posttoday

สงครามเย็นทางเทคโนโลยีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

23 พฤษภาคม 2562

สงครามเย็นรอบใหม่ได้เปิดฉากแล้ว แต่ไม่ใช่เหมือนกับสงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับสหรัฐที่สิ้นสุดไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

สงครามเย็นรอบใหม่ได้เปิดฉากแล้ว แต่ไม่ใช่เหมือนกับสงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับสหรัฐที่สิ้นสุดไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เพราะคู่กรณีคือจีนกับสหรัฐ บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสงครามการค้าคืออะไร?

สงครามการค้าเกิดขึ้นเมื่อประเทศหนึ่งรู้สึกว่าคู่ค้าอีกประเทศหนึ่งปฏิบัติต่อสินค้าของตนไม่เป็นธรรม จึงทำการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าของประเทศนั้นๆ อีกฝ่ายก็ตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน 2 ประเทศ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกเพื่อตอบโต้กันไปมา

ไม่ว่าเหตุผลในการก่อสงครามจะชอบธรรมหรือไม่ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของสงครามคือนโยบายกีดกันทางการค้า หรือ Protectionism คือปกป้องสินค้าและอุตสาหกรรมของประเทศตัวเอง

ส่วนสงครามเย็น เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างอุดมการณ์ 2 แบบ และมหาอำนาจ 2 ฝ่าย คืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์และเสรีนิยม และสหภาพโซเวียตกับสหรัฐ

ในวันนี้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังจะขยายวงการเป็นสงครามเย็นรูปแบบใหม่

จีนเคยเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เผชิญหน้ากับสหรัฐเช่นกัน แต่ในภายหลังกลุ่มคอมมิวนิสต์เกิดแตกกันเอง คือความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีน ความขัดแย้งนี้ทำไปสู่เรื่องที่ย้อนแย้งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลก นั่นคือ จีนกับไปคบกับสหรัฐแทน (แถมจีนยังทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม ซึ่งเป็นสมุนของโซเวียตอีกด้วย)

ดังนั้นสงครามเย็นที่ดูเหมือนจะเป็นการเผชิญหน้าด้านอุดมการณ์ แท้แล้วจึงเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์มากกว่า จะเห็นได้จากการที่จีนยอมคบกับสหรัฐ กลายเป็นแนวร่วมใหม่

แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐ

ในช่วงนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสร้างระบบโลกขึ้นมา 2 ระบบ ในทางเศรษฐกิจคือประเทศที่ใช้สังคมนิยมและประเทศที่ใช้ระบอบทุนนิยมในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองแบ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการรวมศูนย์โดยพรรคเดียวกับระบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งอย่างเสรี

ในทางเทคโนโลยี โซเวียตกับสหรัฐแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อชิงดีชิงเด่นในด้านอวกาศและด้านยุทโธปกรณ์ ในยุคสงครามเย็น เป็นยุคของเครื่องบินขับไล่รุ่นมิกกับเครื่องบินขับไล่รุ่นเอฟ เป็นยุคของจรวดโซยุซกับกระสวยอวกาศ

รู้หรือไม่ว่า เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ทำให้กองทัพสหรัฐพัฒนาระบบ Arpanet ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการมีเซิร์ฟเวอร์หลักเพียงแห่งเดียว ซึ่งกลายเป็นบรรพบุรุษของอินเทอร์เน็ตและนี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติดิจิทัล ที่ตอนนี้กำลังจะวิวัฒนาการเป็นสงครามเย็นแบบใหม่ นั่นคือ สงครามเย็นทางเทคโนโลยี หรือ Tech cold war

คู่กรกณีของ Tech cold war คือจีนกับสหรัฐ คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวโลกต้องเลือกข้างระหว่างระบบปฏิบัติการ 2 ระบบ คือแบบของจีนกับสหรัฐ

ถามว่าจะไม่เลือกได้หรือไม่? ตอบว่ายาก เพราะจากพฤติกรรมของสหรัฐในเวลานี้จะเห็นว่า พยายามกดดันให้ชาวโลกเลือกข้าง ถ้าไม่ประกาศต่อต้านหัวเว่ยอย่างน้อยก็ต้องเลิกใช้สินค้าของหัวเว่ย

ไม่ได้หมายความว่า โลกจะเหลือระบบปฏิบัติการ หรือ OS ให้ใช้กันแค่ 2 แบบ แต่หมายความว่า จีนจะกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกจากการถูกคว่ำบาตรจากอีกฝ่าย เพราะจีนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเร่งพัฒนาชิปชั้นสูงของตัวเองขึ้นมา (หลังจากถูก ARM เลิกขายชิปให้) และพยายามหาช่องทางเพื่อสร้างระบบบราวเซอร์ที่ได้รับการยอมรับ เพื่อถ่วงดุลกับกูเกิล

ในช่วงสงครามเย็นหลายทศวรรษก่อน จีนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต ก่อนที่จะแตกคอกัน หลังจากนั้นจีนพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์จนประสบผลสำเร็จ ต่อยอดเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ หลังจากเรียนรู้วิชาด้านอวกาศจากสหภาพโซเวียต จีนก็ต่อยอดของตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่ 3 ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบอวกาศได้

จีนเคยสำเร็จมาแล้วกับการสร้างฮาร์ดแวร์ของตัวเอง ตอนนี้จะต้องมาดูกันว่าจีนจะสำเร็จกับซอฟร์แวร์หรือไม่ จากปากคำล่าสุดของ อวี๋เฉิงตง CEO ก็คือหัวเว่ยพร้อมที่จะปล่อย OS ในช่วงปลายปีนี้สำหรับผู้ใช้ในจีน และช่วงต้นปีหน้าสำหรับผู้ใช้ทั่วโลก

