posttoday

นักฆ่าประชานิยม ผู้ที่โลกฝากความหวังให้กอบกู้เวเนซุเอลา

01 กรกฎาคม 2562

โลเรนโซ เมนโดซา เป็นหนึ่งในบุคคลที่ฝ่ายประชาธิปไตยฝากความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะช่วยฟื้นฟูเวเนซุเอลาให้พ้นจากนรกบนดิน

 

นิตยสาร Americas Quarterly เรียกเขาว่าเป็น "กัปตันแห่งอุตสาหกรรม" (The Captain of Industry) เป็นหนึ่งใน 10 คนที่ฝ่ายประชาธิปไตยฝากความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะช่วยฟื้นฟูเวเนซุเอลาให้พ้นจากนรกบนดิน จากสารพันปัญหาที่เกิดจากวิกฤตการเมือง และอภิมหาเงินเฟ้อจนดำรงชีวิตกันไม่ได้

เขาผู้นี้คือ โลเรนโซ เมนโดซา ผู้ท้าชนกับระบอบประชานิยม หรือถ้าพูดให้จำเพาะเจาะจงคือ ‘ระบอบชาเบซ’ ที่สืบทอดโดยผู้นำคนปัจจุบัน เป็นระบอบที่ทำให้เวเนซุเอลาจมปลักจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งลาตินอเมริกา และเคยมีพลังชี้นำราคาน้ำมันโลกมาก่อน

เป็นเวลานานถึง 20 ปีที่เวเนซุเอลา อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยมตามนโยบายของอดีตประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ ซึ่งแม้เขาผู้นี้จะลาโลกไปแล้ว แต่ทายาททางการเมืองยังคงสานต่อแนวทางสังคมนิยมอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการยึดกิจการใหญ่ๆ มาเป็นของรัฐ หรือการบั่นทอนอิทธิพลภาคธุรกิจอย่างหนัก เพื่อสร้างสังคมเสมอภาคและกินดีอยู่ดีในประเทศ

แน่นอนว่านโยบายสังคมนิยมย่อมสร้างความลำบากให้กับนักธุรกิจอย่างมาก แม้แต่มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่างโลเรนโซ เมนโดซาก็ยังไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ทว่า นักธุรกิจใหญ่วัย 53 ปีผู้นี้ ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างอย่างเดียว ตรงกันข้ามเขาผู้นี้พยายามต่อกรกับรัฐบาลมาโดยตลอด จนได้รับการวางตัวให้เป็นความหวังของภาคธุรกิจ ว่าจะเป็นผู้ที่นำเวเนซุเอลากลับคืนสู่ยุคเศรษฐกิจเสรีอีกครั้ง

เขาผู้นี้จึงถูกเรียกขานว่าเป็น “ความหวังแห่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายรัฐที่เน้น “ฮุบกิจการของเอกชนมาเป็นรัฐวิสาหกิจ”

เมนโดซาเป็นเจ้าของ Empresas Polar หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลา และเป็นผู้กุมความเคลื่อนไหวและความเป็นไปในตลาดอาหารของประเทศ โดยมีรายได้เมื่อปี 2011 สูงถึง 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเจ้าของบริษัทมีทรัพย์สินสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เคยเป็นถึงบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ แต่วันนี้ทรัพย์สินของเขาเหลืออยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Forbes ที่อัพเดตล่าสุดปี 2016)

ในฐานะที่เป็นธงนำของภาคเอกชน เมนโดซาจึงตกเป็นเป้าโจมตีจากรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตประธานาธิบดีชาเบซ มักถล่มอีกฝ่ายด้วยวาจาเสมอระหว่างการแถลงข่าว ขณะที่เมนโดซาเองก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายควบคุมราคาอาหารของรัฐบาลไม่หยุดหย่อนเช่นกัน เพราะธุรกิจของเขาถูกรัฐบาลยึดไปบางส่วนตามนโยบายยึดกิจการเอกชนเป็นของรัฐ และโครงการเพื่อสังคมตามแนวประชานิยม

ขณะที่เมนโดซามีบริษัท Empresas Polar ผลิตอาหารตามกลไกตลาด รัฐบาลระบอบชาเวซก็โครงการ Mission Mercal คอยแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนตามระบอบประชานิยม โดยให้บริการอาหารราคาถูกที่รัฐบาลอุดหนุนราคาให้ต่ำลง จัดจำหน่ายตามร้านค้าของรัฐทั่วประเทศ

ข้อดีของโครงการอุดหนุนสินค้าราคาถูกคือ ประชาชนที่ยากจนหลายล้านได้มีโอกาสเข้าถึงอาหาร แต่ข้อเสียของมันคือระบอบประชานิยมพึ่งพาเงินของรัฐบาลมากเกินไป โดยที่รายได้จากรัฐต้องพึ่งพาการขายน้ำมันเป็นหลัก เพื่อราคาน้ำมันตกลง เวเนซุเอลาจึงตกอยู่ในวิกฤตไปด้วย

