posttoday

ปลุก "คนรุ่นใหม่" งานยากเลือกตั้งอินโดฯ

04 กุมภาพันธ์ 2562

อินโดฯกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในวันที่17เม.ย.นี้ และงานยากก็คือการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายการเมืองให้ออกมาใช้สิทธิ

อินโดฯกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในวันที่17เม.ย.นี้ และงานยากก็คือการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายการเมืองให้ออกมาใช้สิทธิ

******************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

อินโดนีเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ซึ่งทั่วโลกต่างจับตามองการโคจรกลับมาดวลกันอีกครั้งระหว่าง “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และคู่ท้าชิงเก่าครั้งการเลือกตั้งปี 2014 อย่าง “ปราโบโว ซูเบียนโต” ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่เริ่มเจอหลากปัญหารุมเร้า

นอกเหนือจากการต้องเร่งหาเสียงชูนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจที่เริ่มไม่สู้ดีนัก ทั้ง วิโดโดและซูเบียนโตต่างพุ่งความสนใจไปที่อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญอย่าง “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ที่มีจำนวนมหาศาลจนอาจสามารถพลิกขั้วผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ โดยคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียอายุ 17-35 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนมากถึง 79 ล้านคน หรือราว 42% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ ระบุว่า ศึกในครั้งนี้อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียเริ่มที่จะเบื่อหน่ายกับการเมือง และอาจจะไม่ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แม้ว่าในอดีตคนรุ่นใหม่จะเคยพลิกโฉมการเมืองอินโดนีเซีย จากเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 1998 เพื่อขับไล่เผด็จการ ซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่คดโกงมากที่สุดในโลกมาแล้วก็ตาม

จากข้อมูลของ เปอร์ลูเดม องค์กรด้านการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยอินโดนีเซีย ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในอินโดนีเซียนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในการเลือกตั้งปี 2009 มีผู้ไม่ไปใช้สิทธิราว 48.3 ล้านคน ขณะที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 จำนวนผู้ไม่ไปลงคะแนนเสียงได้พุ่งขึ้นเป็น 58.9 ล้านคน ซึ่งกลุ่มที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในปีนี้มีแนวโน้มว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

เหตุผลหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียหันหนีเรื่องการเมืองนั้น เป็นเพราะคนกลุ่มนี้มองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่ากับปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนตัวที่ต้องเผชิญ เช่น เรื่องการจ้างงาน โดยจากสำรวจของสถาบัน ไออาร์เอ็น รีเสิร์ช และ อัลวารา รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ พบว่า มีเพียง 23.4% ของคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียเท่านั้นที่สนใจการเมือง อีกทั้งคนกลุ่มนี้มักจะมีความจงรักภักดีกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า

“ฉันจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะมันคือหน้าที่ แต่ฉันไม่เชื่อว่าคะแนนเสียงของฉันจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองที่แสนจะเฉื่อยชาของอินโดนีเซียได้” วัยรุ่นอินโดนีเซียคนหนึ่งกล่าวกับ วอยซ์ ออฟ อเมริกา

ปลุก "คนรุ่นใหม่" งานยากเลือกตั้งอินโดฯ

เร่งซื้อใจคนรุ่นใหม่

โรมาฮูมุซีย์ ประธานพรรคสหพัฒนาการ (พีพีพี) ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ วิโดโดตั้งเป้าดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ให้ได้อย่างน้อย 45% ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งเป็นที่ปรึกษาของวิโดโดบอกกับรอยเตอร์สว่า กลยุทธ์ที่จะใช้มัดใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาเทคะแนนเสียง คือ การเน้นเรื่องกีฬา ดนตรี และภาพยนตร์

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่ระบุว่า วิโดโดได้ใช้วัฒนธรรมร่วมสมัย (Pop Culture) เข้ามาปรับใช้กับการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมเทศกาลดนตรีบ่อยครั้ง การสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ อย่างเสื้อยืดและรองเท้าผ้าใบ เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ดูเป็นนักการเมืองที่เข้าถึงง่าย ซึ่งกลยุทธ์นี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะกับการเปิดตัวเอเชียนเกมส์ครั้งที่ผ่านมาที่วิโดโดมาพร้อมกับลุคประธานาธิบดีสุดปราดเปรียวขี่มอเตอร์ไซค์ลุยฝ่าการจราจรที่แน่นขนัดเข้ามาในงาน

ขณะที่ซูเบียนโตได้ใช้โลกออนไลน์ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วยโหมกระพือสโลแกน #GantiPresiden2019 หรือ #เปลี่ยนประธานาธิบดีในปี2019 เพื่อเน้นย้ำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงภาวะกดดันทางเศรษฐกิจที่อินโดนีเซียต้องเผชิญภายใต้การปกครองของวิโดโด เช่น การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ที่มากถึง 9% แล้วในปีนี้

แม้ว่าทั้งสองพรรคจะแข่งกันเพื่อเร่งชิงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในตอนนี้ คือ ทั้งคู่ต่างเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียเห็นถึงพลังเสียงของตัวเอง และออกมาใช้สิทธิในการกำหนดชะตาอนาคตของประเทศอย่างเต็มที่

“อย่านอนหลับทับสิทธิ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ผิดจะทำให้อีก 5 ปีต่อจากนี้ เต็มไปด้วยความเสียใจ”ริดวาน คามิล ผู้ว่าการรัฐชวาตะวันตก กล่าว