posttoday

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า

11 มิถุนายน 2562

คำไว้อาลัยพลเอกเปรมกลายเป็นวิวาทะเรื่องไทยกับเขมรแดงและการรุกรานของเวียดนาม

โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีดราม่าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเกิดขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง แห่งสิงคโปร์มีถ้อยแถลงใน Facebook ส่วนตัวแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพลเอกเปรม โดยกล่าวว่า

"พลเอกเปรมมีความแน่วแน่ที่จะไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (การรุกรานของเวียดนาม) และทำงานร่วมกับพันธมิตรอาเซียนในเวทีสากล เพื่อต่อต้านการยึดครองของเวียดนาม" และกล่าวว่า "นี่เป็นการป้องกันการรุกรานทางทหาร และการสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การกระทำนั้น (ของพลเอกเปรม) ช่วยปกป้องความมั่นคงของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำหนดทิศทางที่ชัดเจนทางของภูมิภาคนี้"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชาแสดงจุดยืนคัดค้านถ้อยคำของผู้นำสิงคโปร์อย่างรุนแรง โดยโจมตีว่า ลีเซียนลุงสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา และหวังที่จะให้เขมรแดงกลับคืนมาปกครองกัมพูชา และฮุน เซน ยังกล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าสิงคโปร์นั้น "ที่จริงแล้วมีส่วนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา"

ทำไมฮุนเ เซน ถึงตอบโต้รุนแรงถึงขนาดนั้น?

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นการพาดพิงถึงการรุกรานกัมพูชาของกองทัพเวียดนาม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และในที่สุดก็สามารถยึดครองกัมพูชาได้ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ผลักดันรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของฝ่ายเขมรแดง ให้ถอยร่นมายังชายแดนไทย

ความพ่ายแพ้ของฝ่ายเขมรแดง ถือเป็นการสิ้นสุดยุคแห่งนรกบนดิน ซึ่งชาวกัมพูชาต้องถูกสังหารและล้มตายลงจากการถูกเกณฑ์มาทำนารวมถึงกว่า 2 ล้านคน จนกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติยุคใหม่ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งจะมองว่า การยกทัพเข้ามาในกัมพูชาของเวียดนามไม่ใช่การรุกราน แต่เป็นการปลดปล่อยชาวกัมพูชาจากนรกของเขมรแดง

อย่างไรก็ตาม เวียดนามไม่ได้มีเจตนาที่จะปลดปล่อยชาวกัมพูชา และการ "รุกราน" ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างเขมรแดงและคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งต่างก็เป็นสหายร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และเวียดนามเหนือเคยช่วยเขมรแดงชิงอำนาจมาก่อน จึงกล่าวได้ว่า เวียดนามมีส่วนสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน (ตามตรรกะของฮุน เซน)

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า ชาวกัมพูชาถูกเขมรแดงขับไล่จากกรุงพนมเปญ AFP PHOTO / FILES / Agence Khmere de Presse

สงครามระหว่างเขมรแดง-เวียดนาม เป็นผลมาจากความขัดแย้งระดับมหภาคระหว่างพี่ใหญ่ของคอมมิวนิวนิสต์ 2 ประเทศคือจีนและสหภาพโซเวียต ซึ่งแตกคอกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 โดยจีนให้การสนับสนุนเขมรแดง ส่วนโซเวียตสนับสนุนเวียดนาม

ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งระหว่างพี่ใหญ่จะลามมาถึงลูกน้อง เวียดนามเคยให้การสนับสนุนเขมรแดงในการยึดครองกัมพูชา เพราะหวังว่าเมื่อเขมรแดงยึกประเทศได้แล้วจะยอมเป็นลูกไล่เวียดนาม ซึ่งเรื่องนี้เขมรแดงก็ทราบดี และเขมรแดงระแวงว่าเวียดนามแสดงอาการกระหายอำนาจ อยากจะเป็นผู้นำในการสถาปนาสหพันธรัฐคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่มีตัวเองเป็นโต้โผ และผู้นำเหนือกัมพูชาและลาวเสียเอง (Farrel, p. 195)

ทั้ง 2 ฝ่ายแตกหักกันครั้งแรก เขมรแดงลงนามในสนธิสัญญาเป็นไมตรีกับจีนเมื่อปี 2517 เวียดนามเหนือกับเขมรแดงก็เริ่มการปะทะกันมาประปรายมาตั้งแต่บัดนั้น และปะทะกันอย่างเต็มที่ หลังจากที่เขมรแดงยึดพนมเปญได้ ก็สั่งขับไล่เจ้าหน้าที่เวียดนามที่เคยรบและช่วยเหลือกันมาก่อน ขณะเดียวกันเมื่อเวียดนามเหนือยึดไซ่ง่อนได้ เขมรแดงก็ส่งทหารไปยึดเกาะฝูกว๊อกของเวียดนาม หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายพยายามที่จะไกล่เกลี่ยความบาดหมาง

