posttoday

สะเทือนบัลลังก์ เอสโตเนียใช้ปัญญาประดิษฐ์ตัดสินคดีแทนผู้พิพากษา

28 มีนาคม 2562

ปัญญาประดิษฐ์กำลังจะทำนักกฎหมายตกงานเน็วๆ นี้หรือ?

ปัญญาประดิษฐ์กำลังจะทำนักกฎหมายตกงานเร็วๆ นี้หรือ?

ปัจจุบันความก้าวล้ำของปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแพทย์ การบริการ หรือแม้แต่ในวงการข่าว ซึ่งจีนเพิ่งเปิดตัวผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์คนแรกของโลกทำให้เก้าอี้ผู้ประกาศข่าวของหลายๆ คนสั่นสะเทือนไปเมื่อเร็วๆ นี้

ล่าสุดปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้และพัฒนามาถึงขั้นที่สามารถใช้เหตุผลวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักความถูกผิดเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีความต่างๆ แทนผู้พิพากษาได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เราเชื่อกันว่างานด้านกฎหมายเป็นงานที่ละเอียดอ่อน มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้

และเอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในยุโรปได้ลบล้างข้อจำกัดนั้นแล้ว โดยกระทรวงยุติธรรมของเอสโตเนียได้ร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ออกแบบหุ่นยนต์ผู้พิพากษาที่จะช่วยตัดสินคดีความเล็กๆ น้อยๆ ทุนทรัพย์ไม่เกิน  7,000 ยูโร หรือราว 250,634 บาท เพื่อสะสางคดีความคั่งค้างและเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้ตัดสินคดีความที่ซับซ้อนกว่า

ในช่วงทดลองนั้นผู้พิพากษาปัญญาประดิษฐ์จะพิจารณาคดีผิดสัญญาต่างๆ จากเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอัพโหลดเข้าระบบ เมื่อมีคำตัดสินออกมาแล้ว คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถยื่นอุทธรณ์กับผู้พิพากษาตัวจริงได้

หากพิจารณาจากระบบของรัฐบาลที่มีการวางระบบ e-Governance สร้างสังคมดิจิทัลไว้อย่างดีตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ฐานข้อมูลของประเทศทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยระบบที่เรียกว่า X-road เมื่อต้องการเอกสารต่างๆ ก็สามารถดึงมาใช้ได้ทันที ส่วนตัวประชาชนเองก็คุ้นเคยกับการทำธรุกรรมทางออนไลน์อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ การยื่นภาษีในระบบดิจิทัล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ตัดสินคดีน่าจะได้ผลดีในเอสโตเนีย

แม้เอสโตเนียจะไม่ใช่ประเทศแรกที่ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในวงการกฎหมาย แต่ถือเป็นประเทศแรกที่มอบอำนาจการตัดสินคดีให้ปัญญาประดิษฐ์ ก่อนหน้านี้ในบางรัฐของสหรัฐได้นำระบบอัลกอริทึมเข้ามาช่วยผู้พิพากษาพิจารณาโทษทางอาญา การให้ประกันตัว และวงเงินประกัน เพื่อลดอคติของผู้พิพากษาอเมริกันที่มักจะลงโทษคนผิวดำหนักกว่าคนผิวขาว แต่ก็ไม่ถึงกับให้ชี้เป็นชี้ตายเสียทีเดียว

แล้วปัญญาประดิษฐ์ตัดสินคดีได้แม่นยำแค่ไหน? เมื่อปีที่แล้วที่สหรัฐจัดการแข่งขันตรวจสอบสัญญาทางกฎหมายระหว่างทนายความระดับหัวกะทิจากทั่วประเทศ 5 คน กับซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ปรากฏว่าความแม่นยำของปัญญาประดิษฐ์อยู่ที่ 94% ส่วนของนักกฎหมายอยู่ที่ 85% ด้านความรวดเร็วในการอ่านเอกสารปัญญาประดิษฐ์ก็ทำได้เร็วกว่าที่ 26 วินาที ส่วนมนุษย์อ่านเร็วที่สุด 51 นาที ช้าที่สุด 156 นาที

อย่างไรก็ดี แม้ปัญญาประดิษฐ์จะยังไม่เข้ามาแทนที่นักกฎหมายในเร็วๆ นี้ ทั้งในต่างประเทศและในบ้านเรา แต่ผลการแข่งขันที่สหรัฐข้างต้นก็เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าความก้าวล้ำของเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในวงการกฎหมายอย่างไร