posttoday

รู้ไว้ก่อนอ้าแขนรับยุค5จี ความเร็วที่มาพร้อมความเสี่ยง

12 เมษายน 2562

5จี ยังมาพร้อมกับภัยทางไซเบอร์อีกด้วย เพราะยิ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์มากเท่าไร ความเสี่ยงจากการถูกแฮกก็ยิ่งมีมากขึ้นและอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น

5จี ยังมาพร้อมกับภัยทางไซเบอร์อีกด้วย เพราะยิ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์มากเท่าไร ความเสี่ยงจากการถูกแฮกก็ยิ่งมีมากขึ้นและอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น

เทคโนโลยี 5จี ( 5G) ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ล่าสุด เกาหลีใต้ตัดหน้าสหรัฐ เตรียมใช้เครือข่าย5จีครั้งแรกของโลก ขณะที่บางประเทศถึงขั้นซุ่มลงทุนพัฒนาและทดลองใช้บ้างแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ข้อดีของ 5จี ก็คือ มีความเร็วกว่าเทคโนโลยี 4จี ประมาณ 10-20 เท่า (โดยเฉลี่ย 4จี มีความเร็วอยู่ที่ 45 เมกะบิตต่อวินาที) แค่เพียงความเร็วของ 4จี ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ความเร็วระดับ 5จีคงสร้างความสั่นสะเทือนอีกไม่น้อย

แต่ถึงอย่างนั้นการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูงสุดนี้ไม่ได้ทำให้การอัพโหลดดาวน์โหลดข้อมูลรวดเร็วขึ้น หรือช่วยให้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านกลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะจากการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ 5จี ยังมาพร้อมกับภัยทางไซเบอร์อีกด้วย เพราะยิ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์มากเท่าไร ความเสี่ยงจากการถูกแฮกก็ยิ่งมีมากขึ้นและอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น (GSMA สมาคมผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก คาดว่าจะมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoTs ทั่วโลกมากกว่า 25,000 ล้านชิ้นในปี 2025)

เมื่อเร็วๆ นี้ Sophos ที่ให้บริการด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต เตือนว่า บอตส์ตระกูลที่โจมตีแล้วทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายของเป้าหมายใช้การไม่ได้ที่ชื่อว่า Chalubo พยายามเล่นงาน IoTs ด้วยการควบคุมอุปกรณ์ที่ไม่ได้ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้โจมตีเว็บไซต์ตามที่แฮกเกอร์ออกคำสั่งเพื่อเรียกค่าไถ่ในภายหลัง

รู้ไว้ก่อนอ้าแขนรับยุค5จี ความเร็วที่มาพร้อมความเสี่ยง ภาพ Photo by JUNG Yeon-Je / AFP

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการโทรคมนาคมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงตบเท้าออกมาเตือนถึงภัยที่จะมาพร้อมความเร็วปรู๊ดปร๊าดนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โคดี้ โบรเชียส ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย HackerOne มองว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ IoTs ยังพัฒนาไม่ดีพอ ดังนั้น ยิ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์มากขึ้นก็ยิ่งเปิดช่องให้แฮกเกอร์มากขึ้น และจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อเชื่อมต่อด้วย 5จี ทว่า สตีฟ บัค หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Evolved Intelligence บริษัทความปลอดภัยด้านโทรคมนาคม มองไปไกลถึงขั้นว่า 5จี จะเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้แฮกเกอร์หยุดเมืองทั้งเมืองได้

ด้าน อดัม แม็กเฮล กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์เทคโนโลยีของบริษัทไอที Cisco Systems เผยว่า นอกจากอุปกรณ์ IoTs จะสุ่มเสี่ยงต่อการโจมตีแล้ว เครือข่ายที่ให้บริการก็มีโอกาสถูกเล่นงานเช่นกัน เนื่องจาก 5จี นั้นเน้นที่ความรวดเร็วจึงต้องเข้าใกล้ผู้บริโภคให้มากที่สุด นั่นคือแทนที่จะมีเครือข่ายกลางเพียงเครือข่ายเดียวแล้วให้บริการทั้งประเทศ ผู้ให้บริการต้องกระจายเครือข่ายไปยังท้องถิ่นหลายๆ แห่งด้วย จึงเป็นการเพิ่มจุดเสี่ยงไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี โบรเชียส เชื่อว่า เราสามารถหยุดยั้งไม่ให้แฮกเกอร์โจมตีอุปกรณ์ IoTs ได้ 99% ด้วยการตั้งค่าป้องกันการเชื่อมต่อขาเข้าจากโปรแกรมหรือผู้ใช้ (Inbound Connection) และเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเซิร์ฟเวอร์กลางซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยผู้ผลิตอุปกรณ์ IoTs โดยที่สมาร์ทโฟนที่รองรับระบบ 5จี จะเป็นอาวุธสำคัญในการรับมือกับแฮกเกอร์ นั่นคือต้องมีการยืนยันตัวตน 2 ชั้น (ยูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดและรหัสใช้ครั้งเดียวที่ถูกส่งเข้าสมาร์ทโฟน)