แต่ก็ทำหน้าชื่นตาบานได้ไม่นาน ทั้ง 2 ฝ่ายก็เผชิญหน้ากันอีก คราวนี้กลายเป็นสงครามเต็มตัว เมื่อเขมรแดงส่งกำลังรุกรานจังหวัดอานซาง ฆ่าประชาชนเวียดนามไปหลายร้อยคน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2520 เวียดนามเสนอที่จะเจรจาด้วย แต่เขมรแดงกลับรุกเข้าก่อเหตุอีก วันที่ 16 ธันวาคม 2520 เวียดนามจึงส่งกำลังรุกรานกัมพูชาอย่างเต็มรูปแบบ และเขมรแดงพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วจนต้องถอยร่นไปพร้อมๆ กับผู้อพยพนับล้านคน

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า เอียง ซารีกับเอียง ธิริทธ์ ภรรยา 2 แกนนำเขมรแดง AFP PHOTO / FILES / Khem Sovannara

ศึกครั้งนี้จึงเป็นความแตกแยกภายในประเทศหลังม่านเหล็กด้วยกันเอง แล้วไทยไปเกี่ยวอะไรด้วย?

หลังจากเวียดนามรุกรานกัมพูชา เขมรแดงได้ถอยร่นมาประชิดชายแดนไทย และยังแทรกซึมเข้าในเขตประเทศไทยพร้อมๆ กับผู้อพยพชาวกัมพูชา มีรายงานของต่างประเทศระบุว่า รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือเขมรแดงโดยให้ที่พักพิงที่ศูนย์ผู้อพยพเขาล้าน จังหวัดตราด (Martin, p. 216) นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเรียกร้องให้เวียดนามถอนกำลังออกจากกัมพูชาในทันที ส่วนสมาชิกอาเซียนยังลังเลกับการแสดงจุดยืน มีเพียงสิงคโปร์ที่สนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียแสดงท่าทีลังเล เพราะเห็นใจเวียดนามที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเอง

ในที่สุดเวียดนามก็เคลื่อนกำลังพลมาประชิดชายแดนไทย และล้ำเข้าสู่แดนของไทยจนเกิดการปะทะกัน นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยหวุดหวิดที่จะเผชิญกับสงครามครั้งใหญ่

ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี การรุกรานได้เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ต้องต้านการรุกรานของเวียดนาม แต่ยังต้องเดินเกมทางการทูตเพื่อให้ประชาชาติอาเซียนคล้อยตามกับไทยเพื่อประสานเสียงต่อท่าทีก้าวร้าวของเวียดนาม และในที่สุดไทยก็ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาคมโลกประณามเวียดนามในฐานะผู้รุกราน และรัฐบาลหุ่นของเวียดนามไม่ได้รับการรอบรองโดยสหประชาชาติ

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า นวน เจีย หนึ่งในแกนนำเขมรแดง Photo by Mark Peters / Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia / AFP

คำถามก็คือไทยสนับสนุนเขมรแดงหรือไม่?

เดือนมกราคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอย่างลับๆ ที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือะหว่าง 2 ประเทศ ผลก็คือฝ่ายจีนจะยุติความช่วยเหลือที่ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามของรัฐบาลไทยมายาวนาน ขณะเดียวกันฝ่ายไทยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยสนับสนุนเขมรแดง โดยเฉพาะอาวุธที่ส่งมาจากจีน (International Business Publications p. 204)

ความเกี่ยวโยงของไทยกับเขมรแดง ซึ่งเป็นอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา ถือเป็นความด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ไทยที่น้อยคนนักจะพูดถึง อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าไทยใช้เขมรแดงเป็นแนวป้องกันการรุกรานของเวียดนาม แต่ไม่ได้สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร อีกทั้งช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจนั้นท่าทีของรัฐบาลไทยเป็นไปในทางต่อต้านเขมรแดงในฐานะคอมมิวนิสต์ และมีท่าทีต่อเขมรแดงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในช่วง 6 ตุลาคม 2519 (Cook p. 73 - 74)

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า ชาวกัมพูชาเคารพศพผู้เสียชีวิตในทุ่งสังหารของเขมรแดง Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

แต่หลังจากที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาแล้ว และเคลื่อนกำลังมาใกล้ชายแดนไทยจึงสนับสนุนเขมรแดง แต่ไม่เฉพาะกลุ่มนี้ ไทยยังสนับสนุนเขมรฝ่ายอื่นๆ ที่ต่อต้านการรุกรานของเวียดนามด้วย กลายเป็นแนวร่วมประเภท "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" นั่นคือรัฏฐาภิบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย หรือแนวร่วมเขมรสามฝ่าย ภายใต้การนำของเขียว สัมพันและพล พต แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรของซอนซาน และพรรคฟุนซินเปกของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งตอนแรกกลุ่มของซอนซานปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะเขามีท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเขมรแดงเข่นฆ่าประชาชนกัมพูชาไปมากมาย

