posttoday

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

27 มกราคม 2562

หลายประเทศลงทุนเพื่อควบคุมฝุ่นละอองให้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าต้นทุนหลายเท่า การบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่เข้มงวดกว่า หรือการตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นจะให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า

เรื่อง  : พริบพันดาว 

ภาพ : เอพี / เอเอฟพี / อีพีเอ / รอยเตอร์ส


องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ระบุว่า พีเอ็ม (PM-Particulate Matter) คือฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ โดยฝุ่นละอองประเภทนี้หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจำนวนมากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่าสารพิษอื่นๆ พีเอ็ม

โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร หรือพีเอ็ม10 (ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร) และพีเอ็ม2.5 (ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร) ซึ่งแทรกเข้าไปในปอดส่วนลึก ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคทางเดินหายใจ รวมถึงมะเร็งปอด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือแม้การได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเพียงเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองคอ มีอาการผื่นคันที่ผิวหนัง แน่นอก หรือกระตุ้นอาการแพ้ของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดดัชนีที่ใช้วัดมลพิษทางอากาศที่เป็นมาตรฐานสากล คือ ค่าเอคิวไอ (AQI-Air Quality Index) ซึ่งเป็นตัวเลขเพื่อใช้สื่อสารกับประชาชนให้รับทราบว่ามีมลพิษในอากาศมากเพียงใด เพื่อที่ประชาชนจะได้มีความระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตหรือ
คำแนะนำต่างๆ โดยเมื่อเอคิวไอมีค่าสูงขึ้น สัดส่วนประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจะยิ่งสูงขึ้น โดยจะแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 6 ระดับตามค่าเอคิวไอ คือ

(1) 0-50 ดี (Good)

(2) 51-100 ปานกลาง (Moderate)

(3) 101-150 กลุ่มผู้อ่อนแอจะได้รับผลกระทบ (Unhealthy for sensitive group)

(4) 151-200 ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy)

(5) 201-300 ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก (Very Unhealthy)

(6) 301-500 เป็นอันตรายมาก (Hazardous)

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าประชากร 9 ใน 10 คนทั่วโลกสูดอากาศไม่บริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าอากาศสกปรกจะไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนโดยตรง แต่นักวิชาการคาดว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอายุสั้นลง เนื่องจากป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับปอด

ภาพผู้หญิงอินเดียกับลูกเดินท่ามกลางหมอกควันหนาแน่นใกล้กับประตูอินเดียในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย แสดงให้เห็นว่าระหว่างฤดูหนาว บรรดาประเทศในเอเชียได้ถูกหมอกและกลุ่มควันพิษปกคลุมถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งมีสภาพอากาศซึ่งเลวร้ายที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว จากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอพีเมื่อกลางเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมาสมทบของคลื่นความหนาว (Cold Wave) ทำให้คุณภาพยิ่งแย่ลง

ในทางภาคเหนือของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ตามเส้นทางรถไฟ บวกกับสภาพการจราจรที่แออัด ช่วยเพิ่มหมอกควันฝุ่นที่เต็มไปด้วยมลพิษให้หนาแน่นเข้าไปอีก จากการประเมินพบว่า แต่ละปีมีชาวอินเดียเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษในอากาศสูงถึง 1.1 ล้านคน อีกทั้งจากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลกพบว่าอินเดียติดถึงใน 13 เมืองจากทั้งหมด 20 เมืองทั่วโลกที่มีค่ามลพิษสูงที่สุด

ไม่ต่างกัน ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านชิดใกล้อินเดีย นักเรียนต่างผจญกับหมอกควันและฝุ่นที่เต็มไปด้วยมลพิษระหว่างเดินทางไปโรงเรียนในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งความรุนแรงปรากฏชัดที่ละฮอร์ เมืองทางตะวันออกของประเทศ รวมทั้งอีกหลายเมืองที่อยู่ทางตะวันออก เหนือ และใต้ ต้องเจอกับมลพิษทางอากาศอย่างหนักเกินกว่าค่าความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

ข้ามไปฝั่งยุโรปตะวันออก กรุงสโกเปีย เมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนียก็กำลังเผชิญกับหมอกควันฝุ่นมลพิษทางอากาศเช่นกัน ที่นี่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอากาศเป็นพิษมากที่สุดของยุโรปในปี 2561 จากองค์การอนามัยโลก ซึ่งที่นี่แตกต่างจากที่อื่นเนื่องจากกลุ่มควันจะเกิดจากการเผาฟืนใช้เป็นความร้อนในบ้านเพื่อให้ความอบอุ่น

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

อีกที่คือ กรุงซาราเยโว เมืองหลวงของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งปกคลุมด้วยหมอกควันฝุ่นมลพิษที่หนาแน่น ซึ่งเกิดจากสภาพการจราจรและที่พักอาศัยซึ่งก่อมลพิษในอากาศ ด้วยค่า 328 เอคิวไอ และถูกจัดเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดเมืองหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ หมอกควันฝุ่นมลพิษในอากาศยังมีในเมืองต่างๆ ของประเทศรัสเซีย เบลารุส เซอร์เบีย เป็นต้น

