posttoday

เปลี่ยนขยะล้นเมืองเป็นเงินล้นกระเป๋า

15 พฤษภาคม 2562

ส่องวิธีคิดและการทำธุรกิจแบบ TerraCycle เริ่มต้นด้วยขยะ จบลงด้วยบริษัทมูลค่านับร้อยล้าน

 


ในแต่ละปีประชากรทั่วโลกทิ้งขยะกันมากกว่า 1.3 ล้านล้านกิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์สเตตในนิวยอร์กของสหรัฐรวมกัน 7,000 ตึก โดยที่ขยะเหล่านี้จบลงที่การกำจัดด้วยการฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในอีก 1 ทศวรรษข้างหน้า และแม้ว่า 75% ของขยะจากทั่วโลกนั้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่เรารีไซเคิลกันเพียง 30% เท่านั้น

และในจำนวน 30% ที่ถูกรีไซเคิลเป็นผลงานของสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อว่า TerraCycle

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีข่าวว่าสภาท้องถิ่นในอังกฤษกำลังนำย้ายขยะไปถมที่ดิน แต่ปรากฎว่ามีอาสามัครจำนวนหนึ่ง จู่ๆ บุกเข้าไปคุ้ยหาขยะที่จะถูกนำไปทิ้ง พวกเขาไม่ได้เข้ามาสร้างความวุ่นวาย แต่เข้ามาค้นหาขยะที่จะนำกลับไปใช้ใหม่ได้ แทนที่จะนำไปถมที่แล้วโลกเราต้องผลิตขยะขึ้นมาใหม่อีก

ปรากฎว่าอาสามัครกลุ่มนี้สามารถค้นสิ่งของที่นำมากลับมาใช้ใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก และจะส่งไปให้กับ TerraCycle เพื่อรับไม้ต่อ

TerraCycle ก่อตั้งโดยทอม ซากี้ กับจอน บีเยอร์ ช่วงปลายปี 2002 โดยเงินทุนเริ่มต้นมาจากครอบครัวและเพื่อนของเขาทั้ง 2 คน รวมถึงรางวัลจากการนำแผนธุรกิจไปประกวด และต่อมายังเปิดให้นักลงทุนคนอื่นๆ ด้วย และภายในปีถัดมาบริษัทก็สามารถซื้อระบบหมักปุ๋ยอินทรีย์ต่อเนื่องที่คิดค้นโดยแฮร์รี่ วินเดิล ชาวเมืองเกนส์วิลล์ รัฐฟลอริดาด้วยราคาถึง 20,000 เหรียญสหรัฐเพื่อนำขยะอินทรีย์ไปแปรรูปเป็นปุ๋ยโดยใช้หนอนประเภทต่างๆ ช่วยในการหมัก หรือที่เรียกว่ากระบวนการ Vermicompost โดยแรกเริ่มนั้น พวกเขานำแหล่งขยะมาจากห้องอาหารของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นี่คือขจุดเริ่มต้นของธุรกิจขยะร้อยล้านของคนหนุ่มไฟแรง

เปลี่ยนขยะล้นเมืองเป็นเงินล้นกระเป๋า TerraCycle

คนหนุ่มทั้ง 2 มีความุ่งมั่นมากถึงขนาดที่ปฏิสธการลงทุนมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐจากบริษัทดัง เพราะไม่สามารถรับได้กับเงื่อนไขที่จะเข้ามาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การปฏิเสธเงินล้านทำให้ชื่อของ TerraCycle เป็นที่โด่งดังขึ้นมา และดึงดูดให้นักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาร่วมสานฝัน และในอนาคตพวกเขาจะไม่ผิดหวังกับการตัดสินใจทิ้งเงินล้าน เพราะการยึดมั่นกับโมเดลธุรกิจเดิมทำให้พวกเขาได้มากกว่าล้าน แต่เป็นสิบ และร้อยล้าน

พูดถึงบริษัทแล้วจะไม่พูดถึงผู้ก่อตั้งบริษัทก็คงไม่ได้ เขาคนนี้เป็นชายหนุ่มที่ให้ความสนใจกับการรีไซเคิลขยะ จนเป็นแรงผลักดันให้เขาก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อแปรรูปขยะไร้ค่าให้กลายเป็นเงิน พร้อมทั้งเป็นการลดปริมาณขยะของโลกไปด้วยในตัว

ทอม ซากี้ เกิดที่ประเทศฮังการี จากนั้นเมื่ออายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวได้ย้ายไปตั้งรกรากยังต่างประเทศ สุดท้ายพากันไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา

ซากี้ เล่าย้อนความหลังว่า ฮังการีในสมัยนั้นเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ประชาชนต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนจึงจะสามารถซื้อทีวีได้ ซึ่งอาจต้องรอถึง 1 ปี ขณะที่ในแคนาดานั้นการเป็นเจ้าของทีวีสักเครื่องง่ายดายมาก จนผู้คนทิ้งทีวีเครื่องเก่าเปลี่ยนเป็นเครื่องใหม่กันเป็นว่าเล่น