ความกังวลถึงท่าทีก้าวร้าวของเวียดนามไม่เพียงกระตุ้นให้รัฐบาลไทยต้องช่วยเขมรแดง และเป็นโต้โผจัดตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่าเท่านั้น แต่สาธารณชนไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักศึกษา ประชาชนแสดงท่าทีต่อต้านเวียดนามอย่างรุนแรง และการรุกรานและความทะเยอทะยานของเวียดนาม คือเหตุผลที่ทำให้ไทยต้องร่วมสังฆกรรมกับเขมรแดง เช่นเดียวกับอดีตศัตรูเขมรแดงอย่างซอนซาน หรือแม้แต่รัฐบาลสหรัฐ

ดังนั้น ไทยกับเขมรแดงและการรุกรานของเวียดนามจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก แต่ไม่วายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองในบางครั้ง

เมื่อเดือนมกราคม 2538 ฮุน เซน เสนอให้นำตัวผู้สนับสนุนเขมรแดงมารับการพิจารณาคดีด้วย ทำให้นายกรัฐมนตรีไทยในเวลานั้น คือนายชวน หลีกภัย ต้องกล่าวว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขมรแดง และไม่เห็นด้วยการกับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และย้ำว่าการพิจารณาคดีเขมรแดงเป็นเรื่องภายในของกัมพูชา (Cook p. 73)

ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า ภาพถ่ายของนักโทษที่ตกเป็นเหยื่อเขมรแดง ในคุกต็วลสเลง ภาพถ่ายโดย Dudva

อีกคำถามสำคัญคือทำไม ฮุน เซน จึงต้องปกป้องเวียดนาม?

ฮุน เซน เคยเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยกองทัพภาคตะวันตกของเขมรแดง แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งในเขมรแดง ฮุน เซนกับพวกจึงหันไปพึ่งเวียดนาม และร่วมกับเวียดนามในการรุกรานกัมพูชา เมื่อเขมรแดงแตกพ่ายไปแล้ว เวียดนามตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาคือ สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา (PRK) โดยมีฮุน เซน เป็นรองนายกรัฐมนตรี และต่อมาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนจึงถูกมองว่าเป็นใหญ่ขึ้นมาได้ก็เพราะเวียดนามหนุนหลัง

แม้ว่า ฮุน เซน จะโจมตีสิงค์โปร์ว่าสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะเข้าข้างเขมรแดง แต่ฮุน เซน คงจะลืมไปว่าตัวเขาเองเคยเป็นเขมรแดงมาก่อน และเวียดนามที่ช่วยเขามีอำนาจขึ้นมาได้นั้นก็เคยสนับสนุนเขมรแดงเช่นกัน และสาเหตุของการรุกรานกัมพูชาไม่ใช่การปลดปล่อย แต่เป็นตอบโต้เขมรแดง และตอกย้ำว่าเวียดนามมีท่าทีอยากจะเป็นเจ้าผู้ปกครองอินโดจีน

จนทุกวันนี้ ชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อย รวมถึงแกนนำพรรคฝ่ายค้านก็ยังมองฮุน เซน ว่าเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม

Sophal Ear ปัญญาชนชาวกัมพูชา ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งสถาบัน Occidental College ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กล่าวกับ South China Morning Post ว่า คำแถลงของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มีความถูกต้องในด้านข้อเท็จจริง แต่รัฐบาลกัมพูชาต้องการจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ และต้องการให้ทุกคนที่ต่อต้านรัฐบาลหุ่นของเวียดนามต้องขอโทษ เพราะใครก็ตามที่ต่อต้านรัฐบาลนี้จะถูกใส่ไคล้ว่าเป็นพวกสนับสนุนเขมรแดง

"ไร้สาระน่า เวียดนามรุกรานกัมพูชาจริงๆ" Sophal Ear บอก


อ้างอิง

Cook, Susan E. (2005). Genocide in Cambodia And Rwanda: New Perspectives. Transaction Publishers.

International Business Publications (2009). Thailand Army Weapon Systems Handbook, Vol. 1. International Business Publications.

Martin, Marie A. (1994). Cambodia: A Shattered Society. Berkeley: California University Press.

Farrell, Epsey C. (1998). The Socialist Republic of Vietnam and the Law of the Sea: An Analysis of Vietnamese Behaviour within the Emerging International Oceans Regime. The Hague: Kluwer Law International.

Dewey Sim (6 Jun, 2019) "Hun Sen accuses Singapore PM Lee Hsien Loong of ‘supporting genocide’ as war of words over Cambodia’s Khmer Rouge-era escalates" South China Morning Post. https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3013336/did-vietnam-invade-cambodia-or-save-it-singapore-pm-lee-hsien