posttoday

กว่าจะเป็น "ไอดอล" ที่แฟนกรี๊ด ค่ายเพลงต้องจ่ายไปเท่าไร?

09 ตุลาคม 2561

เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินเกาหลีไม่ได้ง่าย เพราะนอกจากตัวเด็กที่ต้องฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นแล้ว ต้นทุนที่ค่ายเพลงต้องจ่ายก็ไม่ใช่เงินน้อยๆเลยทีเดียว

เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินเกาหลีไม่ได้ง่าย เพราะนอกจากตัวเด็กที่ต้องฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นแล้ว ต้นทุนที่ค่ายเพลงต้องจ่ายก็ไม่ใช่เงินน้อยๆเลยทีเดียว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไอดอลหรือศิลปินเกาหลีได้รับกระแสความนิยมอย่างแพร่หลาย เริ่มตั้งแต่ยุคแรกๆอย่างวง TVXQ (ดงบังชินกิ), Super Junior หรือเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอตอย่าง Girls’ Generation จนถึงยุคปัจจุบันวงเคป๊อปน้องใหม่มากมาย อาทิ BTS, EXO, GOT7, TWICE, BLACK PINK และวงอื่นๆ ก็ยังเรียกกระแสจากแฟนเพลงได้อย่างไม่มีตก แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า เบื้องหลังไอดอลที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ค่ายเพลงหรือต้นสังกัดของพวกเขาต้องทุ่มทุนสำหรับการปั้นไอดอลมากน้อยเท่าไร?

จากข้อมูลที่เว็บไซต์ naver ของเกาหลีเคยเปิดเผย การจะปั้นเด็กฝึกให้ขึ้นมาเป็นไอดอลสักวงหนึ่งนั้น ต้นสังกัดของพวกเขาต้องใช้เงินกว่า 2‚000 ล้านวอน (ราว 60 ล้านบาท) แม้ว่าทางค่ายพยายามจะจำกัดค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม โดยค่าใช้จ่ายตรงนี้รวมถึงตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กฝึกผ่านการออดิชั่นเข้ามา และจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในหอพักของทางค่ายร่วมกับเด็กฝึกทุกคนเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกซ้อม โดยจำนวนเทรนนีของแต่ละค่ายก็จะแตกต่างกันออกไป อย่าง SM Entertainment ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน ก็จะสามารถฝึกเด็กได้ถึง 20-30 คนในเวลาเดียวกัน ขณะที่ค่ายเล็กๆ อาจจะเทรนได้เพียง 5 คนเท่านั้น

ข้อมูลล่าสุดของ JYP Entertainment เกี่ยวค่าใช้จ่ายในการปั้นศิลปินกลุ่มใหม่ หากพวกเขาต้องการจะเดบิวท์เด็ก 5 คน ระยะเวลาฝึก 3 ปี จะต้องใช้งบราว 700-900 ล้านวอน (ราว 20-26 ล้านบาท) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายการทำอัลบั้ม 27 ล้านวอน (ราว 800‚000 บาท) เอ็มวีเพลงเต็ม 150 ล้านวอน (ราว 4.4 ล้านบาท) การถ่ายทำคอนเซ็ปต์อัลบั้ม 20 ล้านวอน (ราว 600‚000 บาท) ค่าใช้จ่ายในการโปรโมทในรายการเพลง 500 ล้านวอน (ราว 145 ล้านบาท) ซึ่งแบ่งออกเป็น ค่าออกแบบท่าเต้น 50 ล้านวอน (ราว 1.4 ล้านบาท) ค่าแดนเซอร์สำรอง 100 ล้านวอน (ราว 3 ล้านบาท) เสื้อผ้าที่ใช้สำหรับการโปรโมท 6 สัปดาห์ 170 ล้านวอน (ราว 5 ล้านบาท) เมกอัพ 10 ล้านวอน (ราว 300‚000 บาท) รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด 150 ล้านวอน (ราว 4.4 ล้านบาท) และเบ็ดเตล็ดอีก 2 ล้านวอน (ราว 60‚000 บาท)

แต่หากว่าภายใน 2-3 ปี ไอดอลกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทก็อาจก่อหนี้ให้บริษัทราว 1‚000 ล้านวอน หรือราว 29 ล้านบาท

สำหรับการเทรนเด็กใหม่ ค่ายจะต้องใช้เวลากว่า 1-6 เดือน หรือมากกว่านั้น โดยระหว่างนี้จะมีทั้งการฝึกซ้อมร้องเพลง เต้น ศัลยกรรมปรับรูปลักษณ์ ซึ่งค่ายจะออกทุนให้และเรียกเก็บภายหลังในตอนที่ทำรายได้ได้แล้ว หากเป็นเด็กที่มาจากต่างชาติก็จะต้องเรียนภาษาเกาหลีด้วย

