posttoday

นักวิทย์จีนเผยกำลังจะมีทารกตัดต่อยีนส์รายที่สอง

28 พฤศจิกายน 2561

นักวิทย์จีนผู้อ้างตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์สำเร็จเผย กำลังจะมีทารกตัดต่อพันธุกรรมรายที่สอง

นักวิทย์จีนผู้อ้างตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์สำเร็จเผย กำลังจะมีทารกตัดต่อพันธุกรรมรายที่สอง

ศาสตราจารย์เฮ่อ เจี้ยนขุย นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนผู้อ้างความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมทารกแรกเกิดสองราย ที่เพิ่งลืมตาดูโลกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เพื่อให้เด็กทารกทั้งคู่มีความต้านทานเชื้อเอชไอวี โดยใช้เทคนิค CRISPR-Cas9 ทำลายยีน CCR5 ซึ่งเป็นประตูที่เชื้อเอชไอวีเข้าทำลายเซลล์นั้น

ล่าสุดวันนี้ (28 พ.ย.) ศ. เจี้ยนขุย ได้กล่าวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังจากที่เขาอ้างความสำเร็จดังกล่าวซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงในทางจริยธรรม ที่งานประชุมยอดจีโนม ที่ฮ่องกง โดยระบุว่า เขารู้สึกภาคภูมิใจ ในการเปลี่ยนแปลงยีนของทารกสาวฝาแฝดไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี

 

นักวิทย์จีนเผยกำลังจะมีทารกตัดต่อยีนส์รายที่สอง

 

ศ.เจี้ยนขุย ระบุว่า ทารกฝาแฝดหญิงที่ชื่อว่า ลูลู่ และ นานะ ทั้งสองนั้นขณะนี้ปลอดภัยดีและมีสุขภาพแข็งแรง ขณะเดียวกันเขาจะทำการติดตามทารกทั้งสองนี้ไปอีกเป็นเวลา 18 ปีข้างหน้าจนถึงที่เด็กหญิงทั้งสองเข้าสู่วัยรุ่น

นอกจากนี้ ศ.เจี้ยนขุย ยังระบุอีกว่า ขณะนี้กำลังมีการตั้งครรภ์ทารกตัดต่อพันธุกรรมอีกหนึ่งราย ส่วนบิดาและมารดาของทารกแฝดนั้น ศ.เจี้ยนขุยอ้างว่า ทั้งสองมีส่วนรวมและเข้าใจต่อวิธีการตัดต่อยีนดังกล่าวเป็นอย่างดี พวกเขาจบการศึกษาดี และอาสาเข้ามาร่วมการทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากอาสามัครทั้งสองนี้แล้ว ศ.เจี้ยนขุยยังอ้างอีกว่า มีบรรดาอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีอีกว่า 200 รายขอเข้าร่วมโครงการของเขา

 

นักวิทย์จีนเผยกำลังจะมีทารกตัดต่อยีนส์รายที่สอง

 

ศ.เจี้ยนขุย ระบุว่า ตัวบิดาของเด็กทารกนั้น ติดเชื้อเอชไอวี แต่เชื้อถูกระงับด้วยการทานยาส่งผลให้มีเชื้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มารดาไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ ตัวอสุจิของบิดาจึงต้องผ่านกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวเพื่อไม่ให้ทารกที่เกิดมามีการติดเชื้อ สุดท้าย ศ.เจี้ยนขุย ได้จบการปาถกฐาต่อผู้ร่วมงานว่า หากเขามีลูก เขาก็จะทำการตัดต่อพันธุกรรมกับลูกของเขาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของศ.เจี้ยนขุย ครั้งนี้ กลับก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมและการออกแบบทารกจากคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ที่เคยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์

 

นักวิทย์จีนเผยกำลังจะมีทารกตัดต่อยีนส์รายที่สอง

 

 

ศ.เหอ เจี้ยนขุย เป็นใคร

ชื่อของ ศ. เจี้ยนขุย เป็นที่รู้จักทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากที่เขาโพสต์คลิปวิดิโอ อ้างความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยหลักฐานอย่างชัดเจนถึงความสำเร็จของเขา

ศ. เจี้ยนขุย ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ เข้ามาเป็นอาจารย์ และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นออฟไซเอินซ์แอนด์เทคโนโลยี ในนครเซินเจิ้น แต่ทว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ทราบเรื่องงานวิจัยตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวของศ.เจี้ยนขุย และทางมหาวิทยาลัยไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้แต่อย่างใด

 

ทางการจีนสั่งตรวจสอบ

ทันทีที่มีรายงานข่าวการอ้างความสำเร็จดังกล่าว ทางด้านคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ออกแถลงการณ์ระบุว่า “กล่องอาถรรพ์แพนดอราถูกเปิดขึ้นแล้ว แต่เรายังมีโอกาสปิดมันก่อนจะสายเกินการณ์” รวมถึงวิจารณ์งานวิจัยของศ.เจี้ยนขุยว่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมชาติคนอื่นพลอยเสียหายไปด้วย และเรียกร้องให้ทางการจีนตรวจสอบคำกล่าวอ้างของเขาข้อถกเถียงด้านจริยธรรม

ด้าน เกร็ก นีลี จาก ม.ซิดนีย์ ของออสเตรเลีย เผยว่า การตัดต่อยีน CCR5 อาจทำให้มนุษย์อ่อนแอลงและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย และเชื้อโรคธรรมดาอย่างเชื้อหวัดอาจจะวิวัฒนาการตัวเองให้รุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้วมีการศึกษาพบว่า การตัดต่อยีนด้วยเทคนิค CRISPR มีแนวโน้มทำให้ยีนเกิดการกลายพันธุ์ อันจะนำมาซึ่งการทำลายยีนของมนุษย์ทั้งระบบ

 

ตัดต่อพันธุกรรมจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีผลลัพธ์ที่แน่ชัด ของการตัดต่อพันธุกรรมในมนุษย์ อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงในเชิงมนุษยธรรมและกฎหมาย แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดว่า ยีนที่ถูกตัดต่อจะผสมปนเปกับยีนของมนุษย์ปกติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดภาวะขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม บทความในวารสารการวิจัยทางคลินิกและจริยธรรม ระบุว่า การที่โรคอย่างหนึ่งหายไป อาจทำให้โรคอย่างอื่นผุดขึ้นมาแทน นักวิทยาศาสตร์บางรายยังเตือนว่า หากยีนที่ถูกตัดต่อหลุดลอดไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาจมีความเสี่ยงอย่างอื่นตามมาอีก ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วยความระมัดระวังและต้องมีกฎเกณฑ์ชัดเจน