posttoday

"เจ้าสาวแม่โขง" ธุรกิจบาปกู้หน้าหนุ่มจีน

16 ธันวาคม 2561

หญิงสาวจากครอบครัวยากไร้ใน 3 ประเทศแห่งลุ่มน้ำโขงถูก "นายหน้า"พาไปให้กับชายโสชาวจีนที่จ่ายเงินซื้อพวกเธอมาแแต่งงาน

หญิงสาวจากครอบครัวยากไร้ใน 3 ประเทศแห่งลุ่มน้ำโขงถูก "นายหน้า"พาไปให้กับชายโสชาวจีนที่จ่ายเงินซื้อพวกเธอมาแแต่งงาน

***************************

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

การแต่งงานซึ่งจัดขึ้นห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนกว่าหลายพันกิโลเมตร กับเจ้าบ่าวแปลกหน้าพูดภาษาที่ไม่รู้จัก คือชะตากรรมที่หญิงสาวหลายหมื่นคนแห่งลุ่มน้ำโขงต้องเผชิญ เมื่อพวกเธอตัดสินใจก้าวเท้าออกมาจากครอบครัว

ในทุกๆ ปี หญิงสาวและเด็กสาวจำนวนมากจากกัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา ต้องเดินทางยาวไกลไปแต่งงานกับชายชาวจีน ที่ไม่สามารถหาคู่ครองเชื้อชาติเดียวกันได้ อันเป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ชายจีนมากกว่าผู้หญิงถึง 33 ล้านคน

สำหรับ “นารี” (นามสมมติ) หญิงสาวชาวกัมพูชาคนหนึ่ง ความยากจนข้นแค้นของครอบครัว การไม่ได้รับการศึกษา และความคาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเล็กๆ หลังคามุงสังกะสีนอกกรุงพนมเปญไปแต่งงานกับชายชาวจีนคนหนึ่งตั้งแต่อายุ 17 ปี

“ครอบครัวของฉันยากจนมาก ฉันเลยคิดว่าการไปแต่งงานกับชายชาวจีนจะช่วยครอบครัวได้” นารี กล่าวกับเอเอฟพี

การแต่งงานดังกล่าวดำเนินการผ่าน “นายหน้า” ผู้ทำหน้าที่จัดหาหญิงสาวต่างชาติไปแต่งงานกับชายชาวจีน ด้วยการไปติดต่อกับครอบครัวผู้หญิงโดยตรง ซึ่งญาติของหญิงสาวจะได้รับเงินค่าสินสอดราว 1,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2-9.8 หมื่นบาท) จากเงินที่ฝ่ายชาย “จ่าย” เพื่อหาภรรยาหนึ่งคนจำนวนทั้งหมด 1-1.5 หมื่นดอลลาร์ (ราว 3.28-4.92 แสนบาท)

หลังตกลงกับครอบครัวฝ่ายหญิงแล้ว ว่าที่เจ้าสาวจะถูกพามาไว้ที่ “โกดัง” ชั่วคราว ขณะที่นายหน้าเผยแพร่รูปถ่ายหญิงสาวคนดังกล่าวไปตามวีแชต หรือเว็บไซต์หาคู่ต่างๆ เพื่อหาว่าที่เจ้าบ่าว โดยหากผู้หญิงยิ่งสวยและยิ่งสาวมากเท่าไร ค่าตัวก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

ในช่วงแรกหลังการแต่งงาน นารีอยู่ในจีนอย่างถูกกฎหมายเพราะมีวีซ่านักท่องเที่ยว แต่หลังจากเธอมีลูกแล้ว และไม่ได้ต่อวีซ่าครอบครัวฝ่ายชายก็พรากลูกชายเธอไปพร้อมกีดกันไม่ให้เธอเจอลูก รวมถึงบีบให้ยอมหย่าร้าง จนนารีต้องออกจากบ้านสามีมาหางานค่าแรงต่ำทำ ซึ่งในเวลาต่อมา สถานะการอาศัยในจีนอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เธอถูกคุมตัวไปอยู่ในสถานกักกันเป็นเวลา 1 ปีกว่าจะได้รับการปล่อยตัว ระหว่างที่อยู่ในสถานกักกัน นารีได้พบหญิงสาวชาวกัมพูชาและเวียดนามอีกจำนวนมาก ซึ่งพานพบเรื่องราวคล้ายคลึงกัน

