posttoday

วัยรุ่นฆ่าตัวตาย โซเชียลมีเดียเป็น "ตัวร้าย" หรือ "แพะ"

16 พฤษภาคม 2562

รัฐบาลทั่วโลกเริ่มคุมเข้มโซเชียล หลังวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

รัฐบาลทั่วโลกเริ่มคุมเข้มโซเชียล หลังวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

จากกรณีที่เด็กหญิงชาวมาเลเซียวัย 16 ปี ทำโพลผ่านอินสตาแกรมว่าตัวเองควรมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือจบชีวิตดี แล้วตัดสินใจจบชีวิตตัวเองหลังจากเสียงส่วนใหญ่ในโลกโซเชียลลงความเห็นว่าเธอควรจบชีวิต จนทางการมาเลเซียเตรียมแก้ไขกฎหมายควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต หวังสกัดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน

การศึกษาในต่างประเทศพบว่ายิ่งเข้าถึงโลกออนไลน์มากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อารมณ์อ่อนไหว จิตใจเปราะบาง ถูกกีดกันทางสังคม หรือถูกกลั่นแกล้ง สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Ofcom หน่วยงานกำกับดูแลด้านการโทรคมนาคมของอังกฤษเมื่อต้นปี ที่พบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีเยาวชนถูกกลั่นแกล้งทั้งทางออนไลน์และแอพพลิเคชั่นส่งข้อความเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วัยรุ่นฆ่าตัวตาย โซเชียลมีเดียเป็น "ตัวร้าย" หรือ "แพะ" ภาพ : AFP

รายงานของ Ofcom ระบุว่าเยาวชนอายุ 12-15 ปี แจ้งว่าเคยถูกกลั่นแกล้งในโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 6% ในปี 2016 มาเป็น 11% เมื่อปีที่แล้ว ส่วนคนที่เคยถูกส่งข้อความกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่าปี 2016 มีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ฆ่าตัวตาย 193 คน ส่วนปีถัดมาลดลงเหลือ 139 คน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข่าวเยาวชนฆ่าตัวตายให้ได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

Ofcom ยังเผยอีกว่า เยาวชนเผชิญกับการกลั่นแกล้งและมีโอกาสเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในโลกโซเชียลเพิ่มขึ้น และหลายครั้งเหตุการณ์เหล่านี้นำมาสู่การทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ทำให้หลายรัฐบาลทั่วโลกเริ่มตื่นตัวลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ อาทิ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ออกมาตรการปกป้องผู้ใช้กลุ่มนี้

เคสที่จุดชนวนให้เกิดการถกเกียงเป็นวงกว้างทั้งในอังกฤษและทั่วโลกคือ การเสียชีวิตของ มอลลี่ รัสเซลล์ วัยรุ่นอังกฤษวัย 14 ปี ที่ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2017 โดยพบประวัติการท่องโลกออนไลน์ของเธอว่ามักจะเข้าไปดูเนื้อหาที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและภาวะหดหู่ ทำให้ต่อมาผู้บริหารอินสตาแกรมประกาศกวาดล้างเนื้อหาและภาพที่เป็นการทำร้ายตัวเอง เพื่อจะหยุดเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้

วัยรุ่นฆ่าตัวตาย โซเชียลมีเดียเป็น "ตัวร้าย" หรือ "แพะ" เซเลน่า โกเมซ ภาพ : Daniel LEAL-OLIVAS/AFP

ทุกวันนี้โลกโซเชียลค่อนข้างก้าวร้าวรุนแรง รุนแรงถึงขั้นที่สมาชิกสภาผู้แทนของสหรัฐเสนอให้มี “วันแห่งความสุภาพแห่งชาติ” (National Day of Civility) ขึ้นมา นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วคนเราร้ายกาจเหมือนที่ทำในโซเชียลหรือไม่ แม้แต่นักร้องดังอย่าง เซเลน่า โกเมซ ที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 150 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ยังรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียในยุคของเธอน่ากลัวมาก

“มันเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ แต่ก็ทำให้ฉันกลัวเวลาที่เห็นเด็กๆ รู้ไม่เท่าทันข่าวสารที่เกิดขึ้น ฉันไม่อยากจะพูดว่าโซเชียลมีเดียเป็นที่ที่เห็นแก่ตัว เพราะดูจะหยาบคายเกินไป แต่มันอันตรายแน่นอน” โกเมซกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้โซเชียลมีเดียจะถูกสังคมตีตราว่าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย แต่จริงๆ แล้วหากคนในโลกโซเชียลแสดงพลังในด้านบวกก็น่าจะช่วยหยุดการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน มูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตายของสหรัฐ เผยว่าคนที่ต้องการฆ่าตัวตายจะมีความคิดนี้อยู่เพียง 1 ชั่วโมง และครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้มักตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในช่วง 10 นาทีสุดท้าย หมายความว่าหากมีคนฉุดดึงคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายให้ออกมาจากความคิดนั้นได้ทันเวลา ความสูญเสียอาจจะไม่เกิดขึ้น

อย่างในกรณีของเด็กหญิงมาเลเซีย หากคนในโลกโซเชียลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเธอด้วยการแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแจ้งพ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดทราบ หรือแม้แต่การเตือนสติแทนการยุยงส่งเสริม เธออาจจะยังได้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ต่อ ไม่ต้องจากไปก่อนวัยอันควรเช่นนี้