posttoday

จะอยู่กันอย่างไรถ้าไร้ Google Play?

23 พฤษภาคม 2562

ส่องประสบการณ์ของ "กูเกิลเพลย์แห่งอิหร่าน" ทางเลือกของประเทศที่ถูกสหรัฐแบน

ส่องประสบการณ์ของ "กูเกิลเพลย์แห่งอิหร่าน" ทางเลือกของประเทศที่ถูกสหรัฐแบน

เนื่องจากอิหร่านมีปัญหากับสหรัฐ ทำให้เทคโนโลยีหลายๆ อย่าง และโซเชียลมีเดียหลายรายไม่มีบริการในประเทศนี้ แต่ก็ใช่ว่าอิหร่านจะล้าหลัง ตามประเทศอื่นเขาไม่ทันในแง่ดิจิทัล พวกเขายังสามารถใช้งาน “ตัวแทน” โซเชียลมีเดียใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกได้ หนึ่งในนั้นคือ Cafe Bazaar ซึ่งเป็นตลาดแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์ ถูกขนานนามว่าเป็น “กูเกิลเพลย์แห่งอิหร่าน” เพราะกูเกิลเพลย์ถูกบล็อกไม่ให้ใช้กันในอิหร่าน

Cafe Bazaar ก่อตั้งเมื่อปี 2011 โดย เรซา โมฮัมมาดี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริหาร กับ เฮสเซม อาร์มันเดฮี และนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชารีฟ หลังจากนั้นก็มีมือดีในวงการไอทีของอิหร่านมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ปัจจุบันมีพนักงานราว 200-500 คน

ลักษณะโดยรวมถูกออกแบบมาเพื่อให้ความสะดวกกับผู้ใช้ภาษาเปอร์เซีย (ซึ่งก็คือประชาชนส่วนใหญ่ในอิหร่าน) แม้ว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ใช้ในอิหร่าน แต่แอพพลิเคชั่นไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศนี้ เพราะมีแอพทั้งในและนอกประเทศมาให้บริการกันอย่างคับคั่ง แม้แต่แอพจากกูเกิลเพลย์ (ตัวจริง) ก็มี ดังนั้น Cafe Bazaar จึงเป็นตัวเชื่อมโยงโลกภายนอก และเป็นศูนย์รวมของชาวอิหร่านทั้งในและนอกประเทศในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดแห่งนี้ก็มีบริการในภาษาอังกฤษด้วย

สำหรับจุดเด่นของ Cafe Bazaar ก็คือ เป็นแอพและเกมที่พัฒนาในท้องถิ่นและรองรับภาษาเปอร์เซียได้ สามารถใช้งานได้ง่าย และมีระบบจ่ายเงินออนไลน์แบบเฉพาะของอิหร่าน มีทีมงานคอยเลือกสรรแอพที่น่าสนใจมาให้เลือกชมเลือกใช้ และมีทีมงานคอยให้การสนับสนุนลูกค้าและเจ้าของแอพตลอดเวลา 24 ชม.

เรื่องความนิยมไม่ต้องสงสัย เพราะแทบจะเป็นตลาดแอนดรอยด์อันดับ 1 สถิติการเข้าใช้จึงสูงเป็นพิเศษ โดยมีผู้เข้าใช้ 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ 98% อยู่ในอิหร่าน มีแอพพลิเคชั่นท้องถิ่นถึง 162,000 แอพ มีผู้พัฒนาแอพที่ร่วมงานอยู่ถึง 23,800 ราย ส่วนมูลค่าตลาดสูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยความที่ตลาดคึกคักขนาดนี้ ทำให้นักพัฒนาแอพจากต่างประเทศสนใจที่จะร่วมงานด้วย

ประเด็นหนึ่งที่คนมักเข้าใจผิดก็คือ การที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก และการที่อิหร่านต่อต้านการแทรกแซงโดยสื่อตะวันตก ไม่ได้หมายความว่าอิหร่านจะมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่ำ ตรงกันข้าม อัตราเข้าถึงสูงถึง 82.1% และทำให้ความต้องการแอพสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นกระแสนิยมร่วมกันของคนทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ถูกล้มหน้าล้อมหลังอย่างอิหร่าน

โมเดลนี้คล้ายๆ กับจีนที่มีการพัฒนาแอพในบ้าน และตั้งไฟร์วอลล์ป้องกันคนนอกเข้ามาและคนในออกไป แม้จะเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนไปบ้าง แต่จุดแข็งก็คือ เท่ากับบีบให้อิหร่าน (และจีน) พัฒนาเทคโนโลยีในด้านโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างแข็งขัน