posttoday

ทุน"ญี่ปุ่น"เข้าอาเซียน ส่งคนทำงานมาไทยสูงสุดในภูมิภาค

05 พฤศจิกายน 2561

เอกชนญี่ปุ่นแห่เข้าลงทุนอาเซียน หนีตลาดจีนต้นทุนแรงงานแพง-แข่งขันเดือด

เอกชนญี่ปุ่นแห่เข้าลงทุนอาเซียน หนีตลาดจีนต้นทุนแรงงานแพง-แข่งขันเดือด

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดทั้งเม็ดเงินลงทุนและพนักงานชาวญี่ปุ่นเข้ามาได้มากที่สุด และแซงหน้าจีนไปแล้ว ในผลสำรวจช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2012-2017 โดยการประกอบธุรกิจในจีนเผชิญต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากผู้เล่นท้องถิ่นที่ดุเดือด ในขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปี 2017 มีพนักงานชาวญี่ปุ่น 8.3 หมื่นคน ทำงานอยู่ในอาเซียน หรือเพิ่มขึ้น 32% จากปี 2012 ซึ่งทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีพนักงานญี่ปุ่นสูงที่สุดเหนือภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงอเมริกาเหนือ และยุโรป ขณะที่พนักงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในจีนลดลง 16% มาอยู่ที่ 7 หมื่นคน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพนักงานชาวญี่ปุ่นทำงานอยู่ 3.3 หมื่นคน ในปี 2017 เพิ่มขึ้น 33% จากปี 2012 และสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยสิงคโปร์ ซึ่งมีพนักงานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 28% มาอยู่ที่ 1.3 หมื่นคน

อย่างไรก็ดี ต้นทุนแรงงานที่แพงขึ้นในไทยและมาเลเซีย ส่งผลให้เอกชนญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งแรงงานเป็นหลักย้ายไปชาติอื่นในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะเมียนมา ซึ่งมีพนักงานญี่ปุ่นทั้งหมด 1,200 คน ในปี 2017 เพิ่มขึ้น 7 เท่า จากปี 2012

นอกจากนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า เงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในอาเซียน ในปี 2017 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.22 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2012 ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนลดลง 30% มาอยู่ที่ 9,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.15 แสนล้านบาท) เนื่องจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจอื่นๆ ของอาเซียนนอกเหนือจากภาคการผลิตมากขึ้น เช่น โตโยต้าที่ลงทุนในแกร็บ ผู้ให้บริการเรียกรถรับส่งรายใหญ่ ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ด้านธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) เปิดเผยว่า ธนาคารญี่ปุ่นปล่อยกู้ให้กับโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นวงเงินรวม 8.51 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.79 ล้านล้านบาท) ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค.ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 45% ส่วนการปล่อยกู้ในจีนลดลง 7% เหลือ 3.07 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1 ล้านล้านบาท)

ภาพ เอเอฟพี