กลับมาที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย การยกระดับเตือนภัยสู่ขั้นสูงสุด สีแดง คือให้หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง เพราะค่าฝุ่นละอองขนาด พีเอ็ม 2.5 สูงเกิน 300 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร

เมื่อหยิบข้อมูลของโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอ่าน พบว่า ประเทศไทยก็ทำการวิจัยและศึกษาในเรื่องนี้มาดีพอสมควร

รายงานและผลการดำเนินงานของ กรมควบคุมมลพิษ เอกสารการนำเสนอของ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา และ ดร.สาวิตรี การีเวทย์รวมถึงข้อคิดเห็นจากที่ประชุมหลายครั้งในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งผู้ดำเนินการศึกษาได้ทำการทบทวนและสรุปเป็นแนวทางดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รวมถึงมีการศึกษาข้อมูลเอกสารทางวิชาการจากต่างประเทศในเรื่องผลการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและความสำเร็จในการดำเนินงานที่ได้รับจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐเอเมริกา (USA Environmental Protection Agency-US.EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับประเทศ หรือระดับรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพของมวลมนุษย์และปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ อากาศ น้ำ และแผ่นดิน ในการนำตัวอย่างดังกล่าวมาเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

บทสรุปในรายงานของโครงการนี้บอกว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการจัดการคุณภาพอากาศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถลดระดับมลพิษชนิดต่างๆ ให้อยู่ภายในหรือใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน แม้ว่าแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทต่างๆ โดยเฉพาะยานพาหนะได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว

แต่ในช่วงหลายปีหลังระดับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยทั้งปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. เนื่องจากแหล่งกำเนิดมลพิษเพิ่มมากขึ้น และมีความสลับซับซ้อนในการควบคุมฝุ่นละเอียดพีเอ็ม 2.5

การศึกษาพบว่ามีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 ประเภท คือ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาชีวมวลและฝุ่นทุตยภูมิอันเกิดจากปฏิกิริยารวมตัวกันของไอเสียรถยนต์ และแอมโมเนียจากปุ๋ยที่ใช้ในเกษตรกรรม

ฝุ่นละเอียดพีเอ็ม 2.5 มีอันตรายมากกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฝุ่นจากไอเสียรถดีเซลถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งองค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่มีระดับฝุ่นละอองขั้นต่ำใดๆ ที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกคาดคะเนว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศในปี 2556 ประมาณ 5 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท

ดังนั้น การลงทุนเพื่อควบคุมมลพิษ พีเอ็ม 2.5 จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

การดำเนินงานในต่างประเทศมากมายหลายประเทศ พบว่าในทุกประเทศการลงทุนเพื่อควบคุมฝุ่นละอองให้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าต้นทุนหลายเท่า การบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่เข้มงวดกว่า หรือการตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นจะให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า

มองโลกมองไทยผ่านหมอกควันฝุ่นมลพิษ

การนำมาตรการที่เข้มงวดกว่ามาใช้ และเร่งรัดใช้มาตรการให้เร็วขึ้นจะให้ผลประโยชน์ที่สูงขึ้น ในสหรัฐอเมริกา การบังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ปี 2533 (The 1990 Clean Air Act Amendment) มีค่ากลางของอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30 เท่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามมาตรการจะสูงมากถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) แต่ผลประโยชน์ที่ได้สูงกว่าหลายเท่าตัว และประมาณว่ามีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 60 ล้านล้านบาท)

การปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรฐานไอเสียรถยนต์เป็นระดับ Euro 3 และ Euro 4 ในปัจจุบันให้ผลประโยชน์ตอบแทนทั้งในการลดระดับฝุ่นละอองและการสูญเสียด้านสุขภาพอนามัยคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

หากมีการนำมาตรฐาน Euro 5 และ Euro 6 มาใช้โดยเร่งด่วน ย่อมจะยังผลประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยที่คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และช่วยลดระดับฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงวิกฤต

หากแต่ในช่วงวิกฤตจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเป็นพิเศษเพื่อลดระดับฝุ่นละออง ได้แก่ การกำหนดเขตปลอดมลพิษ การลดแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน และเข้มงวดการเผาในที่โล่ง

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศโดยองค์รวมจะต้องมีมาตรการทั้งในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการจัดทำมาตรฐานคุณภาพอากาศการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และการประเมินความคุ้มทุนของแผนจัดการคุณภาพอากาศ การควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการแบบบูรณาการการขนส่ง ผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์

เพราะฉะนั้น โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นการเบิกร่องไปสู่ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ศ. ...” เพื่อการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต