posttoday

สร้างตัวจนได้ดี หรือมีวันนี้เพราะบารมีพ่อ?

14 พฤษภาคม 2562

เจาะเส้นทางชีวิต อิซาเบล ดุช ซังตุช มหาเศรษฐินีคนแรกแห่งแอฟริกา โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

เจาะเส้นทางชีวิต อิซาเบล ดุช ซังตุช มหาเศรษฐินีคนแรกแห่งแอฟริกา โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

หากเอ่ยถึงชื่อของ อิซาเบล น้อยคนนักที่จะรู้จักว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร แต่หากได้ยินนามสกุล ดุช ซังตุช ก็คงจะคุ้นหูอยู่บ้างเพราะนามสกุลนี้โด่งดังจากผู้นำการเมืองแห่งประเทศแองโกลา นั่นคือประธานาธิบดี โชเซ ฌูแซ เอดัวร์ดู ดุช ซังตุช ดังนั้นสถานะของอิซาเบลจึงไม่ได้มาจากการสั่งสมความมั่งคั่งทางธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังได้มาจากฐานะการเป็นลูกสาวคนโตของท่านผู้นำประเทศอีกด้วย

การเป็นลูกสาวของผู้นำประเทศ ที่มีชื่อเสียงในด้านลบมากที่สุดคนหนึ่ง พลอยทำให้เธอถูกสงสัยไปด้วยว่า ใช้บารมีพ่อทำให้ตัวเองรวยหรือไม่?

เรื่องนี้เราจะมาวิเคราะห์กันในตอนท้าย

แม้ว่าจะเกิดมารวยและยังเป็นถึงลูกผู้นำประเทศ แต่อิซาเบลก็ไม่ได้เป็นผู้หญิงที่อยู่นิ่งนั่งๆ นอนๆ รอคอยมรดกจากบิดาอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม เธอคนนี้ลงมือลงแรงตะลุยเดี่ยวทำธุรกิจหลายอย่างด้วยตัวเองทั้งนั้น โดยหลังจากจบปริญญาด้วนวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อิซาเบล ก็ขอฉีกแนวการทำงานที่ไม่ตรงสายดั่งที่ร่ำเรียนมา ด้วยการเริ่มเปิดกิจการร้านอาหารไนต์คลับชื่อว่า Miami Beach ซึ่งตอนนั้นอยู่ในวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น

สร้างตัวจนได้ดี หรือมีวันนี้เพราะบารมีพ่อ? Isabel dos Santos/@oficialmente.me

อิซาเบลให้สัมภาษณ์กับ Africanews ว่า "ฉันได้รับการสอนให้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และไม่เคยพึ่งใครเลยไม่ว่าจะเป็นพ่อพี่ชายหรือสามี สิ่งนี้ทำให้ฉันเป็นคนที่ยึดมั่นกับความเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก พ่อแม่ของฉันต่างก็ยืนกรานที่จะเน้นการศึกษาที่สร้างความเชื่อมั่นในตัวเองและศักยภาพในการแข่งขัน"

ด้วยความที่ไร้ประสบการณ์การทำงานและไม่รู้จักหลักบริหาร ทำให้ความฝันในธุรกิจร้านอาหารก็ต้องพังลงอย่างไม่ท่า แต่อิซาเบลยังคงยืนหยัดกัดฟันต่อสู้ในการทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ลองผิดลองถูกจนมาลงเอยกับการถือครองตลาดหุ้นในโปรตุเกสและแองโกลา ซึ่งการลงทุนนี้เองทำให้ อิซาเบล มีรายได้เป็นกอบเป็นกำและมีเงินทุนมากพอที่จะลงไปกับธุรกิจภาคอื่นๆ

เธอบอในทำนองที่ว่าการเป็นลูกสาวผู้นำประเทศ และมีนามสกุลใหญ่โตไม่ได้ช่วยเธอมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

"ในโลกธุรกิจมีเพื่อนร่วมงานหญิงน้อยมาก และเป็นสังคมที่ครอบงำชายอย่างไม่ต้องสงสัย มีการเลือกปฏิบัติและอคติ หลายๆ ครั้ง ในการประชุมทางธุรกิจ ฉันสังเกตว่าฝ่ายที่ฉันกำลังเจรจาด้วย มักจะมองไปที่ปรึกษาชายหรือทนายความชายของฉันเท่านั้น เพื่อดูว่าเขาจะพูดอะไรออมา แม้ว่าฉันจะเป็นเจ้าของ/ผู้ถือหุ้นของธุรกิจ และฉันเป็นผู้ตัดสินใจก็ตาม" อิซาเบล บอกกับ Africanews

สร้างตัวจนได้ดี หรือมีวันนี้เพราะบารมีพ่อ? Isabel dos Santos/@oficialmente.me

เมื่ออยู่ในช่วงขาขึ้น อิซาเบลจึงเดินหน้าเต็มสูบลุยเปิดกิจการหลายภาคส่วนเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารและหุ้นบริษัทเทเลคอมที่ทำธุรกิจด้านมัลติมีเดีย เช่น เคเบิลทีวีและอินเทอร์เน็ต โดยธุรกิจเหล่านี้ได้ขยายสาขาไปในแองโกลาและโปรตุเกส

บริษัทที่เป็นเหมือนลูกรักที่เธอฟูมฟักมาคือ Unitel ซึ่งเธอผนึกกำลังร่วมกับ Portugal Telecom บริษัทแห่งนี้คือหัวหอกของอิซาเบลเลยก็ว่าได้

