posttoday

"คุมปิ้งย่าง" หนึ่งในมาตรการ แก้ควันพิษของจีน

03 กุมภาพันธ์ 2562

จีนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษมาเป็นเวลาร่วมสิบปี และหนึ่งในมาตรการแก้ไขในช่วงวิกฤตก็คือการ "คุมร้านปิ้งย่าง"

จีนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษมาเป็นเวลาร่วมสิบปี และหนึ่งในมาตรการแก้ไขในช่วงวิกฤตก็คือการ "คุมร้านปิ้งย่าง"

*******************

โดย...ภากร กัทชลี เจ้าของเพจอ้ายจง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเตี้ยน เมืองซีอาน มณฑลส่านซี

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปลายเดือน ม.ค. 2562 กรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ของประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาฝุ่น-มลพิษ จนมีข่าวออกมาถึงมาตรการรับมือและส่งเสริมการใช้เตาลดมลพิษในการประกอบการปิ้งย่างก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐออกมาแก้ปัญหา จนกลายเป็นกระแสออนไลน์

ผู้เขียนเลยอยากจะเล่าให้ผู้อ่านได้ทราบว่า จีนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษมาเป็นเวลาร่วมสิบปี แต่จนถึงเวลานี้สถานการณ์กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนโยบายเร่งด่วน แผน 5 ปี ของจีน ซึ่งจีนก็มีมาตรการ “คุมร้านปิ้งย่าง” เพื่อแก้ไขช่วงวิกฤตควันพิษเช่นกัน โดยการปิ้งย่างนอกอาคาร ร้านปิ้งย่างข้างทางต่างๆ ล้วนโดนสั่งห้าม

ในระบบการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควันของจีนในระบบ 4 ระดับ มีระบุเอาไว้ว่า หากแจ้งเตือนในระดับสีส้ม (รองสูงสุด AQI > 400) การปิ้งย่าง ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ห้าม แต่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ของจีน ว่าทางการคิดอะไรอยู่ ปิ้งย่างมันมีควันก็จริง แต่มันก็คงไม่แย่ไปมากกว่าเดิมมากนัก ทำไมไม่คิดมาตรการที่สามารถไปแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ หรือจะเป็นวิธีเฉพาะหน้าวิธีอื่นก็ได้ที่มันพอจะดีกว่าการห้ามปิ้งย่าง

แม้ประชาชนจะไม่ค่อยพอใจนัก แต่การห้ามปิ้งย่างก็ยังคงเป็นมาตรการที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน อย่างร้านปิ้งย่างเกาหลีก็โดนมาตรการนี้เช่นกัน ซึ่งทุกร้านจะเปลี่ยนมาเป็นเตาแก๊ส แทนใช้เตาถ่าน และต้องนั่งกินอยู่ภายในร้านแบบ Indoor เท่านั้น ไม่ให้ควันออกไปข้างนอก

นอกจากห้ามปิ้งย่างนอกอาคาร จีนยังมีมาตรการอื่นอีกที่ใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ ส่วนจะมีวิธีอะไรบ้าง มาอ่านกันต่อเลย แต่ก่อนอื่น ขออนุญาตอธิบายการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควันในจีน ซึ่งที่นี่จะแจ้งเตือน 4 ระดับ ได้แก่ สีแดง ระดับสูงสุด อากาศแย่ขั้นวิกฤต AQI >450, สีส้ม AQI > 400, สีเหลือง AQI > 300, สีน้ำเงิน AQI > 200

ประเทศจีนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็นมาก หลายพื้นที่อุณหภูมิติดลบ บางแห่ง -20 -30 ก็มี -43 องศาเซลเซียสก็มีมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนจีนในช่วงฤดูหนาวคือ “ฮีตเตอร์ระบบทำความร้อน” โดยตามเมืองทางเหนือของจีน ทางการจีนจะปล่อยความร้อนผ่านทางระบบทำความร้อนสาธารณะไปยังเครื่องทำความร้อนที่ติดตั้งตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งปล่อยออกมาเป็นน้ำร้อนผ่านทางท่อ คล้ายท่อประปา

สำหรับเมืองไหน หรือบ้านเรือนไหนไม่มีระบบทำความร้อนสาธารณะ และทนหนาวไม่ไหวก็ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาปล่อยความร้อนให้กับเราแทน เช่น ฮีตเตอร์แบบใช้พลังงานไฟฟ้า การเปิดเครื่องปรับอากาศแบบโหมดทำความร้อน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาว

อีกทั้งเบื้องหลังของพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนในจีนก็ล้วนมาจากถ่านหินทั้งนั้น ซึ่งพี่จีนของเราเป็นประเทศที่มีการใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลก

แม้จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีแผนปรับลดใช้ถ่านหินไปแล้วแต่สุดท้ายก็กลับมาใช้ในปริมาณมากอยู่ดี เพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน ก็ยังต้องพึ่งพาถ่านหิน ซึ่งการใช้ถ่านหิน จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดปัญหาควันพิษในจีน ยิ่งเข้าช่วงฤดูหนาว ยิ่งใช้เยอะ เพื่อนำมาทำไฟฟ้าและความร้อน