ในทุกวันศุกร์ที่เขาและพ่อขับรถออกไปชมวิวกันเสมอนั้น จะเห็นทีวีที่คนไม่ใช้แล้วนำมาทิ้งกองโตไม่ต่างจากภูเขาขนาดย่อม เขาและพ่อจึงจอดรถลงไปเลือกเครื่องที่สภาพยังดีอยู่เพื่อนำกลับบ้าน

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเริ่มมีแนวคิดเรื่องขยะเหล่านี้ขึ้นมา ประกอบกับได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อของเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบการในแคนาดา จึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง

เปลี่ยนขยะล้นเมืองเป็นเงินล้นกระเป๋า TerraCycle

ซากี้ วัย 19 ในขณะนั้น ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อสานต่อไอเดียที่เขาคิดไว้ โดยก่อตั้ง TerraCycle ในปี 2002 ที่สหรัฐ สินค้าตัวแรกของบริษัทคือ ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน แม้ว่าภายใน 5 ปีหลังก่อตั้ง บริษัทจำหน่ายปุ๋ยได้ราว 3-4 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังประสบภาวะขาดทุน จึงต้องหันมาวางกลยุทธ์ทางธุรกิจกันใหม่

รูปแบบธุรกิจครั้งใหม่นี่คือ การเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ใช้สอยอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ทำกำไรให้กับบริษัทด้วย โดยการรวบรวมสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่านำกลับมารีไซเคิลได้ยาก เช่น ก้นบุหรี่ แคปซูลใส่กาแฟ ซองห่อขนมบิสกิต แล้วนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นวัตถุดิบต่างๆ ส่งจำหน่ายต่อให้ผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งเปลี่ยนขยะเหล่านั้นเป็นถุง ม้านั่ง หรือถังขยะ และการนำก้นบุหรี่มาผลิตเป็นพาเลตพลาสติก โดยขยะทั้งหมดมาจากการทำสัญญารับขยะมากำจัดกับบริษัทต่างๆ

โมเดลนี้เริ่มต้นในปี 2007 และปรากฎว่าพวกเขามาถูกทาง จึงยังใช้โมเดลนี้จนถึงปัจจุบัน และมีผลิตภัณฑ์จการเปลี่ยนขยะเป็นสิ่งของต่างๆ ถึง 200 ประเภท วิธีการนี้ไม่ใช่รีไซเคิล แต่เรียกว่า อัพไซเคิล (Upcycling) หรือเรียกอีกอย่างว่า การนำมากลับมาใช้ใหม่แบบสร้างสรรค์ (creative reuse) ส่วนที่นำกลับมาอัพไซเคิลไม่ด้ ก็จะนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นผลิคภัณฑ์อื่นๆ

เปลี่ยนขยะล้นเมืองเป็นเงินล้นกระเป๋า TerraCycle

นอกจากนี้ TerraCycle ยังมีโครงการรีไซเคิล ที่ช่วยให้บุคคลทั่วไปหรือกลุ่มกิจกรรม สามารถรวบรวมวัสดุเหลือทิ้งที่กำหนดไว้ เพื่อนำมาแลกกับเงินบริจาคให้กับโรงเรียนหรือหน่วยงานอื่นๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะลงทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต จากนั้นทำการเก็บขยะตามเป้าหมาย โดยที่บริษัทที่ร่วมโครงการกับ TerraCycle จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งขยะและนำเงินบริจาคตามเป้า ไปมอบให้กับโรงเรียน

ล่าสุด ในการประชุม World Economic Forum ที่สวิตเซอร์แลนด์ปีนี้ TerraCycle ยังได้เปิดตัว Loop ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ สำหรับป้อนบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สินค้าบริโภค ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของใช้ในครัวเรือน, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล โดยล่าสุดวันที่ 14 พฤษภาคม มีข่าวว่า Carrefour ห้างสรรพสินค้าสัญชาติฝรั่งเศส จะร่วมโครงการนี้เพื่อลดขยะในกรุงปารีส

ไม่เฉพาะแนวทางของบริษัทเท่านั้นที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ซากี้ ในวัย 37 ปียังมีแนวคิดค่อนข้างแหวกแนวไม่เหมือนใคร เพราะเจ้าตัวจะใส่กางเกงยีนส์ตัวเดิมทุกวัน ยกเว้นในช่วงวันหยุดที่ต้องนำไปซักทำความสะอาด โดยให้หตุผลว่าต้องการบริโภคทรัพยากรของโลกให้น้อยลง

ตลอด 17 ปีที่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา ซากี้ ช่วยโลกลดปริมาณขยะไปแล้วเกินกว่า 2,500 ล้านชิ้น