ถึงชีวิตหลังแต่งงานจะไม่สวยงามอย่างที่คิดฝันไว้ แต่นารีนับว่าโชคดีกว่าหญิงสาวลุ่มน้ำโขงอีกหลายคน ที่เดินทางไปทำงานในจีนแต่ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือบางรายถูกลักพาตัวมาจากหมู่บ้านติดพรมแดนจีน เพื่อนำตัวไปขายให้ชายชาวจีน หรือโดนขายไปเป็นโสเภณีซ้ำแล้วซ้ำเล่า

"เจ้าสาวแม่โขง" ธุรกิจบาปกู้หน้าหนุ่มจีน

ภรรยาซื้อหาได้

ในจีนนั้น ชายโสดถูกเรียกขานในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามว่า “กิ่งไม้ไร้ใบ” เพราะชายผู้ไม่สามารถหาคู่ครองแต่งงานสืบสายวงศ์ตระกูล เปรียบได้กับกิ่งไม้ไร้ใบที่ไม่อาจแตกหน่อขยายกิ่งก้านสาขาออกไปได้ นับเป็นความน่าอับอายอย่างมากของครอบครัว โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ผู้คนส่วนใหญ่ไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด

“คนวัยผม หาภรรยาชาวจีนได้ยากแล้ว” โจว ซินเสิ่น ชายชาวจีนวัย 41 ปี ในมณฑลเจียงซู กล่าว ขณะที่เขาเหลือเวลาน้อยลงทุกทีในการหาภรรยา

ด้าน เจียง ฉวนเป่า อาจารย์จากสถาบันศึกษาด้านการพัฒนาและประชากรของมหาวิทยาลัยเจียวตง เปิดเผยว่า แรงกดดันทางวัฒนธรรมและทางจิตวิทยา บีบให้ชายชาวจีนต้องหาภรรยาให้ได้ ขณะที่ผู้หญิงในเมืองเริ่มไม่สนใจแต่งงาน แล้วหันไปทุ่มเทให้การเรียน การทำงาน และสนุกกับการใช้ชีวิตโสดมากกว่า

ชายโสดชาวจีนส่วนใหญ่นั้นมักจะมีอายุมากแล้ว ผ่านการหย่าร้าง ทุพพลภาพ หรือไม่ก็ยากจนมากจนไม่สามารถจ่าย “ค่าเจ้าสาว” หรือค่าสินสอดของขวัญให้ภรรยาชาวจีนได้ ซึ่งในปัจจุบันค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 2.2-2.9 หมื่นดอลลาร์ (ราว 7.22-9.51 แสนบาท)

โจว ซึ่งเป็นหนึ่งในชายโสดจีนอายุมากและผ่านการหย่าร้าง จึงเลือก “จ่ายเงิน” เพื่อหาหญิงสาวจากลุ่มน้ำโขง ที่ส่วนใหญ่ครอบครัวยากจนและต้องการเงินมาเป็นภรรยา โดยตัวเขาจ่ายเงินไปเกือบ 2 หมื่นดอลลาร์ (ราว 6.56 แสนบาท) และได้ภรรยาเป็นสาวเวียดนามวัย 26 ปี

เมื่อเห็นว่าความต้องการภรรยาสาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โจวจึงเปิดบริการจัดหาคู่เน้นจับคู่สาวเวียดนามอายุราว 20-35 ปี ให้ชายโสดจีน โดยคิดค่าบริการฝ่ายชายครั้งละประมาณ 1.74 หมื่นดอลลาร์ (ราว 5.71 แสนบาท) ซึ่งโจวกล่าวว่า ธุรกิจดังกล่าวทำกำไรอย่างงามให้เขา แต่ปฏิเสธเปิดเผยรายได้