“ ฉันเป็นคนที่มีอิสระอย่างมากมาโดยตลอด ตอนที่ฉันเริ่มทำงานฉันเริ่มต้นด้วยธุรกิจขนาดเล็กมาก เป็นธุรกิจขนาดเล็กจริงๆ แถมยังมีเงินทุนน้อยมาก แต่มันก็เติบโตพร้อมๆ กับการลงทุนมากขึ้น และพร้อมๆ กับการเติบโตของฉันเอง และธุรกิจของฉันก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น” อิซาเบล บอกกับ CNN

ทุกวันนี้ อิซาเบล ดุช ซังตุช กลายเป็นผู้หญิงที่รวยที่สุดในแอฟริกาไปแล้วด้วยวัยเพียง 46 ปี แต่ตอนที่เธอรับตำแหน่งนี้มีอายุแค่ เท่านั้น 39 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ในปี 2016 BBC ยังยกให้เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิง 100 คนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

ปัจจุบัน Forbes ประเมินทรัพย์สินของเธอไว้ที่ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ความเป็นจริงนักวิเคราะเชื่อว่าอัครมหาเศรษฐินีผู้นี้จะมีรายได้มากกว่านั้น

สร้างตัวจนได้ดี หรือมีวันนี้เพราะบารมีพ่อ? Isabel dos Santos/@oficialmente.me

แน่นอนว่าการขึ้นแท่นเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดแห่งแอฟริกาของอิซาเบล จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อยถึงเรื่องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วราวกับเสกมนตร์ได้ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายท่านต่างงุนงงกับความรวยแบบกะทันหัน เพราะแทบไม่น่าเชื่อว่าจากร้านอาหารเพียงร้านเดียวจะทำให้ อิซาเบลรวยขึ้นผิดหูผิดตา

เมื่อนักข่าวไปสืบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องแอฟริกันศึกษาแล้วก็พบว่า เบื้องหลังของการทำธุรกิจหลายอย่างของ อิซาเบลต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของบิดาผู้นำประเทศที่มีประวัติโชกโชนในด้านลบ และยังพบหลักฐานเชื่อมโยงถึงเครือข่ายการลงทุนในธุรกิจทุกภาคส่วนของประเทศที่ปราศจากความโปร่งใส และเต็มไปด้วยผลประโยชน์ที่มีเงื่อนงำ

จากการสืบค้นของ Forbes พบว่าในขณะที่พ่อของ อิซาเบลเป็นประธานาธิบดีอยู่นั้น เธอครอบครองหุ้นของบริษัทในแองโกลาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารและโทรคมนาคม และยังมีอิทธิพลในภาคธุรกิจของโปรตุเกส (เจ้าอาณานิคมเก่าของแองโกลา) เช่น การถือหุ้นและความพยายามเทคโอเวอร์บริษัท Zon Multimédia

และตั้งแต่ปี 2013 หรือครั้งแรกที่เธอมีชื่อเป็นผู้หญิงที่รวยที่สุดในแอฟริกา Forbes ระบุว่าความมั่งคั่งของเธอมาจากอิทธิพลและความสัมพันธ์ของบุคคลครอบครัวเกือบทั้งหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับที่สื่อบางรายพยายามจะชี้ชวนให้เชื่อว่าเธอเป็นคนสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเองเพียงลำพัง

สร้างตัวจนได้ดี หรือมีวันนี้เพราะบารมีพ่อ? Isabel dos Santos/@oficialmente.me

Maka Angola องค์กรเพื่อประชาธิปไตยในแองโกลา เผยว่า พ่อของอิซาเบลายังปล่อยสัมปทานให้บริษัทลูกสาวหลายสัญญา นับเฉพาะแค่ 4 สัญญารวมกันมีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว เช่น ในเดือนมิถุนายน 2016 พ่อของเธอแต่งตั้งให้อิซาเบล เป็นประธาน Sonangol รัฐวิสาหกิจน้ำมันของรัฐแองโกลา แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ของแองโกลาได้ปลดเธอออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2017

สำหรับประวัติท่านผู้นำสุดอื้อฉาวแห่งแองโกลา โชเซ ฌูแซ เอดัวร์ดู ดุช ซังตุช เขาผู้นี้ยึดอำนาจผูกขาดเป็นผู้นำประเทศนานถึง 38 ปี นับตั้งแต่แองโกลาประกาศอิสรภาพจากโปรตุเกสจนถึงปี 2017 จึงสละตำแหน่ง ดุช ซังตุชได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ที่แย่ที่มีภาพลบอย่างรุนแรงที่สุดคนหนึ่ง เพราะแม้จะบริหารประเทศมานานกว่า 3 ทศวรรษ และมีรายได้หลักจากการค้าน้ำมันและเพชร แต่ประชากรเกือบทั้งหมดของประเทศยังมีรายได้เพียง 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน ราว 60 บาท/วัน

อีกทั้งแองโกลายังหนีไม่พ้นการเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก จากผลของสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 27 ปี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กและประชาชนยังอยู่ในมาตรฐานที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาก

แม้จะหมดบารมีพ่อไปแล้ว และเธอยังถูกสอบสวนเรื่องการกระทำโดยมิชอบ แต่อิซาเบลาก็ยังรอดพ้นจากข้อหานั้นมาได้ และดำรงตำแหน่งในบริษัท UNITEL ต่อไป

 

ภาพจาก Isabel dos Santos