อย่างค่าย JYP ก็จะมีการจัดตารางการฝึกซ้อมที่เข้มข้น โดยเด็กฝึกจะต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการฝึกซ้อม นอกจากนั้น จะถูกควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยและกฎข้อห้าม ไม่ว่าจะเป็นห้ามมีแฟน ห้ามหนีเที่ยว หรือดื่มเหล้า เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของตัวศิลปินและค่าย และถ้าเด็กคนไหนไม่มีการพัฒนาทางความสามารถ หรือพัฒนาได้ช้ากว่าคนอื่น ก็มีสิทธิ์ถูกปลดออกจากการเป็นเด็กฝึกได้ และในการเป็นเด็กฝึกไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้เดบิวท์เป็นไอดอล เพราะฉะนั้น ในช่วงนี้หากไม่มีความอดทนและมุ่งมั่นมากพอก็อาจจะถอดใจระหว่างทางได้ง่ายๆ

กว่าจะเป็น "ไอดอล" ที่แฟนกรี๊ด ค่ายเพลงต้องจ่ายไปเท่าไร? EXO

เมื่อผ่านช่วงเวลาของการเป็นเด็กฝึกและได้รับคัดเลือกให้เดบิวท์ ก็เรียกว่าเป็นความสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว แต่อีกนัยหนึ่งนี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ไอดอลจะต้องช่วงชิงความนิยมและสร้างกระแสให้เป็นที่น่าจดจำมากที่สุด โดยขั้นตอนนี้การโปรโมทเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งถ้าได้เดบิวท์กับค่ายที่มีทุนสูงก็จะยิ่งได้เปรียบ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าค่ายเล็กๆ จะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป หากพวกเขามีการวางคอนเซ็ปต์ของวงและแนวเพลงที่ถูกใจคนฟังหรือผู้คนส่วนใหญ่ ก็จะได้รับความสนใจไม่แพ้วงที่มาจากค่ายใหญ่ๆ เลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในยุคนี้เลยก็คือ บอยแบนด์วงดังอย่าง BTS ที่มาจากค่ายเล็กๆ อย่าง Big Hit Entertainment ซึ่งตอนนี้กลายเป็นวงบอยแบนด์เกาหลีใต้อันดับต้นๆที่ดังเป็นพลุแตกในฝั่งตะวันตกอย่างมาก

ส่วนการแบ่งรายได้ของศิลปินกับค่ายเพลง แต่ละค่ายก็มีสัญญาที่แตกต่างกัน เว็บไซต์ kpopkfans ได้เปิดเผยข้อมูลการแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ระหว่างศิลปินกับค่ายเพลง โดยยกตัวอย่าง 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ SM Entertainment, YG Entertainment และ JYP Entertainment โดยค่ายแรก SM การแบ่งรายได้แยกเป็น ยอดขายอัลบั้ม ซิงเกิลเพลง โฟโต้บุ๊ค และอื่นๆ ค่ายจะได้ส่วนแบ่ง 95% ศิลปิน 5% ยอดขายอัลบั้มรีแพ็คเกจ ค่าย 90% ศิลปิน 10% อีเว้นท์ ค่าย 60% ศิลปิน 40% และงานในต่างประเทศ ค่าย 30% ศิลปิน 70%

ส่วนอีกสองค่ายอย่าง YG และ JYP มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ที่ศิลปินได้รับรายได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว โดย YG แบ่งสัดส่วนออกเป็น ยอดขายอัลบั้ม ซิงเกิลเพลง โฟโต้บุ๊ค และอื่นๆ ค่าย 30% ศิลปิน 70 % ยอดขายอัลบั้มรีแพ็คเกจ ค่าย 30% ศิลปิน 70% อีเว้นท์ ค่าย 40% ศิลปิน 60% และงานในต่างประเทศ ค่าย 50% ศิลปิน 50%

ส่วน JYP แบ่งเป็น ยอดขาย ค่าย 50% ศิลปิน 50% ยอดอัลบั้มรีแพ็คเกจ ค่าย 50% ศิลปิน 50% อีเว้นท์ ค่าย 60% ศิลปิน 40% และงานในต่างประเทศ ค่าย 50% ศิลปิน 50%

กว่าจะเป็น "ไอดอล" ที่แฟนกรี๊ด ค่ายเพลงต้องจ่ายไปเท่าไร? BTS

จะเห็นได้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินเกาหลีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เรียกว่าต้องเกิดจากความพร้อมของทั้งตัวไอดอลเองและการซัพพอร์ตจากต้นสังกัด เคป๊อปเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและทำกำไรอย่างมหาศาล ไม่แปลกที่บริษัทค่ายเพลงต่างๆ จะกล้าทุ่มเงินทุนให้กับการปั้นไอดอลที่พวกเขาคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะมองเห็นกำไรมหาศาลที่จะได้กลับมานั่นเอง

ที่มา www.m2fnews.com

ภาพ เอเอฟพี