posttoday

คนญี่ปุ่นพอใจประชาธิปไตยของประเทศตัวเองน้อยที่สุดในเอเชีย

03 พฤษภาคม 2562

รายงานล่าสุดจากศูนย์วิจัย Pew ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน 30,133 คนจาก 27 ประเทศ พบว่าผู้คนในหลายประเทศไม่พึงพอใจความเป็นประชาธิปไตยในประเทศของตัวเอง ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ในหลายมิติ อาทิ สภาพเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และพฤติกรรมของนักการเมือง

รายงานล่าสุดจากศูนย์วิจัย Pew ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน 30,133 คนจาก 27 ประเทศ พบว่าผู้คนในหลายประเทศไม่พึงพอใจความเป็นประชาธิปไตยในประเทศของตัวเอง ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ในหลายมิติ อาทิ สภาพเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และพฤติกรรมของนักการเมือง

จากการสำรวจทั้ง 27 ประเทศ อาทิ สหรัฐ แคนาดา สวีเดน เยอรมนี ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อิสราเอล เคนยา บราซิล เม็กซิโก พบว่าค่าเฉลี่ยความไม่พึงพอใจประชาธิปไตยอยู่ที่ 51% ส่วนอีก 45% พึงพอใจ ซึ่งความไม่ชอบใจนี้แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งใน 6 จาก 10 ประเทศยุโรปที่ Pew ทำการสำรวจไม่พอใจประชาธิปไตยของประเทศตัวเอง โดยประเทศยุโรปตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน กรีซ  มีความไม่พอใจมากที่สุดคือ 70%

ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในแถบเอเชียแปซิฟิกมีความพึงพอใจกับประชาธิปไตยของประเทศตัวเอง ยกเว้นในญี่ปุ่นที่ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 56% ไม่พึงพอใจประชาธิปไตยของตัวเอง ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาค โดยในจำนวนคนที่ไม่พอใจนั้น 74% มองว่าเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ  69% มองว่าประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และ 70% มองว่า นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้วมักจะไม่รับฟังเสียงของประชาชน

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงปี 2017 และ 2018 ความไม่พึงพอใจในประชาธิปไตยยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในครึ่งหนึ่งของประเทศที่ทำการสำรวจ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 9% แม้รัฐบาลจะพยายามปรับปรุงกระบวนการประชาธิปไตย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมือง และกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากขึ้นก็ตาม

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าความไม่พึงพอใจของประชาชนขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ หลักๆ ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจของประเทศและโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว แทบจะทุกประเทศที่ Pew สำรวจพบว่ายิ่งเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ยิ่งส่งผลให้ความไม่พึงพอใจในประชาธิปไตยของประชาชนเพิ่มขึ้น ทว่ารายรับส่วนบุคคลไม่มีผลกับความพึงพอใจนี้  สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและความเท่าเทียมในระบบยุติธรรมก็เป็นตัวแปรสำคัญของความพึงพอใจ สาเหตุนี้จะเห็นได้ชัดเจนในทวีปยุโรป หากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้รับการปกป้องหรือไม่ได้รับความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม ความพึงพอใจในประชาธิปไตยก็จะลดลง  

อีกสาเหตุหนึ่งคือ พฤติกรรมของนักการเมือง ความไม่พอใจมีแนวโน้มสูงขึ้นในประเทศที่ประชาชนรู้สึกว่าบรรดานักการเมืองที่ตัวเองเลือกเป็นตัวแทนไม่ยอมรับฟังเสียงของคนทั่วไป ขณะที่ในประเทศแถบสหภาพยุโรปนั้นประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพ ทัศนคติต่อสหภาพยุโรป และความนิยมในพรรคการเมืองฝั่งประชานิยม เป็นปัจจัยชี้วัดความพึงพอใจในประชาธิปไตยด้วย โดยประชาชนที่มองว่าสหภาพยุโรปเป็นองค์กรไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ต้องการให้ผู้นำของตัวเองอ้าแขนรับผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ล้วนไม่พึงพอใจประชาธิปไตยในประเทศตัวเอง

คนญี่ปุ่นพอใจประชาธิปไตยของประเทศตัวเองน้อยที่สุดในเอเชีย ดัชนีประชาธิปไตยของไทย ที่มา : EIU

ทั้งนี้ Pew ไม่ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนชาวไทย แต่จากดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของหน่วยบริการข้อมูลของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (EIU) ซึ่งวัดจากคำถาม 60 ข้อ แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม การทำหน้าที่ของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง ปรากฏว่านับตั้งแต่ปี 2008-2017 ที่การเมืองไทยผ่านมรสุมหลายครั้ง คะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยลดลงต่อเนื่องจาก 6.81 เหลือ 4.63 จากคะแนนเต็ม 10