posttoday

รู้จักตัวตน "สงกรานต์" เป็นของใคร ของไทยหรือเพื่อนบ้าน?

10 เมษายน 2562

จากกรณีดราม่าเรื่องประเทศเพื่อนบ้านแย่งซีน ชวนชาวโลกมาเที่ยวงานสงกรานต์ในประเทศของพวกเขา แทนที่จะมาเที่ยวในไทย หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นของประเทศใดกันแน่ มีแค่ในไทย หรือว่าเพื่อนบ้านก็มีเช่นกัน?

จากกรณีดราม่าเรื่องประเทศเพื่อนบ้านแย่งซีน ชวนชาวโลกมาเที่ยวงานสงกรานต์ในประเทศของพวกเขา แทนที่จะมาเที่ยวในไทย หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นของประเทศใดกันแน่ มีแค่ในไทย หรือว่าเพื่อนบ้านก็มีเช่นกัน?

ประเพณีสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และมีชื่อเรียกคล้ายคลึงกัน ในประเทศอินเดีย ภูมิภาคต่างๆ เรียกเทศกาลนี้ด้วยชื่อที่หลากหลาย เช่น ในรัฐอัสสัมเรียกว่า Bohag Bihu รัฐโอฑิศาเรียกว่า Pana Sankranti รัฐอรุณาจัลประเทศเรียกว่า Sangken ที่เนปาลเรียกว่า Bisket Jatra บังกลาเทศเรียกว่า Pahela Baishakh

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการฉลองเทศกาลสงกรานต์กันในไทย พม่า กัมพูชา ลาว และเขตวัฒนธรรมไท หรือไต ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน

รู้จักตัวตน "สงกรานต์" เป็นของใคร ของไทยหรือเพื่อนบ้าน? บรรยากาศการสรงน้ำพระพุทธรูปในกัมพูชา ภาพจาก wikipedia.org

ที่กัมพูชาเรียกวันขึ้นปีใหม่กลางเดือน เม.ย. ว่า “บอญจูลฉนำทเมย” หรือ “บุญวันเข้าปีใหม่” แบ่งออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียก “วันมหาสงกรานต์” วันที่สอง หรือวันเนาของไทย ในกัมพูชาเรียกว่า “วิระวันบัต” จะมีการทำบุญทำทานแก่คนยากจน รวมถึงทำบุญกุศลอุทิศแก่บรรพบุรุษ และวันที่สาม คือวันเถลิงศกเรียกว่า “ทไงเลืองสัก” จะมีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ นำพระพุทธรูปออกมาสรงน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นน้ำ สาดน้ำ และก่อเจดีย์ทรายในวัด โดยรวมแล้วคล้ายกับประเพณีปีใหม่ของคนไทย แต่ มักจัดกันระหว่างวันที่ 13 - 16 เมษายน

ส่วนที่ลาวเรียก “สงกรานต์” บ้าง “ปีใหม่ลาว” บ้างเหมือนกับที่ไทย แต่ที่เป็นไฮไลท์ของงานคือการแห่ “นางสังขาร” หรือนางสงกรานต์แห่งเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ สาวงามที่เป็นนางสังขารประจำปีเรียกได้ว่า คือสาวงามระดับชาติแห่งปีก็ไม่ผิดอะไรนัก

รู้จักตัวตน "สงกรานต์" เป็นของใคร ของไทยหรือเพื่อนบ้าน? ภาพวาดเทศกาลตะจานโดยศิลปินสมัยพุกาม จาก wikipedia.org

ชาวพม่าเรียกวันสงกรานต์ว่า “ตะจาน” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า สงกรานต์นั่นเอง โดยในภาษาพม่าเขียนว่า sangkran หรือ สังกราน แต่จะออกเสียงว่า ตะจาน (หากเป็นชาวพม่าในรัฐยะไข่ หรืออาระกัน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าจะเรียกเทศกาลเหมือนไทยนั่นคือ “สงกรานต์”)

เทศกาลตะจาน แบ่งเป็น 2 วัน คือวันอะโจเน เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะถือศีลอุโบสถ หรือศีล 8 พากันทำบุญทำกุศล และสรงน้ำพระ มีการใช้ดอกประดู่ หรือดอกสงกรานต์ มาประดับประดา วันรุ่งขึ้นเรียกว่าวันอะจะเน จะเป็นการเล่นสาดน้ำกัน สมัยก่อนจะใช้ยอดหว้าอ่อนชุบใส่น้ำปรุงแล้วแตะเบา ๆ บนไหล่ของผู้ที่จะเล่นสาดน้ำ แต่ปัจจุบันมีการสาดน้ำอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกที

เทศกาลตะจานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เดิมทีทางการพม่าได้กำหนดระหว่างวันที่ 12 เมษายน จนถึง 16 เมษายน เป็นวันหยุดราชการ แต่ปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการไปจนถึงวันที่ 22 เมษายน