posttoday

อาเซียนมาแรง! ลงทุนสตาร์ทอัพทุบสถิติ

28 มกราคม 2562

เปิดรายงานการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี2018 พบสูงสุดทุบสถิติที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดฯลงทุนมากสุด "ไทย"อันดับ5

เปิดรายงานการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี2018 พบสูงสุดทุบสถิติที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดฯลงทุนมากสุด "ไทย"อันดับ5

*************************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

บริษัท เวนเจอร์ แคปิตอล ในสิงคโปร์ เปิดเผยรายงานล่าสุดเรื่อง “การลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2018” ว่า การลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีของอาเซียนในปีที่ผ่านมา สูงสุดทุบสถิติที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์

แรงหนุนที่ทำให้มูลค่าลงทุนด้านเทคโนโลยีในอาเซียนทุบสถิติใหม่นั้น ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการลงทุนก้อนยักษ์ในกลุ่ม “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.16 หมื่นล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของการลงทุนทั้งหมด นำโดย 1.แกร็บ 3,000 ล้านดอลลาร์ 2.ลาซาด้า 2,000 ล้านดอลลาร์ 3.โกเจ็ก 1,500 ล้านดอลลาร์ 4.โทโกพีเดีย 1,100 ล้านดอลลาร์ และ 5.ซี กรุ๊ป 575 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุด้วยว่าการลงทุนกับสตาร์ทอัพในขั้น Late-stage หรือบริษัทที่ผ่านบททดสอบระยะขั้นต้นมาแล้วและกำลังเติบโตเพื่อมุ่งไปสู่ยูนิคอร์นตัวต่อไป กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ พร็อพเพอร์ตี้กูรู ที่ระดมทุนได้ 180 ล้านดอลลาร์ นินจาแวน 85 ล้านดอลลาร์ และคารูเซลล์ 85 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนในขั้น Series B หรือขั้นต่อเนื่องหลังผ่านการลงทุนในขั้นต้น Seed Funding และ Series A มาแล้ว ก็ทยอยปรับตัวขึ้นมาเช่นกัน

สำหรับประเภทของบริษัทสตาร์ทอัพในอาเซียนที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ บริษัทแบบ Multi-Vertical หรือมีธุรกิจแบบผสมผสานตั้งแต่อี-คอมเมิร์ซ ไปจนถึงบริการออนดีมานด์ โดยมีการลงทุนมากถึง 4,795 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) ตามมาด้วยสตาร์ทอัพในกลุ่มค้าปลีก ที่มีการลงทุน 1,790 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.66 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งมีการลงทุน 414 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท)

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศที่มีการลงทุนในสตาร์ทอัพมากที่สุดในอาเซียน ในสัดส่วน 75% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วย สิงคโปร์ ที่ 16% และ มาเลเซีย 4% สำหรับเวียดนามนั้นมาแรงจนสามารถแซงหน้าไทยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 4 ได้ โดยมีสัดส่วนที่ 3% ขณะที่ไทยตกไปอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วน 2% ลดลงจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 7% และอันดับ 6 คือ ฟิลิปปินส์ที่มีสัดส่วนทั้งหมด 0.8%

“สำหรับในปีหน้า เราคิดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมองหาตลาดที่มีศักยภาพเติบโตต่อไปนอกเหนือจากจีนและอินเดีย” รายงานของเซนโท ระบุ

ทั้งนี้ แม้ว่าในปีที่ผ่านมา “อินโดนีเซีย” จะครองสัดส่วนการลงทุนสตาร์ทอัพในอาเซียนสูงที่สุดถึง 75% และปัจจุบันยังมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอยู่ถึง 4 แห่งด้วยกัน จากข้อมูลของซีบี อินไซต์ส ได้แก่ โกเจ็ก โทโกพีเดีย ทราเวลโลกา และบูกาลาปัก และยังมีอีกรายที่กำลังอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อจ่อขึ้นเป็นสตาร์ทอัพพันล้าน แต่รัฐบาลจาการ์ตาเองกลับไม่ได้นอนใจอยู่แค่ความสำเร็จนี้ และตั้งเป้าเชิงรุกขึ้นอีก

รัฐมนตรีการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย รูดีอันทารา ได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระหว่างนอกรอบการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ครั้งล่าสุดว่า อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายว่าจะปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นอีก “20 แห่ง” ให้ได้ภายในปี 2025 นี้

รูดีอันทารา กล่าวว่า อินโดนีเซียต้องการปั้นให้ตัวเองเป็น “ขุมพลังด้านดิจิทัลในอาเซียน” ด้วยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เนื่องจากในปัจจุบันมีธุรกิจเพียงไม่กี่แห่งที่สร้างขึ้นมาแล้วสามารถอยู่รอดได้ตลอดรอดฝั่ง

“เราจะทำตัวเป็นผู้ควบคุมให้น้อยลง และมุ่งมั่นทำงานในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น” รูดีอันทารา กล่าว