เมื่อการใช้ถ่านหินในปริมาณมาก ก่อให้เกิดหมอกควัน ทางการจีนก็แก้ด้วยการลดปริมาณการใช้ครับ ลดอย่างไร? เมื่อเริ่มมีปัญหาหมอกควันเกิดขึ้น ทางจีนจะสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองที่มีปัญหาหมอกควันเป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่ว่าปิดหมด เพราะในบางอุตสาหกรรมก็ยังจำเป็นในการผลิตสินค้า-ผลผลิตต่างๆ

แต่สำหรับการผลิตไฟฟ้าและความร้อนก็ยังต้องใช้ถ่านหิน นอกจากนี้ ทางการจีนยังมีการสั่งปิดเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 แห่ง ในปี 2016 โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหมืองขนาดเล็กและเหมืองที่เปิดมานาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ค่อยๆ ลดการใช้ถ่านหินของจีนลง

"คุมปิ้งย่าง" หนึ่งในมาตรการ แก้ควันพิษของจีน

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมจีนไม่ใช้พลังงานถ่านหินสะอาดแบบที่มีการรณรงค์ในเมืองไทย ความเป็นจริงก็คือ จีนเองก็มีการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาดอยู่หลายแห่ง แต่กำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอ แม้จีนจะเคยพยายามสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่าหลายแห่งทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ในหลายเมือง เพราะมิเช่นนั้น พลังงานไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ (โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่าสามารถทำได้ง่ายกว่าแบบอื่น)

อีกประเด็นคือ พลังงานถ่านหินสะอาดก็ยังคงเป็นที่กังขาในจีน ในหมู่นักวิชาการ ตลอดจนนักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายว่า มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่? สะอาดจริงหรือ?

ทั้งนี้ ยังเคยมีการถกเถียงกันว่า ทำไมจีนไม่ใช้พลังงานอื่นทดแทนถ่านหิน ในความเป็นจริงแล้วจีนก็พยายามจะใช้พลังงานอื่นทดแทน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต เช่น ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ก็มีการถกเถียงกันต่ออีกว่า ถ้าสร้างเขื่อนจำนวนมากในจีน ระบบนิเวศจะเสีย และอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ถึงขนาดที่นักวิชาการจีนบางคนบอกว่า ระหว่างอากาศแย่กับแผ่นดินไหว จะเลือกอะไรล่ะพี่น้องชาวจีนทั้งหลาย

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็มีการสร้างและใช้งานกันในจีน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี โดยจีนมีแผนที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากถึง 40 แห่ง ภายในปี 2020 โดยที่ในปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว 30 แห่ง กำลังก่อสร้างอีก 22 แห่ง

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทำฝนเทียมมากที่สุด โดยมีการนำฝนเทียมมาแก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศ และสำหรับการแก้ปัญหาหมอกควัน-มลพิษทางอากาศ จีนก็เคยนำมาใช้เพื่อเคลียร์ท้องฟ้าให้ใส และล้างหมอกควันออกไป อย่างเช่นในช่วงก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ 2008 ณ กรุงปักกิ่งจะเริ่มขึ้น “แต่” ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ในทันที เพราะต้องรอสภาวะที่เหมาะสมในการทำฝนเทียม และแม้จะมีความชื้นสูง แต่แทบไม่มีลมเลย

นี่คือสาเหตุว่าทำไมเหมือนเป็นผ้าห่มหมอกควัน คลุมเมืองต่างๆ ในโซนเหนือของจีน ดังนั้นต้องรอลม เพื่อให้เกิดลมพัดหมอกควันไปด้วย

อย่างที่เล่าไปแล้วว่า ควันจากโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน เป็นหนึ่งในสาเหตุของควันพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ได้แก่ การใช้รถใช้ถนน ดังนั้นถ้าเวลาที่มีการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควัน ตั้งแต่ระดับสีเหลืองเป็นต้นไป (AQI > 300) ทางการจีนมักจะนำนโยบายเลขตัวสุดท้ายของทะเบียนรถ เลขคู่-เลขคี่ มาใช้ เพื่อจำกัดปริมาณรถให้ลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ปล่อยให้ควันเพิ่มขึ้นไปมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม จีนยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษวิธีอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อาทิ

- สั่งหยุดการทำงานในเขตก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเขตก่อสร้างที่ไม่ได้รับมาตรการในการควบคุมปริมาณฝุ่น

- ห้ามจุดประทัด พลุ

- ในกรุงปักกิ่ง ซีอาน และเมืองที่ประสบปัญหา ต่างงัดมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาใช้ เช่น ปืนใหญ่สู้หมอกควัน เพื่อพ่นน้ำหรือสารเคมีเหลว เพื่อให้จับฝุ่นละอองในอากาศและตกลงมาบนพื้น นอกจากพ่นโดยใช้ปืนใหญ่แบบนี้แล้ว ยังใช้โดรนอีกด้วย

- ใช้เครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในเมืองปักกิ่ง เพื่อฟอกอากาศในเขตเมือง โดยทดลองใช้งานเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เมื่อมีการใช้งานจริง

นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาของทางการจีน ประชาชนเองก็มีการช่วยเหลือตนเองในสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การสวมหน้ากากเพื่อป้องกันหมอกควัน การใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้านเรือน (แต่ราคาแพงทีเดียว) หรือแม้กระทั่งการซื้อขายอากาศบริสุทธิ์แบบบรรจุขวดก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น หากจะยืมโมเดลการแก้ปัญหาหมอกควันของจีน หรือมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน หน่วยงานภาครัฐของไทยอาจจะมีวิธีในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่กำลังประสบอยู่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นก็เป็นได้