ส่วน หูซีจิ้น บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษของทางการจีน เผยว่า หัวเว่ยเตรียมการเรื่องแผนแบคอัพมาหลายปีแล้ว และการคว่ำบาตรบริษัทจีน จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไมโครชิปแข่งกับสหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 หัวเว่ยกับโมโตโรล่า ค่ายมือถือของสหรัฐที่ตอนนั้นกำลังยิ่งใหญ่อยู่ ทำการเจรจาเพื่อซื้อขายกิจการ โดยเหรินเจิ้งเฟย หัวเรือใหญ่ของหัวเว่ย ตกลงจะขายบริษัทให้ในราคา 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้แล้วและลงนามแล้ว แต่หลังจากนั้นโมโตโรล่าเกิดเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและไม่อยากจะซื้อแล้ว เมื่อกลับมาคุยกับคนในบริษัท แกนนำกลุ่มหัวรุนแรงในหัวเว่ยจึงคัดค้านการขายบริษัท ในตอนนั้น เหรินเจิ้งเฟยบอกกับพวกนั้นว่า ถ้าไม่ขายบริษัทตอนนี้ ภายในเวลา 10 ปีพวกเราจะสู้มาตรการตอบโต้ของพวกอเมริกันไม่ได้ เพราะพวกนั้นมีแบ็คอัพที่ดีกว่า ถ้าจะไม่ขายบริษัทตอนนี้ก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์เอาไว้

ปรากฎว่าคำทำนายของเหรินเจิ้งเฟยถูกต้อง เพราะ 10 กว่าปีผ่านไป หัวเว่ยถูกสหรัฐเล่นงานจริงๆ แต่เรายังไม่รู้ว่าหัวเว่ยเตรียมอะไรไว้รับกับสถานการณ์นี้ 

ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่า หัวเว่ยหรือจีนเตรียมอะไรไว้ และที่เตรียมไว้จะเจ๋งเหมือนที่คุยไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เรามั่นใจได้เลยว่า สงครามเย็นด้านเทคโนโลยีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดีไม่ดีจีนระแคะระคายมาหลายปี และเตรียมศึกนี้มาได้ระยะหนึ่ง

อีกไม่นานหัวเว่ยหรือไม่ก็บริษัทสายเทคจะต้องเผยไต๋แน่ๆ ว่าอุบอะไรไว้ เพราะการที่สหรัฐบีบให้พันธมิตรเลิกคบค้าและจ่ายชิปให้ ถือเป็นการทำคลายความมั่นใจของลูกค้าต่อหัวเว่ยและบริษัทจีน ถ้าไม่รีบเผยไต๋ออกมาเกทับ มีหวังสูญเสียกันหนักกว่านี้

จะว่าไปแล้ว ทั้งสงครามการค้าและสงครามเย็นทางเทคโนโลยี ไม่ได้เกิดขึ้นเดือนสองเดือนมานี้ แต่บ่มเพาะมานทานนับสิบปีแล้ว ตั้งแต่ที่จีนเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก ซึ่งมีพันธะที่จีนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการค้าโลก แต่สหรัฐกล่าวหาจีนมาโดยตลอดว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญา กดค่าเงินเพื่อหนุนการส่งออกของตัวเอง และยังตั้งเงื่อนไขไม่ให้สินค้าและบริการจากภายนอกเข้าจีนได้ง่ายๆ ยังไม่นับข้อกล่าวหาเรื่องจีนทำสงครามแฮ็คเกอร์กับสหรัฐแบบเงียบๆ

ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลสหรัฐทุกรัฐบาลพยายามเจรจากับจีนมาตลอด มีแต่โดนัลด์ ทรัมป์เท่านั้นที่หักด้ามพร้าด้วยเข่า

กลับมาที่ลักษณะของสงครามครั้งใหม่ ที่เรียกว่าสงครามเย็นก็เพราะไม่มีการรบกันจริง มีแต่การพัฒนาเทคโนโลยีใช้ขู่กัน หรืออย่างมาก็รบกันผ่านตัวแทน หรือ Proxy wars เช่นเดียวกัน สงครามเย็นทางเทคโนโลยีจะเป็นการชิงดีชิงเด่นระหว่างจีนกับสหรัฐว่า เทคโนโลยีของใครที่เหนือกว่ากันและได้รับความนิยมกว่ากัน

แต่สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ สงครามเย็นครั้งนี้ไม่เหมือนตอนที่สหรัฐ "รบ" กับโซเวียต เพราะโซเวียตไม่ใช่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศแค่ 4%) แต่ในเวลานี้มันคือการขับเคี่ยวกันระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก ผลกระทบต่อปากท้องชาวโลกย่อมร้ายแรงอย่างมาก

แต่ใช่ว่าโลกจะไม่มีความหวังเอาเลย

ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับโซเวียต ก็มีช่วงผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente) เป็นระยะ และหนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือการร่วมมือกันระหว่างโครงการอพอลโลกับโซยุซ (Apollo–Soyuz Test Project) เมื่อปี 1975 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของการแข่งขันด้านอวกาศระหว่าง 2 ฝ่ายไปโดยปริยาย

เราอาจจะหลีกเลี่ยงสงครามเย็นทางเทคโนโลยีไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีภาวะ Détente (ช่วงผ่อนคลายความตึงเครียด) ช่วยให้ชาวโลกได้หายใจหายคอกันบ้าง