posttoday

เลิกนั่งตบยุงในตลาด ดูตัวอย่างจีนปลูก/ส่ง/ขายในสังคมไร้ตลาด

02 กรกฎาคม 2562

ทำความรู้จักกับเหม่ยช่าย "ผักสวยๆ รวยพันล้าน" กิจการสตาร์ทอัพที่เชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับแหล่งผักสดโดยไม่ต้องรอตลาด

 

ขณะที่ผู้ค้าเมืองไทยบ่นเรื่องตลาดวาย ไม่มีคนเดินจนต้องนั่งตบยุง แต่ในประเทศทีค่การปฏิวัติดิจิทัลล้ำหน้า ตลาดที่เป็นตัวเป็นตนเริ่มไร้ความหมาย สินค้าและบริการถูกส่งผ่านจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง หรือผ่านจะผ่านบริษัทคนกลาง และถึงมือโดยเครือข่ายดิลิเวอรี่ จ่ายด้วยระบบไร้เงินสด

Digital disruption ไม่ได้เกิดกับการเสพคอนเทนต์หรือสื่อมวลชนเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นกับภาคการผลิตและการบริโภคด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือจีน

ประสบการณ์อีคอมเมิร์ซและสังคมไร้เงินสดของจีนมีเรื่องให้แบ่งปันกันได้ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับระบบ "ไร้ตลาด" ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ปลูก ผู้ขาย และผู้บริโภคโดยตรงกันก่อน

สตาร์ทอัพจีนสายไร้ตลาด ที่สื่อตะวันตกมักพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ เหม่ยช่าย (Meicai / 美菜) ธุรกิจขายผักที่มีมูลค่าตลาดถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขจาก Bloomberg) มีรายได้ 1,4000 ล้านเหรียญ สามารถระดมทุนรอบล่าสุดได้ถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2018 รวมแล้วระดมทุนได้ถึง 800 ล้านเหรียญแค่ตัวเลขเหล่านี้ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาไม่น้อยแล้ว

เลิกนั่งตบยุงในตลาด ดูตัวอย่างจีนปลูก/ส่ง/ขายในสังคมไร้ตลาด

เหม่ยช่ายเป็นสตาร์ทอัพสายเลือดปักกิ่ง แต่มีเป้าหมายครอบคลุมทั้งประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายผักให้กับร้านอาหารขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วแผ่นดินจีนโดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดอีกต่อไป

สำหรับคนจีนแล้ว “เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่” จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า “ใครทำให้คนจีนท้องอิ่มได้ คนนั้นสามารถครองแผ่นดิน” ดังนั้น ธุรกิจเกี่ยวกับของกินจึงไม่เคยอับจน แต่มันอาจจะไม่นำเทรนด์ เพราะเป็นเรื่องของปัจจัยสี่ เว้นแต่ว่าเจ้าของสตาร์ทอัพจะมีความคิดสร้างสรรค์และความฝันที่กว้างไกลเหมือนเจ้าของเหม่ยช่าย

หลิวฉวนจวิน วัย 36 ปี เป็นลูกชายของเกษตรกรชาวมณฑลชานตง ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะไม่ได้ลืมตามาดูโลก เพราะพ่อแม่ของเขามีลูกเกิน 2 คน ขัดต่อนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาล แม่ของเขาจึงถูกบังคับให้ทำแท้ง แต่เดชะบุญที่ทารกน้อยเกิดมากลางคัน ก่อนที่จะเข้ากระบวนการทำแท้ง ประสบการณ์เฉียดตายตั้งแต่ยังไม่ทันได้เกิดกระมัง จึงทำให้ หลิว ไม่ยอมเสียโอกาสอันมีค่าในชีวิต

เลิกนั่งตบยุงในตลาด ดูตัวอย่างจีนปลูก/ส่ง/ขายในสังคมไร้ตลาด

พ่อแม่ของ หลิว ก็คงรู้สึกว่าการไม่ทำแท้งลูกคนนี้เป็นอะไรที่เฮงมากๆ เพราะเมื่อเติบโตขึ้นมา ลูกชายกลายเป็นเด็กที่เรียนเก่ง สมองปราดเปรื่องถึงขนาดสำเร็จการศึกษาด้านอากาศยานอวกาศและดาราศาสตร์ ในระดับปริญญาโท จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเคยทำวิจัยเกี่ยวกับจรวดเสินโจว 6 และ 7 เรียกได้ว่า มีดีกรีพร้อมสรรพสำหรับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับมันสมองของวงการอวกาศจีน

แต่ หลิว เลือกที่จะเดินในเส้นทางที่ตัวเองเลือกมากกว่า เขาหันมาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซและตั้งเว็บไซต์สำหรับซื้อขายที่ชื่อ Wowo หรือ 55tuan ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็กของสหรัฐ แต่ขายไปในปี 2011 เพื่อโฟกัสกับเหม่ยช่าย

อะไรดลใจให้เขาเปลี่ยนจากการตะกายดาวมาเป็นการขุดดินกินผัก?

