตัวก็ไม่ได้มีบทบาทมาก แต่กลับไม่มีความโกลาหลเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประท้วง

นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังเตรียมการอย่างเป็นระบบคือ เตรียมอาหารและน้ำดื่ม จัดตั้งหน่วยปฐมพยาบาล และมีการสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้ช่วยให้การประท้วงมีความยืดหยุ่น และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงตัวแกนนำที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองได้

เปิดกลยุทธ์ฮ่องกง ประท้วงยังไงให้รัฐบาลยอมถอย กลุ่มผู้ประท้วงทุบทำลายประตูหน้าต่างของอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 22 ปี ที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีน Photo by Anthony WALLACE / AFP

ยืดหยุ่นและใช้หลากหลายกลยุทธ์

ผู้ประท้วงนำปรัชญา “เคลื่อนไหวแบบสายน้ำ” ของตำนานบู๊ระห่ำ บรูซ ลี มาใช้ในการประท้วง ด้วยการกระจายกำลังเคลื่อนไหวไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างลื่นไหลเฉกเช่นสายน้ำ อาทิ การยกขบวนไปปิดล้อมศูนย์ราชการและสำนักงานตำรวจในวันที่ 21 มิ.ย. เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาล

นอกจากนี้ ยังยึดหลัก “ไม่แตกแยก” คือ หากไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นหรือวิธีการของผู้ประท้วงคนอื่นก็ไม่ต้องเข้าร่วม แต่ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์หรือขัดขวาง เพื่อรักษาความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้กำลังในการประท้วงครั้งนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความเห็นต่าง บางส่วนยืนยันให้ประท้วงโดยสงบ เพื่อให้ดูมีความชอบธรรมและอาจจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากนานาชาติ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าการประท้วงโดยสงบเมื่อครั้งการประท้วงร่มเหลืองไม่ได้ผล เชื่อว่าบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้กำลังมิเช่นนั้นรัฐบาลก็จะไม่สนใจเสียงเรียกร้องของผู้ประท้วงอีก หลักไม่แตกแยกจึงเป็นสะพานเชื่อมให้คนทั้งสองกลุ่มเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้กลุ่มบรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน

เคลื่อนไหวในโลกออนไลน์

ส่วนใหญ่ผู้ประท้วงจะใช้ช่องทางออนไลน์ อาทิ Telegram และ LIHKG หรือ Reddit เวอร์ชั่นของฮ่องกง ในการติดต่อสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการประท้วง เช่น ก่อกวนสถานีรถไฟใต้ดิน ทำมีมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากชุมชนออนไลน์เห็นด้วยกับไอเดียไหนจึงจะลงมือทำ ฟิลิป เหลียง นักศึกษาวัย 21 ปีที่เคลื่อนไหวใน LIHKG เผยว่า ผู้ประท้วงตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะเห็นด้วยกับความคิดเห็นของใคร โดยที่ไม่ต้องทราบว่าเจ้าของความคิดเป็นใคร เพราะจุดมุ่งหมายร่วมกันเพียงอย่างเดียวของผู้ประท้วงคือต่อต้านกฎหมาย ไม่ใช่การสร้างไอดอล ทำให้ต่อมาแอพพลิเคชั่น Telegram ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยภายหลัง ปาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้ง Telegram เผยว่าต้นทางของการโจมตีมาจากจีนและเกิดขึ้นในเวลาที่ประจวบเหมาะกับการประท้วงในฮ่องกงพอดิบพอดี

เปิดกลยุทธ์ฮ่องกง ประท้วงยังไงให้รัฐบาลยอมถอย

แคมเปญร้องเรียน

นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บรรดาโรงเรียนมัธยม ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มวิชาชีพต่างๆ กว่า 200 แห่งพากันเขียนข้อร้องเรียนต่อร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ ให้ถอนวีซ่าหรือสัญชาติเจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกงที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

โหมโฆษณา

เมื่อเดือนที่แล้วกลุ่มผู้ประท้วงได้จัดระดมเงินทุนในโลกออนไลน์เพื่อลงโฆษณาจดหมายเปิดผนึกในหนังสือพิมพ์ชื่อดัง อาทิ The New York Times ของสหรัฐ, The Guardian ของอังกฤษ, Japan Times ของญี่ปุ่น, Süddeutsche Zeitung ของเยอรมนี, Chosun Ilbo ของเกาหลีใต้ ก่อนการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้นานาชาติรับรู้และร้องขอให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซง เป้าหมายการระดมทุน 3 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราว 11.85 ล้านบาทบรรลุภายในไม่ถึง 4 ชั่วโมง และสามารถระดมเงินได้ 5.45 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราว 21.53 ล้านบาท ภายในไม่ถึง 6 ชั่วโมง

เปิดกลยุทธ์ฮ่องกง ประท้วงยังไงให้รัฐบาลยอมถอย ผู้ประท้วงปืนขึ้นไปบนนั่งร้านของอาคารแปซิฟิกเพลซในย่านควีนส์เบย์ก่อนกระโดดลงมาเสียชีวิต ภาพ : wikipedia

ฆ่าตัวตาย

มีผู้ประท้วงทั้งหมด 4 คนตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย พร้อมกับทิ้งจดหมายลาตายแสดงความสิ้นหวังในรัฐบาลที่ยืนกรานจะผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการฝากฝังให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ร่วมกันสู้ต่อไป รายหนึ่งถึงกับระบุว่าฮ่องกงต้องการการปฏิวัติ