ในสายตาของคนชอบสังคมนิยม-ประชานิยม ธุรกิจของเมนโดซาคือผู้ร้ายดีๆ นี่เอง เพราะผลิตสินค้าขายและเป็นผู้กุมอุปสงค์ของอาหารในตลาด แต่ในสายตาของคนที่กลัวระบอบประชานิยม เมนโดซาคือคนที่พึงปรารถนาเพราะมีประสบการณ์การบริหารบริษัทอาหารอันยาวนาน

ทันทีที่ นิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนใหม่และทายาททางการเมืองของชาเบซก้าวขึ้นมาดำรงตำแแหน่งผู้นำประเทศได้ไม่นาน เขาก็เปิดฉากโจมตีเมนโดซา โดยกล่าวหาว่าบริษัท Empresas Polar ชะลอการผลิตอาหาร จนทำให้ประชาชนอดอยากปากแห้งไปตามๆ กัน

ฝ่ายมหาเศรษฐีผู้ห้าวหาญตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง ตรงกันข้ามบริษัทของเขาผลิตอาหารเพิ่มขึ้นถึง 10% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2013 อีกทั้งยังเอื้อเฟื้อแก่รัฐบาลด้วยการเสนอซื้อหรือเช่าโรงสีเพื่อเร่งผลิตอาหารป้อนพี่น้องร่วมชาติเสียด้วยซ้ำ

ข้อเสนอดังกล่าวของเมนโดซาไม่ธรรมดา เพราะเป็นการท้าทายให้รัฐบาลเปิดเสรีเศรษฐกิจ และยุติการยึดกิจการบางประเภทเป็นของรัฐ

ถ้ามองในมุมของนักธุรกิจ เขาก็มีเหตุผลที่จะต้องต่อต้านรัฐบาล เพราะในปี 2009 กิจการของเขาถูกชาเบซยึดไปบางส่วน ที่ยึดไปก็เพื่อหวังที่จะใช้ทรัพย์สินของเอกชนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ ช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งชาเบซและมาดูโรล้มเหลว และนโยบายยึดทรัพย์เอกชนกลายเป็นวิกฤตที่บั่นทอนกลไกเศรษฐกิจที่ยากจะเยียวยา

ในมุมมองของใครหลายคน เมนโดซาอาจเป็นนักธุรกิจหัวแข็งที่ไม่ยอมยืดหยุ่น แม้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาผู้นี้ทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในประเทศ ด้วยการตั้งมูลนิธิ Empresas Polar Foundation ซึ่งถือเป็นองค์กรเพื่อการกุศลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเวเนซุเอลา เน้นความช่วยเหลือสังคมในด้านปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก ปัญหาสุขภาพ และการศึกษาในประเทศ

วิกฤตอาหารเริ่มรุนแรงขึ้นในรัฐบาลมาดูโร เพราะระบอบชาเบซเน้นใช้เงินรัฐ แต่ไม่รู้จักบริหารการคลังเพื่อรองรับกับวิกฤตเศรษฐกิจ นี่คือข้อเสียของการให้นักการเมืองที่ไร้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาทำการทดลองเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ และจากการศึกษาพบว่า มีชาวเวเนซุเอลาเพียง 10% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการประชานิยม แถมครึ่งหนึ่งของ 10% นี้ยังไม่ใช่คนจนด้วย (อ้างจาก Volver a ser pobre en Venezuela ใน El Pais)

เมื่อวิกฤตในเวเนซุเอลาหนักข้อขึ้น ประชาชนก็เริ่มหมดศรัทธาในนักการเมือง พวกเขาเริ่มเรียกร้องให้นักธุรกิจผู้นี้มาช่วยกอบกู้ประเทศ โดยในปี 2018 มีเสียงเรียกร้องให้เมนโดซาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เขาไม่ยอมรับ และปล่อยให้นักการเมืองละลงปัญหากันไปตามสบาย ผลก็คือประเทศยิ่งถลำลึกเข้าสู่วิกฤตในทุกๆ ด้าน และคู่เผชิญหน้าเปลี่ยนจากระบอบชาเบซ (ที่นำโดยมาดูโร) มาเป็นระบอบเสรีนิยม (ที่นำโดยฮวน กวัยโด)

โลเรนโซ เมนโดซา อาจจะไม่ได้ทำตัวแบบนั่งบนภูดูเสือกัดกัน แต่การเมินเฉยการเมืองจนน่าประหลาดของเขาทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บางทีเขาอาจรอเวลาที่คู่เผชิญหน้าหมดแรงก่อน แล้วค่อยชิงความได้เปรียบก็เป็นได้

ภาพจาก World Economic Forum