posttoday

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้คว่ำกฎหมายห้ามทำแท้งที่ใช้มา66ปี

11 เมษายน 2562

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ มีมติ 7 ต่อ 2 ให้ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งภายในปี 2020 เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากเกาหลีใต้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมานานถึง 66 ปี แต่การทำแท้งหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไปยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามเดิม

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ มีมติ 7 ต่อ 2 ให้ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งภายในปี 2020 เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากเกาหลีใต้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมานานถึง 66 ปี แต่การทำแท้งหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไปยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามเดิม

ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงที่ทำแท้งอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านวอน หรือราว 55,812 บาท ส่วนแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำแท้งให้อาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ถึงจะมีทั้งโทษจำและโทษปรับชาวเกาหลีใต้ก็ยังเลือกยุติการตั้งครรภ์ตามความพึงพอใจของตัวเอง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสถาบันเพื่อกิจการสาธารณสุขและสังคมเกาหลี พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 20% ระบุว่าเคยทำแท้งแม้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ตาม ขณะที่ 75% ของผู้หญิงอายุระหว่าง 15-44 ปี มองว่ากฎหมายห้ามทำแท้งไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้ผู้หญิงฝ่ายเดียว

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้คว่ำกฎหมายห้ามทำแท้งที่ใช้มา66ปี การรวมตัวของฝ่ายต้านการทำแท้ง ภาพ : Jung Yeon-je / AFP

จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว มีการทำแท้ง 50,000 ราย แต่แพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเลขจริงๆ อาจจะสูงถึง 10 เท่า

ในปี 1953 ที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายนั้น ทางการห้ามการทำแท้งแทบจะในทุกกรณี ยกเว้นเฉพาะหญิงที่ถูกข่มขืน ตั้งครรภ์กับชายที่เป็นญาติใกล้ชิด หรือทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรม จนกระทั่งชาวไอร์แลนด์ลงประชามติคว่ำกฎหมายห้ามทำแท้งเมื่อปีที่แล้ว เสียงเรียกร้องให้มีการทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเกาหลีใต้ก็เริ่มดังขึ้นๆ มีการรวบรวมรายชื่อกว่า 235,000 รายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมาย

คำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นหลังจากนายแพทย์รายหนึ่งยื่นอุทธรณ์คดีที่ตัวเองถูกตั้งข้อหาดำเนินการทำแท้งเมื่อปี 2014 โดยอ้างว่ากฎหมายห้ามทำแท้งละเมิดสิทธิ์ในการมีความสุข ความเท่าเทียม

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้คว่ำกฎหมายห้ามทำแท้งที่ใช้มา66ปี ผู้ประท้วงถือป้ายสีเหลืองข้อความว่า “ยกเลิกโทษการทำแท้ง” ภาพ : Jung Yeon-je / AFP

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาด ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านการทำแท้งได้นัดรวมตัวกันแสดงจุดยืนในกรุงโซล โดยฝ่ายที่ต่อต้านให้เหตุผลว่า การทำแท้งก็คือการฆ่าตกรรม และทั้งผู้หญิงและทารกในครรภ์ควรได้รับการปกป้อง ส่วนฝ่ายต้านโต้ว่า ผู้ชายรอดจากการถูกลงโทษเพราะช่องว่างของกฎหมายเดิม ที่เอาผิดเฉพาะผู้หญิงกับแพทย์เท่านั้น อีกทั้งแพทย์ที่รับทำแท้งเถื่อนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ขั้นตอนการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ทันสมัย ทำให้เป็นอันตรายกับผู้หญิง หากการทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แพทย์ก็จะได้รับการฝึกอบรมการทำแท้งอย่างถูกวิธี