อาจเป็นเพราะว่าพื้นเพของครอบครัวเป็นเกษตรกรมาแต่ไหนแต่ไร ตอนที่เขาได้ดิบได้ดีแล้วพ่อแม่ที่บ้านเกิดก็ยังต้องทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินกันอยู่ ส่วน หลิว เองก็บอกกับนิตยสาร WIRED ว่า เขามีความผูกพันกับการทำนาทำไร่ที่บ้านเกิด และนี่เองอาจเป็นเหตุให้เขาหันมาทำกิจการด้านนี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขารักนั่นเอง

เลิกนั่งตบยุงในตลาด ดูตัวอย่างจีนปลูก/ส่ง/ขายในสังคมไร้ตลาด

หลักการแบบคร่าวๆ ของเหม่ยช่าย คือการทำหน้าที่เป็นคนกลางซื้อขายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกผักกับร้านอาหาร เขาโฆษณาว่าสามารถลดรายจ่ายไปได้ถึง 36% โดยมีตัวเลือกสินค้ามากมายนับหมื่นประเภท สามารถซื้อขายผ่านระบบเงินออนไลน์ของอาลีเพย์หรือวีแชท ปัจจุบันครอบคลุม 100 เมืองทั่วประเทศ ที่สำคัญรับประกันเรื่องความสะอาด

เช่นเดียวกับธุรกิจหลายๆ แห่งในแดนมังกรตอนนี้ ที่ผูกกิจการเข้ากับเครือข่ายออนไลน์และธุรกรรมไร้เงินสด เหม่ยช่ายทำธุรกิจและธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น เพียงแค่คลิกนิ้ว สินค้า (ซึ่งก็คือผักต่างๆ) จะไปถึงลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพราะมีบริการส่งสินค้าตลอดเวลา ส่วนเหม่ยช่ายก็ไม่ต้องเสียเวลาเคลมเงิน เพราะทำทุกอย่างผ่านระบบไร้เงินสด

ปัจจุบันเหม่ยช่ายเป็นธุรกิจค้าผักสดและผลิตภัณฑ์เกษตรผ่านระบบอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีน เป้าหมายของพวกเขาคือ การเปลี่ยนระบบเกษตรพาณิชย์ที่ล้าหลังของประเทศให้มีความก้าวหน้า ด้วยหลักการสั้นๆ แต่ครอบคลุมทุกมิติของบริการว่า

“สองปลายทางหนึ่งคู่ หนึ่งแพลตฟอร์ม” (เหลี่ยง ตวน อี เลี่ยน อี้ ผิงไถ) สองปลายทาง หมายถึงเกษตรกรกับผู้บริโภค ส่วนแพลตฟอร์ม หมายถึงเหม่ยช่ายนั่นเอง

เลิกนั่งตบยุงในตลาด ดูตัวอย่างจีนปลูก/ส่ง/ขายในสังคมไร้ตลาด

นิตยสาร WIRED ตั้งข้อสังเกตได้อย่างคมคายว่า เหม่ยช่ายได้บรรลุวัตถุประสงค์ของ เหมาเจ๋อตง ในการสร้างระบบคอมมูน หรือระบบนารวมที่สมบูรณ์พร้อมแล้ว ด้วยการสร้างเครือข่ายคนปลูก คนขาย และคนซื้ออย่างครบวงจรและสมเหตุสมผล ขณะที่ เหมาเจ๋อตง บริหารนโยบายนารวมผิดพลาดจนมีคนล้มตายนับล้าน

ส่วนเหม่ยช่ายกลับทำให้เกษตรกรมีกินมีใช้ ไม่ต้องกังวลกับราคาพืชผลตกต่ำและพื้นที่ตลาด ส่วนคนซื้อก็ไม่ต้องเสียเวลาไปตลาด หรือกังวลจะหาซื้อสินค้าไม่ได้ แถมยังก้าวไกลด้วยวิถีแห่งสังคมไร้เงินสด

แต่ตลาดออนไลน์ที่ไม่ต้องมานั่งตบยุงนี้กำลังเป็นสนามการแข่งขันที่ดุเดือดมาก เพราะมันช่างหอมหวนด้วยเม็ดเงินหลายพันล้าน ทำให้ตอนนี้เหม่ยช่ายมีคู่แข่งขึ้นมาแล้ว และเป็นคู่แข่งที่ทรงอิทธิพลมาก

ในโอกาสต่อไปเราจะมาทำความรู้จักกับคู่แข่งสำคัญในสังคมไร้ตลาดของจีน