เอเอฟพีรายงานว่า “ค่าตัว” หญิงสาวลุ่มน้ำโขงนั้นอยู่ที่ไม่เกิน 2 หมื่นดอลลาร์ โดยค่าตัวต่ำสุดที่เก็บข้อมูลมาอยู่ที่เพียง 8,700 ดอลลาร์ (ราว 2.85 แสนบาท) ซึ่งน้อยกว่าค่าสินสอดสำหรับแต่งงานกับสาวจีนอยู่มาก

บ่มขบวนการค้ามนุษย์

แม้จีนปรับนโยบายลูกคนเดียว ไปเป็นนโยบายลูกสองคนเมื่อปี 2016 แต่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าผู้หญิงจะมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชาย เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวส่งผลให้จำนวนเพศชายและเพศหญิงไม่สมดุลกันอย่างหนัก จากการที่ครอบครัวจีนเลือกทำแท้งเมื่อรู้ว่าจะมีลูกสาว เพราะให้ความสำคัญกับการมีลูกชายมากกว่า

สถานการณ์ข้างต้นจึงยิ่งส่งผลให้ความต้องการหาสาวต่างชาติมาแต่งงานเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดขบวนการค้ามนุษย์ข้ามแดน ทั้งการส่งนายหน้าไปซื้อหญิงสาวจากครอบครัวมาโดยตรง และการลักพาตัวผู้หญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งไปแต่งงานกับชายชาวจีน

แม้ภายใต้กฎหมายจีนนั้น การลักพาตัวและการขายผู้หญิงและเด็กมีโทษจำคุก 5-10 ปี แต่การบังคับใช้กฎหมายจัดการกับขบวนการดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในหลายพื้นที่ ทำให้ยังไม่สามารถปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด

“ธุรกิจดังกล่าวทำกำไรสูงมาก อีกทั้งยังไม่มีมาตรการหยุดยั้งการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เมื่อมีทั้งดีมานด์และเงิน ก็มีโอกาสในการทำกำไร” มีมี่ วู่ จากแปซิฟิก ลิงค์ ฟาวน์เดชั่น องค์กรป้องกันการค้ามนุษย์ในเวียดนาม กล่าว

สำหรับในกัมพูชานั้น แม้โทษของกฎหมายค้ามนุษย์อยู่ที่จำคุกสูงสุด 15 ปี หากถูกจับได้ และจะได้รับโทษนานกว่านั้น หากเหยื่อยังเป็นผู้เยาว์ แต่การตัดสินลงโทษจากกรณีดังกล่าวแทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเอเอฟพีรายงานอ้างอัยการรายหนึ่งที่ไม่ระบุนาม ซึ่งรับผิดชอบคดีค้ามนุษย์โดยเฉพาะว่า นายหน้าจ่ายเงินค่าปิดปากให้ครอบครัวเหยื่อเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5,000 ดอลลาร์ ส่วนครอบครัวผู้หญิงเองก็ต้องการเงินดังกล่าวและหวาดกลัวอิทธิพลของกลุ่มเครือข่ายค้ามนุษย์

หนทางการยุติวงจร “เจ้าสาวแม่โขง” คงยังอีกยาวไกล ท่ามกลางดีมานด์หญิงสาวต่างชาติที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของชายชาวจีน แต่มาตรการปราบปรามการค้ามนุษย์กลับยังไม่รุนแรงมากพอ ขณะที่สภาพยากจนของครอบครัวบีบให้หญิงสาวลุ่มน้ำโขงจำนวนมากยังก้าวเข้าสู่วงจรดังกล่าวต่อไป

ภาพ เอเอฟพี