posttoday

เทเรซา เมย์ ลาออกจากนายกฯอังกฤษ

24 พฤษภาคม 2562

นางเทเรซา เมย์ แถลงทั้งน้ำตา ทิ้งเก้าอี้นายกอังกฤษ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเบร็กซิต

นางเทเรซา เมย์ แถลงทั้งน้ำตา ทิ้งเก้าอี้นายกอังกฤษ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเบร็กซิต

นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษแล้ว หลังจากเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2016 และนับเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ

นางเมย์กล่าวในการแถลงข่าวด้านหน้าทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งความตอนหนึ่งว่า

"เพราะประเทศนี้คือสหภาพ ไม่ใช่แค่ครอบครัวของรัฐบาลสี่ชาติ แต่เป็นสหราชอาณาจักรของพวกเราทุกคน ไม่ว่าพื้นหลังของเราจะเป็นอย่างไร และแม้การเมืองของเราจะอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่ก็มีหลายสิ่งที่ดีและน่าภูมิใจในประเทศนี้ ...ดิฉันขอลาออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรติในชีวิต นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศ และจะไม่ใช่คนสุดท้าย การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันไม่ได้มุ่งร้าย และเต็มไปด้วยสำนึกดี เพื่อได้มีโอกาสตอบแทนประเทศชาติที่ดิฉันรัก" เธอกล่าวตอนสุดท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

 

การลาออกของนางเมย์ครั้งนี้มีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรปในอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งตรงกับช่วงระยะเวลา 4 วันในระหว่างวันที่ 23-26 พ.ค. ของการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาอียูของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

อังกฤษแม้จะยังอยู่ในกระบวนการเบร็กซิตแต่ รัฐบาลของนางเมย์ก็ไม่สามารถผ่านร่างแผนเบร็กซิตแบบมีข้อตกลงตามที่เธอต้องการได้ อังกฤษจึงจำเป็นต้องเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวน 73 ที่นั่ง แต่รัฐบาลอังกฤษระบุว่า จะไม่ทำหน้าที่สมาชิกสภา หากอังกฤษสามารถบรรลุแผนถอนตัวจาก EU ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

เทเรซา เมย์ ลาออกจากนายกฯอังกฤษ

 

นางเมย์ระบุว่า เธอจะลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในวันที่ 7 มิถุนายน และระหว่างนี้จะยังคงทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจนกว่าการคัดเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมจะเสร็จสิ้นในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนี้ รวมถึงเธอจะยังคงทำหน้าที่ต้อนรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีกำหนดเดินทางเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ ส่วนกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะตามมาหลังจากการเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมแล้ว

 

เทเรซา เมย์ ลาออกจากนายกฯอังกฤษ

 

ความพยายาม 3 ครั้งกับแรงกดดันในพรรคอนุรักษ์นิยม

หลังจากที่อังกฤษผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยกำหนดจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2019

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา นางเทเรซา เมย์ พยายามเสนอแผนเบร็กซิตในรูปแบบมีข้อตกลง (Brexit with deal) หรือที่เรียกว่าซอฟท์เบร็กซิตมาโดยตลอด แต่ทว่าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นเสียงข้างมาก ได้ปฏิเสธข้อเสนอของเธอมาถึง 3 ครั้ง รวมถึงความพยายามที่ล้มเหลวในการเจรจาหาข้อประนีประนอมกับพรรคแรงงานตลอดช่วงที่ลงคะแนนไม่ผ่านทั้งสามครั้ง

เมย์ได้ขอให้สภาอังกฤษอนุมัติให้เลื่อนเส้นตายเบร็กซิตจากสิ้นเดือนมีนาคมออกไปอีกราว 2 สัปดาห์เป็นวันที่ 12 เมษายน 2019 เพื่อให้อังกฤษสามารถผ่านร่างแผนเบร็กซิตและมีกำหนดออกจากสมาชิกอียูในแบบมีข้อตกลงวันที่ 22 พ.ค. 

แต่ทว่า ผลการที่สภาโหวตไม่ผ่านร่างเบร็กซิตของนางเมย์ครั้งที่ 3 ทำให้สหราชอาณาจักรพลาดเส้นตายในการออกจากสหภาพยุโรปในแบบมีข้อตกลงในวันที่ 22 พ.ค. ตามแผน อังกฤษไม่มีทางเลือก จึงต้องออกจากสมาชิกอียูแบบไร้ข้อตกลง (No Deal) ภายในวันที่ 12 เมษายน

เรื่องดังกล่าวนางเมย์ได้ใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายเรียกร้องให้ทางอียูผ่อนปรนเส้นตายเบร็กซิตจากกำหนดเดิมออกไป ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติยืดระยะเวลาเส้นตายเบร็กซิตไปถึงวันที่ 31 ต.ค.2019 นี้

ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลของเธอถอนตัวลาออกจากตำแหน่งหลายคน ขณะที่ข้อเสนอล่าสุดของนางเมย์คือการให้ส.ส.ลงคะแนนเสียเพื่อทำประชามติครั้งใหม่บรรดาคนในพรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนจึงไม่พอใจ

 

เทเรซา เมย์ ลาออกจากนายกฯอังกฤษ

 

ความไม่แน่นอนของเบร็กซิต 

เพียงไม่นานหลังจากนางเมย์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ นายเจเรมี่ คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนไม่สนับสนุนแผนร่างเบร็กซิตของนางเมย์มาตลอดได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ 

นางเมย์จะยังคงเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะมีความชัดเจนว่าทิศทางของการเมืองอังกฤษหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ภายใต้กำหนดเส้นตายเบร็กซิตในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งหากรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีการเสนอแผนเบร็กซิตใดๆ จะเท่ากับอังกฤษต้องออกจากสมาชิกอียูในลักษณะฮาร์ทเบร็กซิต หรือการออกในแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆร่วมกัน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างร้ายแรง