posttoday

วิวาทะทั่วโลก "ชุดนักเรียนหรือชุดไปรเวต"

10 มกราคม 2562

การถกเถียงเรื่องการใส่ชุดนักเรียนหรือชุดลำลองไปโรงเรียนมีอยู่ทั่วโลกมาเป็นเวลานาน ไม่ได้มีแค่ในไทยเท่านั้น

การถกเถียงเรื่องการใส่ชุดนักเรียนหรือชุดลำลองไปโรงเรียนมีอยู่ทั่วโลกมาเป็นเวลานาน ไม่ได้มีแค่ในไทยเท่านั้น

การถกเถียงกันเรื่องการใส่ชุดนักเรียน หรือจะใส่ชุดลำลอง (ชุดไปรเวต) ไม่ได้มีแค่ในไทยเท่านั้น ปัญหานี้มีอยู่ทั่วโลก และเป็นที่ถกเถียงกันมานาน แน่นอนว่าจะเป็นการถกเถียงกันเรื่องความจำเป็นของเครื่องแบบ และความสะดวกของชุดแบบอื่นในประเทศที่บังคับให้นักเรียนต้องแต่งกายเหมือนกัน แม้แต่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการใส่ชุดไปรเวตกันเป็นปกติ ก็ยังไม่วายมีคนเสนอให้ใส่เครื่องแบบนักเรียน ดังนั้น วิวาทะนี้จึงมีความยอกย้อนและซับซ้อนมาก เราจะนำเสนอเป็นรายประเทศที่มีปัญหาในทำนองนี้

ฝรั่งเศส

ไม่มีกฎบังคับให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบ แต่มีผู้สนับสนุนให้นักเรียนใส่เครื่องแบบอยู่บางคน เช่น ฮาเวียร์ ดาร์กอส อดีต รมว.ศึกษาธิการ ระหว่างปี 2007-2009 ที่เสนอให้นักเรียนต้องใส่เครื่องแบบ โดยเขากล่าวผ่าน ladepeche.fr ว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าขุ่นเคือง (การใส่เครื่องแบบ) การทำเช่นนี้จะช่วยกำจัดความแตกต่างทางสถานะหรือความมั่งคั่งที่เห็นได้ชัดออกไป นี่ถือเป็นปัจจัยในการผสานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

เยอรมนี

ไม่มีขนบธรรมเนียมเรื่องแต่งเครื่องแบบในโรงเรียน แต่ในระยะหลังเกิดวิวาทะเรื่องการใช้เครื่องแบบสลายความต่าง เริ่มจากปี 2006 มีนักเรียนหญิงมุสลิมแต่งชุดคลุมทั้งตัวมาเรียน ทำให้ถูกมองว่ามีประเด็นแอบแฝงทางการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นถึงกับเผยว่า อาจแก้ปัญหาด้วยการบังคับให้เด็กใส่เครื่องแบบทั่วประเทศ เพื่อที่จะลดความขัดแย้งระหว่างนักเรียนต่างศาสนา หลายปึผ่านไป วิวาทะเรื่องควรหรือไม่ควรใช้เครื่องแบบ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเยอรมนี

วิวาทะทั่วโลก "ชุดนักเรียนหรือชุดไปรเวต"

นิวซีแลนด์

โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายหลายแห่งมีเครื่องแบบสำหรับนักเรียน แต่ในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 เป็นต้นมา มีการผ่อนปรนระเบียบและปรับปรุงเครื่องแบบให้มีราคาถูกและเข้ากับสมัยมากขึ้น บางแห่งอนุญาตให้นักเรียนหญิงใส่กางเกงได้ ส่วนนักเรียนชายสามารถใส่กางเกงขาสั้นได้ เมื่อปี 2017 มีผลสำรวจพบว่า ครอบครัวถึง 1 ใน 5 ต้องเสียสละค่าใช้จ่ายจำเป็นสำหรับครอบครัว เพื่อนำมาใช้ซื้อเครื่องแบบให้ลูกหลาน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้พ่อแม่เผชิญกับความเครียดในช่วงเปิดเทอม

บุรุนดี-กานา

ประเทศในแอฟริกาทั้งสองแห่งนี้มีสถานะยากจน และเช่นเดียวกับประเทศในแอฟริกาเกือบทุกแห่ง มีกฎบังคับให้นักเรียนต้องใส่เครื่องแบบ แต่เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ในบุรุนดีจึงเกิดข้อโต้เถียงเรื่องผลกระทบจากข้อบังคับที่เข้มงวดจนกระทบกับอัตราการเข้าเรียนของเด็กๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพราะต้นทุนเครื่องแบบที่แพง ทำให้นักเรียนไม่เงินซื้อ และทำให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ส่วนประเทศกานา แก้ปัญหาโดยการที่รัฐแจกเครื่องแบบฟรีให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการแจกชุดนักเรียนให้กับผู้ยากไร้มาตั้งแต่ปี 2010

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com